“หมอเหวง” บุกทำเนียบ เสนอร่าง 40 แก้ไข ประกบร่างรัฐบาล ท้านำ รธน.40 และ รธน.50 ทำประชามติให้ ปชช.เลือก สำทับค้าน รธน.ฉบับเผด็จการ ที่เกิดจากน้ำมือการรัฐประหาร
วันนี้ (7 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.เหวง โตจิราการ ตัวแทนจากคณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 (คปพร.) พร้อมคณะจำนวน 10 คน เดินทางเข้าพบ นายธีรพล นพรัมภา เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 2550 โดย นพ.เหวง กล่าวว่า คปพร.ได้ยกร่างนี้ขึ้นเตรียมเสนอต่อประธานสภา และประธานวุฒิสภา ในวันที่ 8 พ.ค.เวลา 09.30 น.พร้อมนำรายชื่อประชาชนที่ให้การสนับสนุน 150,000 ชื่อ แนบไปด้วย ทั้งนี้เราต้องการให้ทางสภานำร่างแก้ไข ที่เรียกว่า ฉบับปี 40 แก้ไข ไปเป็นต้นร่าง เบื้องต้นได้หารือกับ ส.ส.และ ส.ว.จำนวนหนึ่งแล้ว และเขายินดีให้เราขยับจากการใช้ช่องทางประชาชนไปสู่การใช้มาตรา 291 ในการพิจารณา และในระหว่างที่สภาได้รับไว้พิจารณา ก็ขอให้รัฐบาลใจกว้าง นำร่างฉบับนี้พร้อมกับรัฐธรรมนูญปี 50 ไปให้ประชาชนลงประชามติ ว่า จะเอาฉบับใด จากนั้นจะนำผลประชามติไปยื่นต่อรัฐสภา ซึ่งจะทำให้ไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น และยืนยันว่า ในการเคลื่อนไหวไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับพรรรคพลังประชาชน เพราะเรามีความชัดเจนมาโดยตลอด ว่า ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญปี 50 ตั้งแต่การตั้งสมัชชาแห่งชาติเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญปี 50 เพราะเห็นว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ปกป้องรัฐประหาร เผด็จการและทรราช อีกทั้งมาตราที่แก้ไขไม่ได้มุ่งเน้นที่มาตรา 309 หรือ 237 และที่ผ่านมา ตนก็ไม่เคยไปพูดจาแลกเปลี่ยนความเห็นกับพรรคพลังประชาชนเลย ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่ต้องแก้ไขแน่นอนในรัฐธรรมนูญปี 40 คือ ต้องทำให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งรัฐธรรมนูญต้องเปิดโอกาสมีการตรวจสอบอภิปรายรัฐบาลได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ จากที่ตนลงพื้นที่รับฟังความเห็นจากประชาชนทั่วทุกภาค ก็มีความเห็นตรงกันว่าต้องการให้บรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไว้ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ที่ คปพร.นำมามอบให้รัฐบาลนั้น ได้เสนอให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 50 ตั้งแต่หมวด 3-12 และนำรัฐธรรมนูญปี 40 มาใช้ทั้งหมด ทั้งนี้ ได้มีการเสนอประเด็นที่สมควรแก้ไขเพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญ เช่น ให้แก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 38 โดยให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ และย่อมมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือการปฏิบัติตามศาสนาตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมือง และไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ให้มีการแก้ไขจำนวน ส.ส.ที่จะเข้าชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ต้องมีจำนวน ส.ส.ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้า และให้การเข้าชื่อเพื่อเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลให้มีจำนวน ส.ส.ไม่น้อยกว่าหนึ่งในหก ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และให้การอภิปรายรัฐบาลให้ทำได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังมีบทเฉพาะกาลที่นาสนใจ คือ กำหนดให้บรรดา คำสั่ง กฎ หรือการใดที่กระทำโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) หรือสืบเนื่องจากประกาศ คำสั่ง กฎ หรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดย คปค.ที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ 50 ที่ได้มีการแก้ไขแล้ว เป็นอันใช้บังคับไม่ได้