“อลงกรณ์” เตรียมชงร่าง พ.ร.บ.ต่ออายุ คตส.ย้ำเพื่อให้การพิสูจน์ความถูกผิดในชั้นศาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ วอน ส.ส.-ส.ว.ยกมือหนุนผ่านสภา หวั่นอำนาจ ป.ป.ช.เข้าไม่ถึงข้อมูล อัดรัฐใช้อำนาจเช็กบิล คตส.ไม่ถูกต้อง
วันนี้ (10 มิ.ย.) นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) สมควรได้รับการต่ออายุการทำงานออกไป และตนเตรียมที่จะนำเรื่องนี้เสนอให้ที่ประชุม ส.ส.พรรคได้พิจารณา เนื่องจากจะต้องออกเป็นร่างพระราชบัญญัติ ทั้งนี้ คตส.ต้องทำหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็นพนักงานสอบสวนและเป็นโจทก์ร่วมในคดีทุจริตที่เข้าสู่การพิจารณาของศาล ซึ่งถ้าไม่ดำเนินการเช่นนี้ความขัดแย้งและการเผชิญหน้าก็ยังจะคงอยู่ เพราะฝ่ายต่อต้านระบอบทักษิณไม่เชื่อว่ารัฐบาลนี้จะเป็นกลางในการดำเนินคดีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และพวกพ้อง
จะเห็นได้จากกรณีมีการโยกย้ายข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าว เช่น การย้ายนายสุนัย มโนมัยอุดม อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ นางสาวกัญญานุช สอทิพย์ อธิบดีกรมบังคับคดี หรือแม้แต่การดิสเครดิต คตส.ด้วยวิธีการต่างๆ ดังนั้น คตส.ควรที่จะต้องอยู่ทำงานให้เสร็จและรับผิดชอบต่อสำนวนคดีที่ได้ส่งฟ้องศาลและจะเป็นโอกาสของฝ่ายที่ตกเป็นจำเลยและผู้ถูกกล่าวหาในการต่อสู้คดี
พรรคประชาธิปัตย์อยากให้กำลังใจ คตส.ได้ทำงานต่อไป เพราะ คตส.ทำงานด้วยความยากลำบากและเสียสละ ดังนั้น ทุกฝ่ายควรที่จะให้กำลังใจและสนับสนุนรวมทั้งรัฐบาลและทุกพรรคการเมือง เพราะการตรวจสอบของ คตส.เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การพิจารณาการทุจริตในชั้นศาลจะทำให้ฝ่ายที่สนับสนุนหรือตกเป็นเครื่องมือของระบอบทักษิณไม่เห็นกงจักรเป็นดอกบัวอีกต่อไป ดังนั้น เรียกร้องให้ ส.ส.และ ส.ว.ควรที่จะให้การสนับสนุนในการผ่านกฎหมายต่ออายุการทำงานของ คตส.เพื่อให้การพิสูจน์ความถูกผิดในชั้นศาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งกันใหม่
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า การที่ คตส.ถูกตามเช็กบิลจากอำนาจรัฐถือเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะงานที่ คตส.กำลังตรวจสอบคดีทุจริตของรัฐบาลทักษิณและคณะถือได้ว่าเป็นกระบวนการหนึ่งในการพิสูจน์ความถูกผิดของระบอบทักษิณ ที่เป็นปมเงื่อนสำคัญที่จะถอดชนวนวิกฤตการเมืองที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า 3 ปี ซึ่งรัฐบาลและองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนสมควรที่จะปรับเปลี่ยนมุมมอง ว่า การทำงานของ คตส.จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพิพากษาคดีในการทุจริตในระบอบทักษิณ ซึ่งบางคดีก็เข้าสู่การพิจารณาของศาลแล้ว บางคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาชั้นอัยการเพื่อมีคำสั่งส่งฟ้องต่อไป
ดังนั้น การทำงานของ คตส.จึงเป็นเพียงขั้นตอนของการสอบสวนจัดทำสำนวนคดี ซึ่งหากว่าคตส.ถูกกลั่นแกล้งแทรกแซง หรือบิดเบือนสำนวนสอบสวนในขั้นตอนหนึ่งขั้นตอนใด ก็จะถูกมองว่ามีอำนาจแฝงเร้นเหนือรัฐบาลในการดิสเครดิตสกัดกั้นการทำงานของ คตส.ซึ่งจะทำให้กระบวนการพิสูจน์ความถูกผิดคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคณะหยุดชะงัก ซึ่งจะทำให้ฝ่ายที่คัดค้านระบอบทักษิณยังมีความชอบธรรมในการแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการใช้อำนาจรัฐ เพื่อช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ และคณะ ซึ่งจะทำให้ปมความขัดแย้งยังดำรงอยู่ ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องสนับสนุนการทำงานของ คตส.ต่อไป
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ส่วนการที่เมื่อ คตส.หมดวาระการทำงานไปแล้วก็สามารถโอนคดีที่ยังค้างส่งต่อไปให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือป.ป.ช.ทำต่อได้นั้น เห็นว่าเรื่องการโอนคดีเราเคยมีความผิดพลาดมาแล้ว เพราะการโอนคดีให้ ป.ป.ช.นั้น อาจจะมีข้อจำกัดของ ป.ป.ช.เอง โดยเฉพาะเรื่องอำนาจการตรวจสอบทางกฎหมาย ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลสำคัญ เช่น กรณีคดีการปกปิดโครงสร้างหุ้นบริษัทเอสซีแอทเสท ซึ่งเป็นประเด็นคอขาดบาดตาย และเป็นปมมัดที่มีคำถามมานานกว่า 7 ปี
กรณีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับความเป็นเจ้าของบริษัท วินมาร์ค และบริษัท แอมเพิล ริช ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ได้ติดตามตรวจสอบมาตั้งแต่ปี 2544 ซึ่งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง.ธนาคารแห่งประเทศไทย และ ป.ป.ช.ก็ไม่สามารถที่จะตอบได้ว่าใครคือเจ้าของบริษัทดังกล่าวที่จดทะเบียนอยู่ในหมู่เกาะบริชติชเวอร์จิน ไอแลนด์ แต่ความลับได้เปิดเผยออกมาเมื่อมี คตส.ซึ่งมีอำนาจเพียงพอในการแสวงหาข้อเท็จจริงทั้งในและต่างประเทศ จนทราบว่าเจ้าของบริษัทลึกลับทั้งสอง คือ พ.ต.ท.ทักษิณ
ทั้งหมดนี้คือเงื่อนตายที่เป็นเชือกแขวนคอ พ.ต.ท.ทักษิณ และคณะ ตัวอย่างที่แสดงถึงผลการสอบสวนดังกล่าวจึงเป็นข้อเท็จจริงที่สำคัญอย่างยิ่งในการพิจารณาคดีการทุจริต ถ้าเราให้ความสำคัญกับการพิจารณาข้อเท็จจริงและยอมรับในความจริงที่เกิดขึ้น และยอมรับต่อคำพิพากษาของศาลที่จะเกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงดังกล่าวการเผชิญหน้าและวิกฤตทางการเมืองก็จะยุติลงได้
“ข้อเท็จจริงกรณีบริษัท วินมาร์ค และบริษัท แอมเพิลริช คือ กุญแจไขไปสู่ความลับของการปกปิดทรัพย์สินและผลประโยชน์ทับซ้อน ตั้งแต่คดีซุกหุ้นจนมาถึงการขายบริษัทชิน คอร์ป ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวถือเป็นหัวใจของคดีทุจริตทั้งหมดในระบอบทักษิณ” นายอลงกรณ์ กล่าว