“เรืองไกร” ไล่เช็กบิล “หมัก” ชิมไปบ่นไปไม่เลิก แนบคำวินิจฉัยศาล รธน.ยื่น กกต. ย้ำชัดห้าม รมต.เป็นลูกจ้างในบริษัท
วันนี้ (18 มิ.ย.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ได้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) พร้อมแนบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ ที่ 4/2544 เพื่อให้ตรวจสอบการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี จากกรณีเป็นพิธีกรรายการชิมไปบ่นไปและรายการอื่น ของบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด อันเป็นบริษัทของเอกชนที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไร อันเข้าข่ายต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 ที่ห้ามไม่ให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์การที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไร
นายเรืองไกร กล่าวว่า ในคำวินิจฉัยหน้า 40 ระบุไว้ส่วนหนึ่งว่า “คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยวินิจฉัยเมื่อ ปี 2531 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เคยหารือแล้วว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ห้ามมิให้รัฐมนตรีดำรงตำแหน่งในธุรกิจเพื่อค้าหากำไรมีเจตนารมณ์จะไม่ให้รัฐมนตรีเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจเพื่อค้าหากำไรของเอกชน แม้จะไม่ห้ามไว้โดยตรงในรัฐธรรมนูญก็ตาม ดังนั้น รัฐมนตรีจะเป็นประธานกิตติมศักดิ์ไม่ได้”
ส.ว.สรรหา กล่าวว่า นอกจากนี้ในคำวินิจฉัยหน้า 45 ระบุไว้ส่วนหนึ่ง ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 208 ว่า “รัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งหรือกระทำการใดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 110 มิได้ เว้นแต่ตำแหน่งที่ต้องดำรงตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และจะดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใดก็มิได้ด้วย” ในคำวินิจฉัยหน้า 47 ระบุไว้ส่วนหนึ่งว่า “รัฐธรรมนูญ มีเจตนารมณ์ที่จะป้องกันมิให้มีการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนรวมกับประโยชน์ส่วนบุคคล โดยปิดกั้นมิให้รัฐมนตรีอาศัยอำนาจในตำแหน่งหน้าที่ไปแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน หรือเพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์ให้แก่ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ตนมีส่วนได้เสีย หรือที่ตนดำรงตำแหน่งอยู่ อีกทั้งเพื่อให้รัฐมนตรีอุทิศเวลาและทุ่มเทกำลังให้กับการบริหารราชการแผ่นดิน อันเป็นภารกิจสำคัญที่รัฐธรรมนูญมอบหมายอย่างเต็มที่
“ดังนั้นจะเห็นได้ว่า บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 267 กับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาตรา 208 มีข้อความว่า และจะดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใดก็มิได้ด้วย กำหนดไว้เหมือนกันกรณีนายสมัคร จึงสามารถนำแนวทางในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่4/2544 มาประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้งได้” นายเรืองไกร กล่าว