“สุริยะใส” ยันพันธมิตรฯ จุดยืนเดิมชุมนุมต้านแก้ รธน.ฟอกผิด ย้ำไม่ว่าร่างแก้ไขจะมาจากกลุ่ม นปช.หรือ ส.ส.พปช.ก็ตาม แต่เป้าหมายเดียวกัน หวังยืมมือประชาชนฟอกตัว “แม้ว”
วันนี้ (9 พ.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า ตนได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าเกมรื้อรัฐธรรมนูญเพื่อฟอกผิดให้กับระบอบทักษิณที่ถูกสังคมต่อต้านก่อนหน้านี้ จนรัฐบาลกล้าๆ กลัวๆ โยนให้เป็นเรื่องของสภา กับเครือข่าย นปช. และชมรมคนรักทักษิณ ฉะนั้น จึงมีการเคลื่อนไหวคู่ขนานมาล่วงหน้า โดยให้กลุ่ม นปช.และเครือข่ายชมรมคนรักทักษิณ ล่ารายชื่อประชาชนตามพื้นที่หัวคะแนนของพรรคพลังประชาชนมาเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องตรวจสอบอีกทีว่าเป็นการล่ารายชื่อแบบหางว่าว หรือเป็นแบบฟอร์มตามกฎหมาย เพราะอาจเป็นโมฆะได้
วิธีการแบบนี้คงตบตาประชาชนไม่ได้ ซ้ำร้ายสังคมและสื่อมวลชนต่างก็รู้ดีว่ากลุ่มคนดังกล่าวเป็นเครือข่าย นปก.เดิม และเป็นกลุ่มคนรักทักษิณอย่างชัดแจ้ง การยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อฟอกผิดตนเองของระบอบทักษิณโดยยืมมือประชาชนบางกลุ่มในขณะนี้ เชื่อว่ายิ่งจะทำให้กระแสต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญรุนแรงขึ้น
นายสุริยะใส กล่าวว่า จุดยืนพันธมิตรฯ ไม่เปลี่ยนแปลง เรายังยืนยันว่า ถ้าสภาแห่งนี้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 237 และ มาตรา 309 โดยหวังตัดตอนความผิดของตนเอง พันธมิตรฯ จะคัดค้านทุกรูปแบบ ทั้งการเข้าชื่อถอดถอน และการชุมนุมใหญ่ ไม่ว่าญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมาจากประชาชนที่อ้างว่ามี 1.5 แสนรายชื่อ หรือร่างแก้ไขที่เสนอโดยพรรคพลังประชาชนก็ตาม เพราะทั้งสองร่างฯ มีที่มาและจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ ล้มมาตรา 237 และมาตรา 309
ถ้ากลุ่มประชาชนที่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญดำเนินการด้วยความบริสุทธิ์ใจจริง ไม่มีวาระซ่อนเร้น ทำไมไม่ยื่นแก้ไขมาตรา 291 เพื่อให้มีกระบวนการประชามติสอบถามความเห็นประชาชนว่าควรแก้ไขรัฐธรรรมนูญหรือไม่ ถ้าผลประชามติต้องแก้ก็ควรให้มีการจัดตั้ง ส.ส.ร.3 ขึ้นมา
นายสุริยะใส กล่าวอีกว่า ที่น่าแปลกใจก็คือ มีความพยายามจะนำเรื่องศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติขึ้นมาอีก ทั้งที่พระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงตรัสไว้ช่วงก่อนลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ว่า ไม่เห็นด้วยกับการบัญญัติศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ จนกลุ่มที่ชุมนุมหน้าสภา ตอนนั้นสนองพระราชดำรัสยุติการชุมนุมต้านรัฐธรรมนูญ แต่วันนี้กลับนำมาเป็นประเด็นอีก
แม้พันธมิตรฯ จะไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้ก็ตาม แต่เราก็พร้อมถอยก้าวหนึ่งให้กับความเห็นที่แตกต่าง โดยเสนอให้มีการลงประชามติสอบถามความเห็นจากประชาชนก่อน มติออกมาอย่างไรพวกเราก็พร้อมยอมรับ ซึ่งข้อเสนอของพันธมิตรฯ เป็นธรรมที่สุดต่อทุกฝ่าย
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้พันธมิตรฯ ได้มีการหารือเป็นการภายในเห็นว่าสถานการณ์วิกฤต เศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง ข้าวยากหมากแพงกำลังขยายวง ความแตกแยกก่อตัวมากขึ้น ประกอบกับปัญหาการคอร์รัปชันทางโยบายของรัฐบาลกำลังเกิดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งคงเป็นการเร่งถอนทุนเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ประเด็นนี้พันธมิตรฯ จำเป็นต้องเครื่อนไหวเปิดโปงให้สังคมได้รับรู้ในเร็วๆ นี้ โดยวันพุธหน้าจะมีการประชุมแกนนำและแถลงท่าทีอย่างเป็นทางการ