xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” แฉร่างแก้ไข รธน.ขัด ม.291 - เตือน “ปู่ชัย” บรรจุเข้าวาระ “ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คำนูณ สิทธิสมาน
“คำนูณ” แฉร่างแก้ไข รธน.ฉบับ ส.ส.-ส.ว.เข้าชื่อเสนอญัตติ ก๊อบปี้ฉบับ “เหวง-จรัล” ทุกตัวอักษร พร้อมชี้ไม่สามารถบรรจุเข้าวาระได้ เหตุไม่ใช่การแก้ไขเพิ่มเติม แต่เป็นการยกเลิกทั้งฉบับ แล้วนำเอา รธน.ฉบับ 2540 มาใช้ ขัดหลักการแก้ไข รธน.ตามมาตรา 291 มีปัญหาในขั้นตอนแปรญัตติ ซ้ำยังหลอกลวง อ้างจะคงหมวด 1 แต่กลับแก้ไขประเด็นศาสนา พร้อมระบุ หากประธานสภาฯ บรรจุเข้าวาระ เข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่มิชอบทันที

วันนี้ (22 พ.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ประเภทสรรหา-ภาควิชาการ ให้ความเห็นต่อกรณีที่มี ส.ส.และ ส.ว.ยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่อประธานรัฐสภา เมื่อวานนี้ (21 พ.ค.) ว่า จากการที่ได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของ ส.ส.และ ส.ว.กลุ่มนี้ พบว่าเป็นร่างเดียวกับที่คณะกรรมการประชาชนเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (คปพร.) นำโดย นพ.เหวง โตจิราการ และนายจรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตแกนนำกลุ่ม นปก.เคยยื่นต่อรองประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 8 พ.ค.แล้วมีปัญหา โดยคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภา ซึ่งขณะนั้นปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภา ให้ความเห็นว่าไม่อาจบรรจุเข้าระเบียบวาระได้ เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อกันเสนอร่างกฎหมายของประชาชนใช้บังคับ กฎหมายฉบับเก่าปี 2542 ที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่ก็ไม่อาจนำมาปรับใช้ได้

“เป็นการก๊อบปี้มาทุกตัวอักษร เว้นวรรคเหมือนกัน ขึ้นบรรทัดใหม่เหมือนกัน พูดง่าย ๆ ว่าเหมือนถ่ายเอกสารมาเลย เพื่อแก้เกมที่รายชื่อประชาชน 50,000 ชื่อใช้ไม่ได้” นายคำนูณกล่าว

แต่แม้จะเปลี่ยนมาเป็นการเข้าชื่อกันของ ส.ส.และ ส.ว. นายคำนูณก็ยังคงเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้มีปัญหา ประธานรัฐสภาไม่อาจบรรจุเข้าระเบียบวาระได้ ด้วยเหตุผลหลักอย่างน้อย 2 ประเด็น

ประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับรูปแบบในการเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มีข้อพิจารณาว่า โดยหลักการแล้ว รูปแบบของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต้องแบ่งเป็นรายมาตรา และต้องมีบันทึกประกอบ (1) หลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (2) เหตุผลในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม โดยหลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้น จะต้องกำหนดโดยชัดแจ้ง การแก้ไขเพิ่มเติม หรือการยกเลิกมาตราใดของรัฐธรรมนูญ ให้ระบุมาตราที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกไว้ในหลักการ หรือจะระบุไว้ในเหตุผลด้วยก็ได้

