xs
xsm
sm
md
lg

สื่อวิพากษ์ “หมัก” เดือดชี้บิดเบือนไม่เปลี่ยน เตือนอย่าคาดหวัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สื่อตั้งวงวิพากษ์ “หมัก” เดือด ชี้พฤติกรรมไม่เคยเปลี่ยนสิบปี สามสิบปีก่อนเป็นอย่างไรปัจจุบันก็ยังเป็นอย่างนั้น สามหาว-บิดเบือน-ใช้อำนาจอย่างไรก็ยังเหมือนเดิม เตือนประชาชนอย่าคาดหวังกับรัฐบาลชุดนี้

วันนี้ (3 พ.ค.) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้มีการอภิปรายใน “วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก” ในหัวข้อ “เสรีสื่อ เสรีประชาชน” โดยมี น.ส.นาตยา เชษฐโชติรส นายกสมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวเปิดการอภิปรายว่า สื่อมวลชนต้องมีเสรีภาพในการเสนอข้อมูลข่าวสาร คือ ประชาชนต้องมีเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูล ขณะเดียวกันได้ยกตัวอย่างกรณี นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีใช้ถ้อยคำต่อนักข่าวที่รุนแรง โดยไม่คำนึงถึงความชอบธรรม ดังนั้น การใช้อำนาจหรือการคุกคามใดๆ จึงเป็นเหตุคุกคามสื่อด้วย

นายกสมาคมนักข่าวฯ กล่าวว่า ด้วยจุดประสงค์ดังกล่าวจึงได้จัดทำการวิจัย เรื่อง “(วิ) วาทกรรมนายกฯ สมัครกับสื่อ” เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสัญญาณอันอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในอนคตได้ ด้วยเหตุนี้ในฐานะที่เป็นนายกสมาคมนักข่าวฯ จึงหวังว่าสื่อมวลชนจะรวมพลังกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อรักษาเสรีภาพให้คงอยู่เคียงคู่มวลชนสืบต่อไป

จากนั้นได้มีการอ่านแถลงผลการวิจัย การศึกษารอบพิเศษเรื่อง(วิ)วาทกรรม สมัครกับสื่อประกอบการอภิปรายด้วย

น.ส.บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์ อุปนายกฝ่ายบริหาร สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าในฐานะที่ตนเกิดทันเหตุการณ์สำคัญๆ ที่มี นายสมัคร เข้ามาเกี่ยวข้องโดยพฤติกรรมมีลักษณะสื่อสารสองทางให้เป็นทางดียว ข่มขู่ เบียงเบนประเด็นอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นไม่อยากให้คาดหวังกับรัฐบาลชุดนี้ที่นำโดยนายสมัคร เพราะมองว่าเป็นพฤติกรรมดั้งเดิม

จากนั้นได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมฟังรายการแสดงความคิดเห็น มีทนายความ ออกมาแสดงความเห็นว่า ไม่ได้มีความคิดที่จะอยากดูรายการสนทนาประสาสมัครทางโทรทัศน์เอ็นบีที แต่จำเป็นต้องดูเพราะหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อติดตามข่าวสารบ้านเมือง

นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ย้อนพฤติกรรมของนายสมัครที่มีต่อสื่อ โดยได้เล่าถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 ที่ได้ทำการปิดกั้นสื่อและใช้อำนาจที่มีอยู่ต่อรอง บีบบังคับให้สื่อถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารแต่ด้านที่ดีของตน อันส่อให้เห็นอนาคตที่ปัจจุบันมีตำแหน่งหน้าที่ใหญ่ที่สุดในสถาบันการเมืองย่อมอาจจะนำมาซึ่งนิสัยเดิมๆ ได้

จากนั้นมีการอภิปรายในหัวข้อ “วิวาทกรรม สมัครกับสื่อ” โดยมีวิทยากรเข้าร่วมหลายคน ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการ โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะสังคม กล่าวว่า การจัดเสวนาดังกล่าวไม่ได้เป็นการจัดแสดงความคิดเห็นเชิงอคติ กับ นายสมัคร แต่อยากให้มองว่า ปัจจุบันนายสมัคร ผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ เป็นอย่างนี้ แล้วอนาคตจะเป็นอย่างไร ซึ่งการทำวิจัยดังกล่าวเพียงแต่ต้องการสะท้อนให้เห็นภาพลักษณ์ ทัศนคติ ที่พึงควรเคารพต่อสื่อมวลชน กล่าวคือรัฐบาล ต้องให้เกียรติสื่อในฐานะที่เป็นตัวแทนของประชาชนในการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสาร เพราะการตอบคำถามของนายกฯ เป็นการตอบให้ประชาชนทั้งประเทศที่เฝ้ามองดูอยู่ฟัง ไม่ใช่เป็นเพียงสนทนาระหว่างนายกฯ กับสื่อเท่านั้น

