“บัญญัติ” ไม่เชื่อ “ทักษิณ” เลิกเล่นการเมือง ไม่อยากเชื่อจะหวังใช้ “ป๋าเปรม” สร้างภาพ คิดในแง่ดี อาจแสดงมารยาททางสังคม เบรกรัฐบาลผลาญงบทำประชามติ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง
วันนี้ (30 พ.ค.) นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการพบกันครั้งแรกหลังเหตุการณ์รัฐประหารระหว่าง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่วัดโสมนัสวิหาร ว่า ตนไม่รู้สึกว่าจะมีสัญญาณอะไร เพราะเป็นการพบกันในงานสวดพระอภิธรรมศพมารดาของผู้บัญชาการทหารบก และการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะยกมือไหว้ประธานองคมนตรี ในฐานะที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองก็ถือเป็นเรื่องปกติ และก็ไม่ได้พูดจาอะไรกันมากมาย นอกจากทักทายกันในสังคม แต่ถ้าสังคมจะพยายามมองว่าเป็นการสร้างภาพก็มีสิทธิที่จะมองได้ แต่ผลที่จะเกิดขึ้นต่อสถานการณ์การเมืองของประเทศ ตนคิดว่าคงไม่เกี่ยวข้องกัน เป็นเรื่องของมารยาททางสังคมเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า มองว่า เป็นการสร้างภาพโดยมีนัยยะทางการเมืองที่พยายามจะกลับเข้ามาในวงการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือไม่ กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ความจริง พ.ต.ท.ทักษิณ ก็พยายามจะกลับเข้ามาการเมืองโดยตลอดและพรรคประชาธิปัตยก็ยืนยันมาตลอดว่า ไม่เคยเชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะเลิกเล่นการเมือง เพราะการเคลื่อนไหวตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นในสถานะไหนก็ตาม ถ้ามองกันอย่างลึกๆ ก็คือ พยายามที่จะรักษาระดับ ความเชื่อมั่นความเชื่อถือในทางการเมืองไว้เรื่อยๆ ประคับประคองไม่ยอมให้กระแสตก หลายครั้งหลายหนเห็นชัดเจนว่าพยายามที่จะเพิ่มกระแสให้ตัวเอง นอกจากนี้พ.ต.ท.ทักษิณยังมีความห่วงใยในบรรดาทรัพย์สินของครอบครัว ซึ่งยังอยู่ระหว่างการดำเนินการของ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ตนคิดว่าตรงนั้นเป็นความมุ่งหมายหลักที่ละได้ยาก จึงมีพยายามของพรรคพลังประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพยายามที่จะยกเลิกมาตรา 309 หรือการยกเลิกกระบวนการคตส.โดยสิ้นเชิงก็เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นความมุ่งหมายเดียวกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้า ส.ส.ถอนชื่อจากญัตติออกไปจริง แต่หากการทำประชามติยังเดินหน้าต่อไปโดยเอาผลของประชามติมาอ้างความชอบธรรมจะเป็นอย่างไร นายบัญญัติ กล่าวว่า ถ้าถอนรัฐธรรมนูญแล้วก็ไม่มีเหตุผลที่จะไปทำประชามติ เพราะการทำประชามติสูงถึง 2,000 ล้านบาท ภายใต้ภาวะที่กลุ่มผู้ประกอบอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นต่างก็เรียกร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่รัฐบาลก็ยังเชื่อได้ไม่เท่าไหร่ ดังนั้นเงินจำนวนนี้ต้องถือว่ามีความหมายและมีความสำคัญมาก เอามาใช้เพื่อประโยชน์สำหรับข้อเรียกร้องเหล่านี้ยังดีกว่าเอาไปใช้จ่ายจัดทำประชามติ วันนี้ดีที่สุดสำหรับรัฐบาลก็คือลดละเลิกเรื่องเหล่านั้นโดยสิ้นเชิงปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ แล้วก็กลับมาตั้งหน้าตั้งแก้ปัญหาของประชาชนให้ได้รับความเชื่อมั่น