อดีต สนช. “ทวี สุรฤทธิกุล” ชี้ รัฐบาลไม่มีทางแก้ รธน.สำเร็จ เหตุกระแสต่อต้านเยอะ เชื่อที่บ้านเมืองแตกแยกอย่างทุกวันนี้ เพราะ “ทักษิณ” คนเดียว – “สดศรี” ยัน ความขัดแย้งทางการเมืองที่มีอยู่อาจเป็นเงื่อนไขไปสู่การรัฐประหาร
วานนี้ (28 พ.ค.) ผศ.ทวี สุรฤทธิกุล อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชให้สัมภาษณ์ในรายการตอบโจทย์ ทางทีวีไทย ทีวีสาธารณะ ว่าไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการทำประชามติแก้ไข รธน. แบบที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เสนอว่าจะเร่งให้เกิดการทำประชามติ ถามประชาชนว่าจะแก้ รธน. หรือไม่ ภายใน 3 เดือน เพราะการทำประชามติจะต้องให้เวลากับประชาชนในการเข้าใจเรื่องของ รธน. ในรายละเอียดต่าง ๆ เช่น หากแก้แล้วจะเป็นอย่างไร หรือหากไม่แก้จะเป็นอย่างไร ก่อนที่จะตัดสินใจลงประชามติ ส่วนกรณีที่ ส.ส.บางส่วนได้เข้าชื่อเสนอแก้ไข รธน.ไปแล้วนั้น โดยส่วนตัวตนคิดว่าการแก้ไข รธน. ครั้งนี้จะไม่สำเร็จ เพราะตอนนี้กระแสต่อต้านในสังคมก็มีอยู่มาก บางทีอาจจะมีการถอนชื่อจนญัตติถูกถอดออกไป หรือหากเข้าสู่สภาฯ ได้จริง ญัตติก็คงไม่ผ่านความเห็นของสภาฯ อยู่ดี
ต่อคำถามว่า หากเรื่องของการแก้ไข รธน.จบไปแล้ว เช่นอาจจะมีการถอนรายชื่อ จนญัตติไม่สามารถเข้าสู่วาระในสภาฯ ได้ ปัญหาความขัดแย้งในสังคมจะหมดไปหรือไม่ นายทวีกล่าวว่า ถึงแม้เรื่องการแก้ รธน. จะจบไป แต่ปัญหาความขัดแย้งก็คงยังไม่หมดไป เห็นได้จากตอนนี้ที่บนเวทีปราศรัย ของกลุ่มพันธมิตรฯ ก็เริ่มที่จะมีการพูดถึงเรื่องอื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากการแก้ รธน. ด้วยแล้ว เช่น เรื่องการยื่นถอดถอนรัฐมนตรีที่มีทัศนคติหมิ่นเหม่ต่อการ หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รวมไปถึงขับไล่นายกรัฐมนตรี จึงเห็นได้ว่า มีแนวโน้มว่าปัญหาความขัดแย้งคงไม่จบแค่เรื่องของการแก้ รธน.
นายทวีกล่าวด้วยว่า โดยส่วนตัวแล้วตนคิดว่า ชนวนความขัดแย้งที่ใหญ่ที่สุด ที่ทำให้สังคมแตกแยกอย่างทุกวันนี้ก็คือ ประเด็นของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ที่ทำให้เกิดการแบ่งคนเป็น 2 กลุ่ม คือฝ่ายคนที่รัก และ ไม่รัก พ.ต.ท. ทักษิณ แล้วมาทะเลาะกัน ดังนั้นตนคิดว่า หากศาลตัดสินคดีของ พ.ต.ท. ทักษิณ เสร็จสิ้นเมื่อไหร่ ความขัดแย้งก็น่าจะคลี่คลายลงไปได้ เพราะหากศาลตัดสินว่าผิดจริงก็ต้องรับโทษไป แต่หากศาลท่านตัดสินว่าไม่ผิดซึ่งก็มีหลักฐานและเหตุผลอธิบายได้ ทางฝ่ายที่ต่อต้านก็จะได้หมดข้อโต้แย้งไป
ด้านนางสดศรี สัตยธรรม คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า เรื่องของการทำประชามติ ซึ่งจะต้องเสียเงินถึงสองพันล้านบาทนั้น โดยส่วนตัวแล้วตนคิดว่าหากทำประชามติแล้ว ปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมืองหมดไปได้ ก็คุ้มที่จะทำ แต่หากทำไปแล้วก็ยังมีประเด็นอื่น ๆ แทรกเข้ามาเรื่อย ๆ การทำประชามติก็แก้ไขปัญหาไม่ได้อยู่ดี อย่างนั้นก็ไม่ควรจะทำเพราะเปลืองเงินเปล่า ๆ
ต่อคำถามว่า หากท้ายที่สุดแล้วไม่มีการแก้ไข รธน. กกต.จะยังต้องจัดทำร่างกฎหมายประชามติอยู่หรือไม่ นางสดศรีกล่าวว่า เรื่องของจัดทำร่างกฎหมายประชามตินั้น เป็นเรื่องที่ กกต. จะตั้งทำอยู่แล้ว ถึงแม้จะไม่มีการแก้ไข รธน. ก็ต้องทำอยู่ดี เพราะกฎหมายดังกล่าวต้องนำไปรองรับการประชามติในเรื่องอื่น ๆ เช่นหากรัฐบาลคิดจะทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศในเรื่องสำคัญ ๆ ก็จะต้องมีการทำประชามติสอบถามประชาชนก่อนว่ามีความเห็นอย่างไร
นางสดศรีกล่าวด้วยว่า ตนมองว่าถึงแม้ปัญหาการแก้ไข รธน. จะจบไป แต่ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองก็ยังไม่จบอยู่ดี เห็นได้จากในวันนี้ทางพรรคพลังประชาชนก็มายื่นขอให้ กกต. ตรวจสอบและมีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์มีมติให้สมาชิกพรรคเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ อีก ทำให้เห็นได้ว่าความขัดแย้งทางการเมืองที่จะแพร่กระจายไปสู่สังคมยังคงไม่หมดไป ถึงแม้จะจบเรื่อง รธน.ไป ก็มีเรื่องใหม่แทรกเข้ามาอยู่ดี และตนก็มองว่า หากความขัดแย้งต่าง ๆ ยังเกิดขึ้นอยู่อย่างไม่หมดไปง่าย ๆ ก็อาจเป็นเงื่อนไขไปสู่การทำรัฐประหารได้