แต่เมื่อได้มาพิจารณารูปแบบของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ มิได้เป็นไปตามหลักการดังกล่าว กล่าวคือ มีรูปแบบในการให้นำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้บังคับแทนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2550 โดยการยกเลิกชื่อหมวดตั้งแต่หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย จนถึงบทเฉพาะกาล (ตั้งแต่ มาตรา 26 ถึง มาตรา 309) และให้นำชื่อหมวดและบทบัญญัติในหมวดของรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้บังคับแทนทั้งหมด โดยเริ่มตั้งแต่หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย จนถึงบทเฉพาะกาล (ตั้งแต่ มาตรา 26 ถึง มาตรา 333) ดังนั้น รูปแบบดังกล่าว จึงมีลักษณะเป็นการให้นำบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้บังคับแทนรัฐธรรมนูญ 2550 โดยเริ่มตั้งแต่หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย จนถึงบทเฉพาะกาล ซึ่งเท่ากับเป็นการขัดหลักการในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ไม่เข้าตามองค์ประกอบรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 291

“ในความเห็นของผม หากเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิกมาตราใดของรัฐธรรมนูญแล้ว จะต้องมีการระบุมาตรา และเนื้อหาที่ต้องการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิก ไว้ในหลักการในแต่ละมาตราอย่างชัดเจน โดยเรียงตามลำดับหมวด และเป็นรายมาตราไปตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ใช่เขียนคลุม ๆ ไว้อย่างที่เห็น ใครอยากรู้ว่าผู้เสนอแก้ไขต้องการแก้ไขให้เป็นอย่างไรต้องไปหารัฐธรรมนูญ 2540 มาอ่านประกอบ”

นายคำนูณกล่าวว่า การเขียนหลักการคลุมๆ ไม่ชัดเจน และมีลักษณะเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับมากกว่าแก้ไขเพิ่มเติม นอกจากจะไม่ต้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 291 แล้วยังจะมีปัญหาต่อการแปรญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หากร่างฯ นี้ผ่านการลงมติเห็นชอบในวาระที่ 1 เพราะการขาดเนื้อหาและรายละเอียดในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม โดยเรียงตามลำดับหมวดและรายมาตรา จะทำให้สมาชิกรัฐสภาไม่สามารถที่จะเสนอคำแปรญัตติเพื่อขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นอย่างอื่นได้ หรือต่างไปจากร่างตามที่ ส.ส.และ ส.ว.กลุ่มนี้เสนอได้ เพราะหลักการในการแปรญัตติของสมาชิกรัฐสภานั้น การแปรญัตติเพิ่มมาตราขึ้นใหม่ หรือตัดทอน หรือแก้ไขมาตราเดิม จะต้องไม่ขัดกับหลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เว้นแต่การแก้ไขเพิ่มเติมมาตราที่เกี่ยวข้องกับหลักการนั้นๆ เท่านั้น

“ดังนั้น ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามรูปแบบที่ ส.ส.และ ส.ว.กลุ่มนี้เสนอมานั้น จึงเท่ากับเป็นการขัดกับหลักการในการเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ โดยเหตุที่หากสมาชิกรัฐสภาท่านใดมีความไม่เห็นด้วยในเนื้อหาของมาตราใดหรือในประเด็นใดแล้ว สมาชิกรัฐสภาก็ไม่สามารถที่จะแปรญัตติในเนื้อหาหรือรายละเอียดในแต่ละหมวด หรือในแต่ละมาตรา ให้มีความแตกต่างไปจากร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้เลย หากจะกระทำได้ก็แต่เพียงให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น”

นายคำนูณเห็นว่า ประธานรัฐสภาไม่น่าจะบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้เข้าสู่ระเบียบวาระได้ เพราะทั้งเนื้อหาและรูปแบบที่เสนอมานั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 291 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา หากยังขืนบรรจุเข้าระเบียบวาระ อาจเข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้

“นอกจากนั้น ที่ว่าจะนำหลักการรัฐธรรมนูญ 2540 และไม่แตะต้องรัฐธรรมนูญ 2550 หมวด 1 และหมวด 2 ก็ไม่จริง เพราะในร่างนี้ได้มีการแก้ไขให้บัญญัติว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งอยู่ในหมวด 1 และไม่เคยมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 หรือฉบับอื่นใดมาก่อน” นายคำนูณกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น