“ไพศาล พืชมงคล” อดีต สนช.สายนักกฎหมายเตือนรัฐบาลออก พ.ร.ก.ประชามติผิดเงื่อนไขเร่งด่วนฉุกเฉิน เป็นแค่ความต้องการของรัฐบาลพวกเดียว แนะควรนำเงิน 2,000 ล้าน ช่วยเกษตรกร ดีกว่านำไปเล่นปาหี่
นายไพศาล พืชมงคล อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สายนักกฎหมาย แถลงกรณี นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี จะให้มีการออกพระราชกำหนดเพื่อการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ว่า นายสมัคร เคยให้สัมภาษณ์ว่าไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการลงประชามติรัฐธรรมนูญ เพราะเปลืองงบประมาณ แต่ครั้งล่าสุดเปลี่ยนท่าทีว่าจะต้องให้มีการลงประชามติเพื่อแก้ความรำคาญ ดังนั้น การใช้จ่ายเงินงบประมาณจำนวนมาก เพื่อแก้ความรำคาญของนายกรัฐมนตรีจึงเป็นเรื่องที่น่าเกลียดและผิดกฎหมาย
อดีต สนช.กล่าวอีกว่า การลงประชามติเป็นเรื่องที่ต้องทำตามรัฐธรรมนูญ คือต้องออกเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต.ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาล รัฐบาลจึงไม่มีอำนาจออกกฎหมายลงประชามติด้วยตนเอง ถ้าขืนทำไปก็ขัดต่อรัฐธรรมนูญและไม่มีผลบังคับ
ทั้งขณะนี้สำนักงานกฤษฎีกาก็วินิจฉัยแล้วว่า วิธีการลงประชามติที่เคยมีระเบียบปฏิบัติในปี 2541 นั้นใช้บังคับไม่ได้แล้วเพราะถูกยกเลิกแล้ว รัฐบาลจึงใช้ระเบียบดังกล่าวไม่ได้และจะออกกฎหมายลงประชามติเองไม่ได้ ต้องให้ กกต.เป็นผู้ดำเนินการ ดังนั้น หากรัฐบาลดึงดันออกพระราชกำหนดให้มีการลงประชามติก็เสี่ยงต่อการที่จะถูกถอดถอนเพราะทำผิดต่อรัฐธรรมนูญ และอาจถูกฟ้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนก็ได้ ในกรณีนี้อาจขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินห้ามใช้บังคับก็ได้
นายไพศาล พืชมงคล กล่าวอีกว่า การออกพระราชกำหนดต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด คือ เป็นเรื่องเร่งด่วนและจำเป็นในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความปลอดภัยของประเทศ ซึ่งเรื่องลงประชามตินั้นไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนอะไร และไม่เกี่ยวกับความปลอดภัยมั่นคงของประเทศชาติ แต่เป็นเรื่องความต้องการของรัฐบาลพวกเดียวเท่านั้น การออกพระราชกำหนดแบบนี้จึงผิดเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้
อดีต สนช.สายนักกฎหมายกล่าวสรุปว่าจะออกพระราชกำหนดให้ลงประชามติไปทำไมกัน เพราะไม่มีผลใดๆ ต่อการหยุดยั้งหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขการเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของสมาชิกพรรคพลังประชาชนได้ หากจะเล่นปาหี่ก็ควรเลือกปาหี่ประเภทที่ไม่ต้องเสียเงินงบประมาณมากมายถึงขนาดนี้ เอาเงิน 2,000 ล้าน ไปช่วยซื้อผลไม้ของเกษตรกรที่ราคาตกต่ำอยู่มาช่วยขายจะดีกว่า หรือไม่ก็ซื้อข้าวสารไปขายชาวนาในราคาถูกๆ จะดีกว่า
นายไพศาล พืชมงคล คาดหมายว่า หากรัฐบาลออกพระราชกำหนดลงประชามติก็คงจะถูกยับยั้งไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น มีการฟ้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอน หรือมีการเข้าชื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หรือมีการถวายฎีกา เพื่อทรงพิจารณาก่อนลงพระปรมาภิไธย ทั้งอาจนำไปสู่การถอดถอนคณะรัฐมนตรีอีกด้วย