xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.รู้ทันปัดร่วมสังฆกรรม 5 พรรค แฉเป็นเงื่อนไข “หมัก” ยุบสภาหนี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์
“จุรินทร์” ประกาศจุดยืนไม่ขอร่วมสังฆกรรม 5 พรรคร่วมรัฐบาล แฉวาระซ่อนเร้นเป็นเงื่อนไขชิงยุบสภาหนีปัญหา พร้อมเรียกร้องให้แสดงจุดยืนตั้ง กมธ.ศึกษาก่อนแก้ รธน.ให้ชัดเพื่อคลายวิกฤตการเมือง

วันนี้ (3 มิ.ย.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่มีหลายฝ่ายให้ความเห็นว่าพรรคร่วมรัฐบาล 5 พรรคควรร่วมมือกับพรรคประชาธิปัตย์ในการจัดตั้งรัฐบาลว่า มีโอกาสเป็นไปได้ยากเพราะนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีคงไม่ยอม ในที่สุดก็จะเป็นเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การยุบสภาได้ ดังนั้น พรรคไม่เคยคิดหรือดำเนินการใดๆ เพื่อที่จะหวังไปจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งเราก็เข้าใจดีว่าในที่สุดแล้วจะเกิดอะไรขึ้น เพราะฉะนั้นการดำเนินการใดๆ ในขณะนี้ไม่ได้หวังเพื่อที่จะไปเป็นรัฐบาลแต่ที่ทำไปก็เพื่อจะร่วมกันช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤตของบ้านเมืองในขณะนี้ ซึ่งตรงนี้จึงเป็นที่มาของข้อเสนอให้สภามีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษาปัญหาบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะสามารถคลี่คลายสถานการณ์ลงไปได้ เพราะจะได้มีการศึกษาว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหาอะไรในเรื่องการบังคับใช้ถ้าจะแก้ก็ค่อยนำมาพิจารณาว่าจะแก้ในประเด็นใดต่อไป

“สิ่งที่ผมอยากเห็นตอนนี้ก็คือ พรรคร่วมรัฐบาลประกาศออกมาให้ชัดเจนว่าเห็นด้วยกับหลักการนี้ในการตั้งกรรมาธิการ สังคมก็จะได้สบายใจและรับรู้ร่วมกันและการที่มี ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลอยากจะให้มีการกำหนดกรอบว่าจะศึกษาให้เสร็จระยะเวลาเท่าใด และไม่คิดว่าจะกินเวลาไป 2-3 ปีเหมือนอย่างที่กลัวกัน ประเด็นสำคัญคือจะต้องศึกษาให้รอบคอบ และมีเป้าหมายชัดเจนว่าการแก้รัฐธรรมนูญมีปัญหาในการบังคับใช้ต่อส่วนรวมจริงๆ แต่ไม่ใช่เอาผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นตัวตั้งแล้วมากำหนดว่าต้องมาแก้ประเด็นอะไรบ้าง จึงเป็นที่มาของข้อครหาว่าแก้รัฐธรมนูญเพื่อตัวเอง ผมคิดว่าเป็นรายละเอียดที่จะตามมา แต่หลักการสำคัญ คือ ต้องประกาศให้ชัดว่าเห้นด้วยกับแนวทางนี้เสียก่อน และเมื่อวานนี้วิปของพรรคพลังประชาชนก็เห็นด้วยกับแนวทางนี้”

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า หากต้องการที่จะเร่งระยะเวลาในการดำเนินการก็สามารถทำได้ เช่น การตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมาหลายๆ คณะเพื่อศึกษาหรือดำเนินการไปพร้อมกัน ก็จะทำให้ไม่ล่าช้าจนเกินไป ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการสามารถเอาคนนอกมาร่วมเป็นกรรมาธิการได้อยู่แล้ว ซึ่งก็เป็นไปได้ที่จะเอา ส.ส. ส.ว. นักวิชาการ การเมืองภาคประชาชน และส่วนอื่นๆ เข้ามาร่วมในการศึกษาบังคับใช้และหากกลุ่มพันธมิตรฯ สนใจก็สามารถตั้งบุคคลเข้ามาร่วมศึกษาด้วยได้
กำลังโหลดความคิดเห็น