xs
xsm
sm
md
lg

ปรากฏการณ์ “พันธมิตรฯ” ปรากฏการณ์ความสำเร็จของภาคประชาชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วงเสวนาพันธมิตรฯ สุดคึก! “สำราญ-สุวินัย-สุธี-สาวิตย์” ขึ้นย้ำจุดยืนความสำคัญการเมืองภาคประชาชน ลั่นภาค ปชช.คือจุดเปลี่ยน-ทวงคืนความชอบธรรมกลับสู่สังคม ป้องกันไม่ให้นักการเมืองบิดเบือนหน้าที่ ระบุพันธมิตรฯ เปรียบเสมือนขุมพลังแห่งสังคมเครือข่าย ร่วมต้านวิกฤติระบอบทักษิณ

 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง วงเสวนาเรื่อง “การเมืองภาคประชาชน” 

วานนี้ (6 มิ.ย.) เวลา 21.30 น.ที่เวทีสะพานมัฆวานรังสรรค์ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้จัดวงเสวนาชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการเมืองภาคประชาชน ในยุครัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช โดยมี รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ดร.สุธี ประศาสน์เศรษฐ นักวิชาการอิสระอดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายสาวิตย์ แก้วหวาน เลขธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดย นายสำราญ รอดเพชร

รศ.ดร.สุธี วิเคราะห์ว่า การเมืองไม่ได้กำหนดอยู่เฉพาะในระบบตัวแทน ที่มีการเลือกตั้งเพื่อจัดตั้งรัฐบาล แต่การเลือกตั้งไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงเจตจำนงทางการเมืองของประชาชนที่แท้จริง มีการบิดเบือนโดยกระบวนการใช้อำนาจชักจูงหรือใช้อานิจสินจ้างให้เกิดการเลือกตั้งในทิศทางทางที่ต้องการ ก็แปลว่ากระบวนการเลือกตั้งอันนั้นมันไม่ชอบธรรม รัฐบาลที่ขึ้นมาบริหารประเทศในลักษณะนี้ก็ไม่ชอบธรรมด้วย

ดังนั้น เมื่อมีความไม่ชอบธรรมเกิดขึ้นในระบบสังคม ภาคประชาชนอันประกอบด้วยประชาชนทั่วไปในกลุ่มอาชีพต่างๆ ทั้งกลุ่มที่จัดตั้งในลักษณะสหภาพแรง องค์กรชาวนา องค์กรสลัม หรือสมัชชาของภาคประชาชน ก็ย่อมมีสิทธิที่จะออกมาแสดงทัศนะ เรียกร้องให้เกิดกระบวนการที่ชอบธรรม อำนาจทั้ง 3 ส่วน คือ นิติบัญัตติ บริหาร และตุลาการ ต้องไม่ถูกครอบงำแต่โดยรวมๆ รู้กันดีอำนาจบริหาร และนิติบัญญัติ มีการครอบงำกัน จะเหลือเพียงตุลาการ ที่เป็นขอบเขตศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องธำรงไว้ หากสังคมใดอำนาจตุลาการถูกแทรกแซง บิดเบือนเจตนารมณ์ ระบบสังคมนั้นจะถูกวิวัฒน์ไปในทิศทางที่เป็นอำนาจนิยม

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี การเมืองภาคประชาชนต้องล้มลุกคลุกคลาน รวมทั้งมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้เพื่อสิทธิของชุมชน แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง เราจะต้องเข้าใจปัจัยหลักที่สัมพันธ์กัน คือ กลุ่มรัฐ กลุ่มทุน หรือกลุ่มธุรกิจ เชื่อมโยงไปถึงกลุ่มทุนข้ามชาติ และกลุ่มภาคประชาชน ซึ่งในช่วงของการพัฒนาเศรษฐกิจ รัฐมีนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจ มีการผลิตขยายทางอุตสาหกรรม ขยายทางด้านเกษตรเพื่อการส่งออก ขยายการท่องเที่ยวทำรีสอร์ท สร้างสนามกอล์ฟเพื่อสนับสนุนเรื่องนี้อย่างมากมาย รวมทั้งการทำเขตนิคมอุตสาหกรรมเกษตรเพื่อส่งการออกของภาคธุรกิจ

ซี่งส่วนนี้มันก็มีส่วนทำให้ประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่จะมีคนที่ได้รับผลประโยชน์อยู่เพียงจำนวนหนึ่ง ประชาชนส่วนล่างถูกผลกระทบ ตกเป็นเหยื่อของการพัฒนา เป็นผู้ที่ถูกรุกราน โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบในกิจกรรมต่างๆ ของรัฐและเอกชน เช่น ผู้ได้รับผลกระทบจากเชื่อน ผู้ป่วยที่เกิดจากสภาวะการทำงาน ซึ่งยังไม่มีการพิสูจน์จากทางการ แม้กระทั้งชาวสลัมที่ตกเป็นปัญหาอยู่เป็นประจำ เพราะฉะนั้นเมื่อคนเหล่านี้ได้รับผลกระทบก็ต้องรวมกลุ่มต่อสู้ จนเกิดเป็นกลุ่มสมัชชารายย่อย เป็นการรวมกลุ่มเพื่อต่อรองกับอำนาจรัฐ บางกลุ่มก็ประสบความสำเร็จ บางกลุ่มก็ไม่ได้รับความสำเร็จ แต่ก็เป็นการต่อสู้เพื่อปรชาธิปไตยที่แท้จริง คนชนชั้นกลางต้องเข้าใจและเห็นใจการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนด้วย

