xs
xsm
sm
md
lg

“ชัช ชลวร” นั่งว่าที่ ปธ.ศาล รธน.ด้วยมติเกินกึ่งหนึ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ที่ประชุมตุลาการศาล รธน.ลงมติเลือก “ชัช ชลวร” นั่งว่าที่ ปธ.ศาล รธน.เจ้าตัวยันใช้หลักโปร่งใส อิสระ นำพาประเทศให้มีความสมานฉันท์ ขณะที่คดีค้างเดิม 51 คดี ล้วนกระทบสถานภาพรัฐบาล รวมทั้งคำร้องตีความสถานะ รมว.ไชยา

วันนี้ (22 พ.ค.) นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ แถลงผลการเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญ หลังใช้เวลาประชุมกว่า 2 ชั่วโมง ว่า เมื่อผู้ที่ได้รับเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน เดินทางมาที่สำนักงานพร้อมกันแล้ว ที่ประชุมว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้เชิญว่าตุลาการที่อาวุโสสูงสุด คือ นายจรูญ อินทจาร ทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุมชั่วคราว จากนั้นทั้งหมดได้หารือ และตกลงกันถึงแนวทางที่จะทำการคัดเลือกประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าจะใช้วิธีการใด ซึ่งที่ประชุมเห็นตรงกันให้เป็นการสมัครใจของแต่ละคนโดยมีตุลาการฯ 3 คนสมัครเข้ารับการคัดเลือกประกอบด้วย นายชัช ชลวร นายนุรักษ์ มาประณีต และ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ โดยไม่มีการแสดงวิสัยทัศน์ เพราะแต่ละคนก็ล้วนรู้จักกันอยู่แล้ว

จากนั้นจึงได้ลงคะแนนลับ ซึ่งผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกต้องได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง คือ 5 คะแนน ขึ้นไป ปรากฏว่า มีการลงคะแนนถึง 2 รอบ และที่สุด นายชัช ได้รับเลือกเป็นประธาน แต่ขอที่จะไม่เปิดเผยถึงผลคะแนนว่าเกินกึ่งหนึ่งมาเท่าใด ทั้งนี้ ผลการคัดเลือกดังกล่าว ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะได้แจ้งผลไปยังสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อนำรายชื่อตุลาการฯพร้อมประธาน ขึ้นทูลเกล้าฯ และภายหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯลงมาแล้วก็จะได้นำตุลาการทั้งหมดเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า สำหรับคดีที่คั่งค้างจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดเก่ามีทั้งหมด 51 คดี ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแล้วคดีที่คั่งค้างดังกล่าวจะโอนให้กับคณะตุลาการฯชุดใหม่ เมื่อเข้าปฏิบัติหน้าที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าทางคณะตุลาการฯจะพิจารณาคดีใดก่อน ต้องรอจนกว่าจะเข้าถวายสัตย์และเริ่มปฏิบัติหน้าที่ก็จะมีการประชุมหารือกันเพื่อที่จะจัดลำดับคดีว่าเรื่องใดสำคัญก่อนหลัง อย่างไรก็ตามวิธีการพิจารณาดดี รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ต้องตราเป็น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ แต่ขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการยกร่างต้องรอให้คณะตุลาการฯเข้าทำหน้าที่ ซึ่งก็ไม่มีผลให้การพิจารณาดดีที่ค้าง เพราะมีข้อกำหนดวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญที่สามารถนำมาใช้ได้ไปก่อน จนกว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับวิธีพิจารณาคดีจะผ่านการพิจารณาคดีของสภา

ด้าน นายชัช กล่าวหลังได้รับตำแหน่งว่าที่ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า ไม่กังวล เรื่องการทำหน้าที่และจะทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ตรงไปตรงมา และตุลาการฯทุกคนมีความเป็นอิสระ เป็นกลาง และแนวทางการทำงานวินิจฉัยคดี ก็จะเน้นเหตุผล หลักความโปร่งใส และความยุติธรรม ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้การแก้ไขปัญหาผ่านพ้นไปได้ และทำให้ประเทศมีความสมานฉันท์

เมื่อถามว่า เรื่องของคดีจะดำเนินการอย่างไรต่อไป นายชัช กล่าวว่า ต้องรอการโปรดเกล้าก่อนจึงจะพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ส่วนที่มีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ผลพ่วงจากการกระทำของคมช.สิ้นผลไป จะมีผลกระทบต่อว่าที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้หรือไม่ นายชัช กล่าวว่า ยังไม่คิด เพราะเป็นเรื่องของอนาคต ยังไม่ได้นำมาพูดคุยกัน

