xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ทองแท้ ไม่หวั่นตรวจสอบแต่ข้องใจอำนาจ DSI

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาฯกกต.
กกต.ดื้อแพ่งไม่ส่งหลักฐานฮั้วบัตรเลือกตั้งให้ดีเอสไอ ระบุยังข้องใจในอำนาจ เสียงแข็งไม่ได้กลัวตรวจสอบ แต่ถือเป็นสิทธิ์ที่ต้องโต้แย้ง

วันนี้ (6 พ.ค.) นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีที่ กกต.มีมติให้สำนักกฎหมายและคดีของ กกต.ตรวจสอบ ว่า ดีเอสไอมีอำนาจในการตรวจสอบการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งได้หรือไม่ ว่า สำนักกฎหมายและคดี ได้ส่งหนังสือรายงานความคืบหน้ากรณีที่ดีเอสไอร้องขอให้ กกต.ส่งเอกสารสัญญาการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งไปให้กับดีเอสไอ รวมถึงอำนาจหน้าที่ของดีเอสไอในการตรวจสอบการฮั้วจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง

โดยเบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่เห็นว่า กกต.ไม่สมควรส่งเอกสารดังกล่าวให้กับดีเอสไอ ซึ่งตนจะเซ็นต์หนังสือตามมติของ กกต.ส่งไปยังดีเอสไอ เพื่อแจ้งให้ทราบภายในวันนี้ ทั้งนี้ ยังจะทำการประสานกับดีเอสไอเพื่อขอความร่วมมือในการให้ข่าวที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง และไม่ถูกตามหลักกฎหมาย เพราะตามปกติแล้วหน่วยงานที่มีหน้าที่สอบสวนเกี่ยวกับหน่วยงานอื่น จะไม่มีการให้สัมภาษณ์ในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับองค์กรที่กำลังถูกตรวจสอบอยู่

ส่วนกรณีที่รักษาการอธิบดีดีเอสไอ ปฏิเสธการเข้าชี้แจงเรื่องอำนาจของดีเอสไอ กับ กกต. นั้น นายสุทธิพล กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องพิจารณาอีกครั้ง แต่เบื้องต้นจะมีการประสานงานเป็นการภายในกับดีเอสไอ เพื่อไม่ให้ทั้งสององค์กรตอบโต้กัน อย่างไรก็ตาม การที่ กกต.บอกว่า ดีเอสไอไม่มีอำนาจในการตรวจสอบการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ก็ไม่ใช่เป็นการตั้งแง่ หรือกลัวที่จะถูกตรวจสอบ แม้อำนาจของดีเอสไอจะมีตามกฎหมาย แต่ กกต.ในฐานะที่ถูกตรวจสอบก็มีสิทธิ์โดยชอบตามกฎหมาย ว่า องค์กรที่จะมาตรวจสอบ กกต.นั้น มีอำนาจตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้จะต้องดูอย่างละเอียดรอบคอบ เพราะเป็นเรื่องระหว่างองค์กรบริหารกับองค์กรอิสระ หากองค์กรบริหารมีการแทรกแซงองค์กรอิสระได้แล้ว จากนี้ก็จะเข้าไปแทรกแซงองค์กรอิสระองค์กรอื่นได้อีกเช่นกัน

เมื่อถามว่า ทั้งสองหน่วยงานยังเกี่ยงกันเรื่องอำนาจการตรวจสอบ จะให้หน่วยงานไหนเป็นผู้ชี้ขาดเรื่องอำนาจหรือไม่ นายสุทธิพล กล่าวว่า โดยระบบ พ.ร.บ.การสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษจะต้องเสนอให้กับคณะกรรมการคดีพิเศษพิจารณา ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่ กกต. ก็ได้ แต่โต้แย้งให้เป็นประเด็นเพื่อให้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบทั้งสองฝ่าย

“คิดว่าจุดมุ่งหมายทั้งดีเอสไอ และ กกต.มีจุดมุ่งหมายเหมือนกัน คือ ต้องการจัดการคดีทุจริตเลือกตั้ง แต่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายเรื่องดังกล่าวถือเป็นอำนาจของ กกต.และ กกต.ก็ไม่ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น ก็ควรจะปล่อยให้ กกต.ดำเนินการต่อไป ส่วนกรณีฮั้วก็เป็นเรื่องของ สตง.และ ป.ป.ช.ก็ควรปล่อยให้ทั้งสององค์กรดำเนินต่อไป แต่ถ้าดีเอสไอเข้าใจว่าตนเองมีอำนาจ ก็ขอให้ไปทบทวนเรื่องวงเงินของสัญญาแต่ละฉบับ และบัตรเลือกตั้งที่แยกกันอย่างชัดเจน หากหลังจากนี้ ดีเอสไอจะประสานงานกันทาง กกต.ก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ” นายสุทธิพล กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น