xs
xsm
sm
md
lg

“เหวง” ตีปี๊บเชียร์ทำประชามติ อ้างยุติความขัดแย้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.พ.เหวง โตจิราการ
“เหวง-มหาโชว์” ตบเท้าสวมวิญญาณเชลียร์รัฐบาล หนุนลงประชามติแก้ รธน.แก้เกี้ยวยุติความขัดแย้งในสังคม โวยวายยุส่ง “หมัก” สั่งปลด “สพรั่ง” เหตุแสดงทัศนะไม่หนุนระบอบประชาธิปไตย

วันนี้ (27 พ.ค.) นพ.เหวง โตจิราการ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (คปพร.) ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อส่งจดหมายเปิดผนึกถึง นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอสนับสนุนการลงประชามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 โดยระบุว่า คปพร.ขอสนับสนุนความเห็นของนายกรัฐมนตรีอย่างเต็มที่ และขอเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีสนับสนุนด้วยเหตุผล คือ เพื่อให้ความขัดแย้งทางการเมืองที่สำคัญที่สุด ท่าทีต่อรัฐธรรมนูญ 2550 มีข้อยุติที่สร้างสรรค์ด้วยสันติวิธี และหยุดยั้งโอกาสที่กลุ่มพันธมิตรฯ จะปลุกปั่นสถานการณ์ นำไปสู่ความยุ่งเหยิงทางการเมืองและรัฐประหารได้ในที่สุด ทั้งนี้ การลงประชามติเห็นหัวใจสำคัญของครรลองประชาธิปไตยสมควรทำ ในมาตรา 165 รัฐธรรมนูญ 2550 แม้จะมีบางฝ่าย กล่าวอ้างว่า ไม่มี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญในเรื่องการทำประชามติ และเป็นการสร้างความตื่นตัวทางการเมืองครั้งใหญ่ให้กับประชาชนเรื่องรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยให้เป็นรากฐานที่สำคัญให้ประชาธิปไตยหยั่งรากแข็งแรงสมบูรณ์และป้องกันรัฐประหารไม่ให้เกิดขึ้นอีก

นพ.เหวง กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้น ต้องการทหารที่เป็นประชาธิปไตย กองทัพต้องเป็นประชาธิปไตย ทหารคนใดที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยก็ควรจะปลดออกจากการรับราชการทหารเสีย อย่างน้อยวันนี้มีทหาร 2 นาย ที่แสดงทัศนะที่ไม่สนับสนุนประชาธิปไตย คือ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม และพล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ขอเรียนนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ช่วยพิจารณาทหาร 2 ท่านด้วยว่าเป็นทหารในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ หรือว่าเป็นทหารในระบอบเผด็จการทรราช หากเป็นทหารในระบอบเผด็จการทรราชก็ควรลาออกจากราชการเสีย

ด้าน พระมหาโชว์ ทัสสนีโย รองผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนตอ่นายกรัฐมนตรี โดยผ่านทาง นายชูศักดิ์ ด้วยว่า จากกรณีที่กลุ่มพันธมิตรฯ ได้หยิบยกประเด็นเรื่องการไม่ระบุศาสนาลงในบัตรประจำตัวประชาชน จะทำให้เกิดความแตกแยก ซึ่งที่จริงเป็นความต้องการของประชาชนเป็นพื้นฐานที่มีมาแต่โบราณ ไม่มีความแตกแยก และขอฝากเรื่องการบรรจุพุทธศาสนาในรัฐธรรมนูญ และเรื่องการไม่ระบุศาสนาในบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรสมาร์ทการ์ด ตามที่เป็นมติ ครม.ซึ่งจะทำให้ยากต่อการปฏิบัติแท้ที่จริงแล้วในประเทศไทยไม่เคยมี ถ้าไม่ก็อาจจะกระทบบางศาสนาที่ต้องการจะอัปเกรดศาสนิก ทางสำนักงานสถิติ ถ้าไม่มีหลักฐานตรงนี้จะไปอ้างในการต่อรองงบประมาณในอนาคตได้ ถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน หวังว่า ครม.จะนำไปแก้ไขพิจารณา ในขณะที่ยังไม่เป็นพระราชบัญญัติประกาศใช้โดยตรง
กำลังโหลดความคิดเห็น