ด้าน นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การหารือครั้งนี้ยังไม่ได้พุดคุยเรื่องกรอบการทำงาน โดยต้องรอการโปรดเกล้าและถวายสัตย์ก่อน แต่ในเรื่องของคดีที่ค้างอยู่ถึงจะเป็นคดีสำคัญก็ไมได้หนักใจอะไร เพราะเราอยู่ที่ศาลยุติธรรมมาก่อนแต่ละคดีหนักกว่านี้ แต่คดีนี่สิ่งที่หนักคือความกดดัน เนื่องจากบ้านเรามีนักกฎหมายที่ชอบตะแบงกันเยอะ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีที่ค้างการพิจารณาอยู่ 51 เรื่อง แยกเป็น 1.คดีตามคำร้องทั่วไปจากศาลยุติธรรม 21 เรื่อง ศาลปกครอง 12 เรื่อง นายกรัฐมนตรี 1 เรื่อง จากประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 3 เรื่อง ประธานวุฒิสภา 2 เรื่อง ผู้ตรวจการแผ่นดิน 1 เรื่อง นายทะเบียนพรรคการเมือง 1 เรื่อง ผู้ขอจัดตั้งพรรคกรเมือง 1 เรื่อง 2 คดีที่มีการฟ้องตรงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 212 จำนวน 9 เรื่อง 3.คดีที่ค้างพิจารณาประกอบด้วย คดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายระดับพระราชบัญญัติรวม 33 เรื่อง 2.คดีที่ขอวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างพระราชบัญญัติรวม 4 เรื่อง 3.คดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงรวม 2 เรื่อง 4.ที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่าหนังสือสนธิสัญญาใดต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนหรือไม่รวม 1 เรื่อง 5.คดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดคำสั่งของนายทะเบียนพรรคการเมืองที่ไม่รับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองรวม 1 เรื่อง 6.คดีที่ขอให้มีคำสั่งยุบพรรคการเมืองรวม 1 เรื่อง 7.คดีที่ประชาชนยื่นคำร้องโดยตรงรวม 9 เรื่อง

ทั้งนี้ ในจำนวนดังกล่าวมีคดีที่มีผลกระทบต่อรัฐบาล ประกอบด้วย คำร้องที่ส่งจากผูตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ขอให้วินิจฉัยว่า การทำข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย โดยไม่ได้รับความเห็นจากรัฐสภามีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549 มาตรา 38 ประกอบรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 224 วรรค 2 หรือไม่ คำร้องที่ส่งจากประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ส่งความเห็นของสมาชิกสภานิติบัญญัติขอให้วินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ฉบับที่... ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2550 คำร้องที่ส่งจากประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ส่งความเห็นของสมาชิกสภานิติบัญญัติขอให้วินิจฉัยว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 154(1) กรณีร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.... มาตรา 25 และ34 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 66 หรือไม่ คำร้องที่ส่งจากประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ส่งความเห็นของสมาชิกสภานิติบัญญัติขอใหวินิจฉัยว่า ความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวมพ.ศ... มีข้อความขัดหรือแย้งในสาระสำคัญต่อรัฐธรรมนูญและตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ คำร้องที่ส่งจากประธานวุฒิสภาขอให้วินิจฉัยการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีของนาย ไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข และคำร้องขอให้วินิจฉัยการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รมช.พาณิชย์

พลิกประวัติ-เส้นทาง "ชัช ชลวร"

เกิดเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2491 ปัจจุบันอายุ 60 ปี สมรสกับนางธิดา มาร์ติน สำเร็จการศึกษาคณะนิติศาสตร์บัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่น 2511 และเนติบัณฑิตยไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา มีประวัติรับราชการดำรงตำแหน่ง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเบตง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสงขลา ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนครปฐม ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา รองปลัดกระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมคุมประพฤติ อธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ผู้พิพากษาศาลฎีกา เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา

ก่อนหน้านี้ เคยได้รับเสนอชื่อเป็นประธานศาฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่เนื่องจากสมัยดำรงตำแหน่งเลขาธิการศาลยุติธรรม ในช่วงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เคยเชิญ พ.ต.ท.ทักษิณ กับนายโภคิน พลกุล อดีต ประธานสภาผู้แทนราษฎรมาเสนวนาร่วมกับประธานศาลฎีกาในงานครบรอบวันศาลยุติธรรม ซึ่งไม่เคยมีการเชิญฝ่ายบริหารและการเมืองเข้ามาใกล้ชิตมาก่อน จึงทำให้ถูกวิจารณ์จนคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม กต.ไม่อนุมัติให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว โดยให้สลับตำแหน่งกับนายเกรียงชัย จึงจตุรพิธ ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งเมืองคนปัจจุบัน

ต่อมานายชัช เสนอตัวเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 คนที่ถูกวุฒิสภาตรวจสอบความถูกต้องเกี่ยวกับวันเวลาในการลาออกจากศาลฎีกา แต่ที่สุดแล้วก็สามารถผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภาจนมาได้คะสนับสนุน 6:3 ให้เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ในที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น