แฉเชื้อชั่วใน กกต.เร่งปั่นเอกสารการเป็นสมาชิกพรรคของ “กำนันชัยวัฒน์” หวังลดความน่าเชื่อถือของพยานคดีใบแดง “ยุทธ ตู้เย็น” จนต้องปลอมลายเซ็น เผยศาลไม่ได้สั่งให้ กกต.นำเอกสารดังกล่าวไปแสดง แต่ “คนใน” กกต.กลับรีบดำเนินการอย่างมีพิรุธ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากปรากฏข่าวการปลอมเอกสารยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองของนายชัยวัฒน์ ฉางข้าวคำ พยานปากสำคัญในคดีนายยงยุทธ ติยะไพรัช ส.ส.พรรคพลังประชาชนทุจริตการเลือกตั้ง โดย พ.ต.ท.กฤษณ์ ณ เชียงใหม่ เลขานุการคณะกรรมการที่ กกต.ตั้งขึ้นให้นำสำนวนคดีใบแดงนายยงยุทธขึ้นสู่ศาลฎีกา ได้อ้างกับนายสมชัย จึงประเสริฐ กกต.ฝ่ายสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัยว่า เหตุที่เขาต้องปลอมลายเซ็น พ.ต.อ.ณัฐศักดิ์ นานาวัน ผอ.สืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย 5 ในใบรับรองการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองของนายชัยวัฒน์ เพราะนายถวิล อินทรรักษา ตัวแทน กกต.ในการนำคดีใบแดงนายยงยุทธ ติยะไพรัชขึ้นสู่ศาลฎีกา ได้เร่งให้ตรวจสอบเรื่องความเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ของนายชัยวัฒน์อย่างรวดเร็วจนนำไปสู่การปลอมลายเซ็นนั้น แหล่งข่าวภายใน กกต.เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าวไม่เป็นความจริง
แหล่งข่าวระบุว่า ความจริงแล้ว นายถวิลก็แปลกใจว่าทำไมเอกสารระบุความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองของนายชัยวัฒน์ ที่ลงชื่อโดย พ.ต.อ.ณัฐศักดิ์ ถึงได้ไปโผล่ในมือทนายความของนายยงยุทธ โดยเอกสารชิ้นเดียวกันไม่มีอยู่ในสำนวนของ กกต. อย่างไรก็ตาม เมื่อได้สอบถามกับ พ.ต.อ.ณัฐศักดิ์ ก็ปรากฎข้อเท็จจริงว่า พ.ต.อ.ณัฐศักดิ์ปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้เซ็นเอกสารที่อยู่ในมือทนายความของนายยงยุทธ และยอมรับว่าในบรรดาเอกสารหลักฐานสำนวนที่ กกต.ต้องส่งไปที่ศาลจะต้องมีเอกสารที่ระบุว่านายชัยวัฒน์เป็นสมาชิกทั้งไทยรักไทย และประชาธิปัตย์ รวมอยู่ในแฟ้มสำนวนด้วย แต่คนที่รับผิดชอบสำนวนบอกว่าลืมแนบเข้าไปในแฟ้มสำนวนส่งศาล
แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า คนที่รับผิดชอบเรื่องการนำเอกสารเข้าหรือออกจากแฟ้มสำนวน คือ พ.ต.อ.ณัฐศักดิ์ และ พ.ต.ต.ณัฐวัฒน์ เสงี่ยมศักดิ์ ผอ.ฝ่ายสืบสวนและวินิจฉัย 10 เป็น 2 คนที่ กกต. มอบหมายให้ดูแลสำนวนซึ่งนำมาต่อสู้ในศาล โดยมี พ.ต.ท.กฤษณ์ เป็นเลขานุการฯ ส่วนนายถวิลนั้นเป็นเพียงผู้ควบคุมดูแลดำเนินการชี้แนะในเรื่องการซักค้านเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเอกสารต่างๆ เลย ดังนั้น เมื่อเหตุการณ์เป็นแบบนี้ ทำให้นายถวิลเห็นด้วยที่ กกต.ตั้งกรรมการสอบสวนกรณีดังกล่าวขึ้นเพราะมีพฤติการณ์ส่อไปในทางพิรุธ