ขณะที่ นายสาวิตย์ กล่าวถึงความสำเร็จของภาคประชาชนในอดีต ว่า ไมว่าจะเป็นที่ไหน การแสดงออกซึ่งกิจกรรมทางการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ วันนี้เรากำลังสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองภาคประชาชน เมื่อการเลือกตั้งมันไม่สามารถตอบสนองเจตจำนงของประชาชนได้ เราสามารถแสดงออกตามสิทธิอันชอบธรรมได้ สิ่งที่เรามานั่งกันในวันนี้ หมายความว่า การเมืองที่พึ่งผ่านไปสดๆ ร้อนๆ มันไม่สามารถตอบสนองเจตจำนงของประชาชนได้ เราะจะเห็นว่าปัญหาปากท้องที่กำลังพูดถึงกันอยู่ในเวลานี้ ทั้งราคาน้ำมัน ข้าวสาร ก๊าซหุงต้ม ที่กำลังปรับตัวสูงขึ้น รัฐบาลไม่แก้ แต่ดันจะไปแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งที่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญ ปัญหาอยู่ที่ตัวบุคคล เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งจะกี่ครั้งกี่หนก็แล้วแต่ ไม่ได้บอกว่าประเทศนี้จะเป็นประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องดูว่า ประชาชนได้อะไรจากการเมือง ที่เป็นโครงสร้างด้านบน

ดังนั้น สิ่งที่เรามานั่งอยู่ในเวลานี้ กับภาพการเมืองระบบตัวแทนที่เกิดในสภาผู้แทนราษฎร มันตอบสนองความต้องการของประชาชนไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องของกระบวนการตรวจสอบ ดังนั้นสิ่งที่เรามอบไป หลายคนที่ผ่านมาอาจจะเลือกพรรคพลังประชาชน แต่การเลือกนั้นไม่ได้หมายความว่า เรามอบจิตวิญาณ มอบหัวใจ มอบร่างกายให้กับนักการเมืองเหล่านั้น ถ้าเราใช้สิทธิ์เพียงแค่ 10 นาทีแล้วบอกเป็นประชาธิปไตยนั้นคิดผิด ที่เรามานั่งอยู่วันนี้ต่างหากคือการเมืองภาคประชาชนที่แท้จริง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดในวันนี้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจ การต่อสู้ของประชาชนส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากกดทับของภาวะเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม ส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจที่มันไปกระจุกตัวกับคนรวย ทำให้เกิดกระบวนการรวมตัวของภาคประชาชน มีการเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดี และก็ไม่ดีตามลำดับ แต่ประชาชนก็ไม่เคยหยุดนิ่ง ถึงแม้จะเราจะต้องสูญเสียไปบ้าง แต่นี่ก็คือกระบวนการความสำเร็จในการรุกคืบของภาคประชาชนที่จะสร้างบรรทัดฐานให้กับนักการเมืองได้รับรู้

การต่อสู้ของพันธมิตรฯ ในวันนี้ คือ การก่อตัวในศตวรรษใหม่ ประชาชนหลากหลายสาขาอาชีพรวมกลุ่มรวมตัวกันตามสิทธิขั้นพื้นฐาน ถ้าไม่มีการรวมตัวรวมกลุ่มก็ไม่แตกต่างอะไรกับสัตว์ คุณค่ามนุษย์แทบจะไม่มี ดังนั้นสิ่งที่เรารวมตัวกันเป็นพันธมิตรฯ นี่คือปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นการเมืองภาคประชาชน มีหน้าที่ศักดิ์สิทธิ์ กำลังสร้างวัฒนธรรมวางกรอบป้องกันไม่ให้นักการเมืองบิดเบือนหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเอง

ทางด้าน รศ.ดร.สุวินัย กล่าวถึงการก่อตัวของกลุ่มพันธมิตรฯ อย่างน่าสนใจว่า เราไม่ควรดูการกำเนิดของพันธมิตรฯ อย่างโดอย่างหนึ่งหรือดูแยกส่วน ต้องมองให้เห็นถึงภาพรวม มองให้เห็นว่า พันธมิตรฯ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ฉะนั้นหากมองลึกลงไปจะเห็นว่า พันธมิตรฯจำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้นมาภายใต้บริบทที่วิกฤติต่างๆ กำลังรุมเร้าเข้าสู่ประเทศไทย อันเนื่องมาจากระบอบทักษิณ พันธมิตรฯ เป็นการเมืองภาคประชาชนที่เปรียบเสมือนขุมพลังแห่งสังคมเครือข่าย ที่เป็นขุมพลังเพียงหนึ่งเดียวในปัจจุบัน ที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงสังคมนี้ได้

วันนี้เราคงหวังพึ่งพรรคการเมืองคงไม่ได้ พรรคการเมืองเหล่านั้นคิดและทำเพื่อตัวเองเท่านั้น แต่พันธมิตรฯ ทั้งที่มาชุมนุม และติดตามจากสถานีโทรทัศน์ เอเอสทีวี กำลังเข้าร่วมทำในภารกิจศักดิ์สิทธิ์ กระทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเอง ทำเพื่อส่วนรวม และนี้คือนิยามการเมืองภาคประชาชนที่ต่างจากการเมืองในระบบ
กำลังโหลดความคิดเห็น