“กรณีนี้ศาลก็ไม่ได้เรียกหรือสั่งให้ฝ่าย กกต.ต้องนำหลักฐานชิ้นดังกล่าวไปแสดงต่อศาล มีเพียงแต่ทนายความของนายยงยุทธเท่านั้นที่ขอมาแล้วทำไม พนักงาน กกต.ต้องรีบดำเนินการอย่างนั้น ส่อไปในทางพิรุธว่าพนักงานของเรากำลังไปทำอะไรกับใครอยู่” แหล่งข่าวระบุและยืนยันว่านายถวิลไม่เกี่ยวข้องเรื่องเอกสาร
“การนำเอกสารหลักฐานออกจาก กกต.ต้องเป็น พ.ต.อ.ณัฐศักดิ์ เป็นผู้รับผิดชอบ แต่ในวันที่ 8 พ.ค. พ.ต.อ.ณัฐศักดิ์ และ นายถวิลก็อยู่ที่ศาลฎีกาด้วยกัน เพราะฉะนั้น เอกสารฉบับนี้จะออกไปไม่ได้เด็ดขาด การที่มีการกล่าวอ้างให้เข้าใจว่านายถวิลเป็นคนคนเร่งให้ดำเนินการนั้น เป็นการกล่าวอ้างอย่างชุ่ยๆ โยนความผิดให้พ้นตัว ซึ่งการทำอย่างนี้ใช้ไม่ได้ ดังนั้น คิดว่า กกต. คงต้องตรวจสอบ ทั้ง พ.ต.อ.ณัฐศักดิ์ พ.ต.ต.ณัฐวัฒน์ และ และ พ.ต.ท.กฤษณ์” แหล่งข่าวระบุ
อนึ่ง สำหรับคดีการทุจริตเลือกตั้งของนายยงยุทธนั้น นายชัยวัฒน์ ฉางข้าวคำ กำนันตำบลจันจว้า อ.แม่จัน จ.เชียงราย ถือเป็นพยานปากสำคัญ เพราะเป็นผู้ที่ได้รับการติดต่อจากนายยงยุทธ เมื่อเดือน ต.ค.2550 ให้ช่วยประสานงานกับกำนันตำบลต่างๆ ในอำเภอแม่จันจำนวน 10 คน เพื่อเดินทางเข้าไปพบนายยุงยุทธที่กรุงเทพฯ โดยนายยงยุทธได้ขอร้องให้กำนันกลุ่มดังกล่าว ช่วยเหลือนางละออง ติยะไพรัช น้องสาว และนายอิทธิเดช แก้วหลง ผู้สมัคร ส.ส.เขตพรรคพลังประชาชน รวมทั้งให้ลงคะแนนในระบบสัดส่วนให้กับพรรคพลังประชาชนด้วย ซึ่งนายงยุทธได้มอบเงินใส่ซองให้กำนันคนละ 2 หมื่นบาท และจ่ายค่าเครื่องบินให้กับนายชัยวัฒน์ที่ออกเงินส่วนล่วงหน้าไปก่อนประมาณ 4 หมื่นบาท
อย่างไรก็ตาม กำนันคนอื่นๆ ได้กลับคำให้การในเวลาต่อมา ยังคงเหลือเพียงนายชัยวัฒน์ ที่ยืนยันคำให้การเดิม จนกระทั่ง กกต.มีมติให้ใบแดงนายงยุทธในที่สุด เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลฎีกา นายยงยุทธได้หยิบยกประเด็นที่นายชัยวัฒน์เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาต่อสู้ โดยอ้างว่ากรณีที่เกิดขึ้นเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองจากพรรคที่เป็นคู่แข่ง ซึ่งทนายความของนายยงยุทธพยายามสร้างน้ำหนักให้กับประเด็นนี้โดยการขอเอกสารรับรองการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ของนายชัยวัฒน์จาก กกต.เพื่อยื่นต่อศาล ปรากฏว่านายชัยวัฒน์เคยเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2547 แต่ต่อมาในปี 2548 นายชัยวัฒน์ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทย จนกระทั่งพรรคถูกยุบในปี 2550 แต่ในเอกสารรับรองที่นำไปยื่นต่อศาลนั้นกลับระบุเพียงว่านายชัยวัฒน์เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และมีการปลอมลายเซ็นของพนักงานสอบสวนในเอกสาร