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสนวิวัฒน์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองภาพกว้างๆออกเป็น 1.ด้านเอกลักษณ์ความเป็นตัวตนของนายสมัคร ที่มักตอบคำถามไม่ตรงกับคำถาม ว่าอาจเป็นเพราะท่านอยู่ในทวิภาคของพรรคพลังประชาชน ซึ่งบางครั้งไม่สามารถตอบคำถามได้ 2. ด้านภาพลักษณ์ มีอำนาจการต่อรองน้อย เปรียบได้กับรัฐบาลยุคเกษตร ในขณะที่ปัจจุบันโลกได้เจริญก้าวหน้าถึงยุคไอทีแล้ว อันเป็นสาเหตุให้การตอบคำถามไม่ตรงกับคำถาม 3. ค่านิยมในสังคม ในลักษณะที่มักบอกปัดไม่ตอบคำถาม อันจะนำไปสู่พฤติการของความไม่โปร่งใส ซึ่งจะก่อให้เกิดการไม่รับรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด อันจะนำไปสู่การแยกพวกและเป็นเหตุให้ก้าวสู่ความรุนแรงได้

และ 4.การเมืองและเศรษฐกิจ 4.1 มองว่าการทำงานของรัฐบาลเป็นลักษณะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไม่ได้มองถึงอนาคต 4.2 การแยกข้างของคณะรัฐบาล เป็นสาเหตุนำไปสู่การแยกข้างของประชาชนด้วย 4.3 มีลักษณะเป็นการดึงพรรคพวก พี่น้องให้คอร์รับชั่น โดยอาศัยอำนาจที่มีอยู่ในทางมิชอบ โดยเปรียบเที่ยบการกระทำของรัฐบาลที่คอยแก้กฎหมายให้ตนพ้นผิด เสมือนกับการเล่นฟุตบอลที่ไม่มีกรรมการ

แพทย์หญิงพรรณพิมล หล่อตระกูล จิตแพทย์ ประจำสถาบันราชานุกูล มองว่า 1.ในด้านทัศนะความน่าเชื่อถือที่มีต่อนายกฯ บ่งบอกถึงความไม่เป็นกลาง โดยดูจากคำพูดที่แสดงออกมา 2. พยายามใช้พฤติกรรมบางอย่าง ที่ทำให้เกิดจากปฎิกริยาที่จะออกจากสถานการณ์ที่ตนเองกลัว หรือกำลังจะควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ จึงนำไปสู่การโต้กลับคำวิจารณ์

แพทย์หญิงพรรณพิมล ติงนายกฯ ว่า กำลังมองข้ามขณะที่ให้สัมภาษณ์ว่าเป็นเพียงสนทนากับสื่อ แต่ที่จริงกำลังสื่อสารกับประชาชน เพราะประชาชนจะสื่อสารกับนายกฯ ได้ก็โดยการอาศัยสื่อเป็นเครื่องมือ พร้อมกันนี้ยังได้ฝากบอกถึงนายกฯ ว่า “เราเป็นคนสร้างภาพของเราให้ปรากฏต่อสังคม ไม่ใช่สื่อมวลชนเป็นคนสร้างภาพ”

จากนั้นได้มีสื่อมวลชนตั้งคำถามว่า จะทำอย่างไรกับสภานการณ์ขณะนี้ที่ให้ข้อมูลเชิงลบ อันทำลายความเชื่อมั่นทางการเมือง ซึ่งไม่สามารถคาดการอะไรได้กับการเมือง โดยแพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับตัวผู้ของท่านผู้นำว่าจะนำไปใช้หรือไม่ โดยให้คิดว่ากำลังสื่อสารกับประชาชน อย่าบิดเบือน พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่า การที่เป็นถึงผู้นำหรือผู้ปกครองไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่ทำไปแล้วนั้นจะถูกต้องเสมอไป ควรมีการลงโทษด้วยเมื่อมีการกระทำผิด

นายบุญเลิศ คชายุทธเดช ตัวแทนหนังสือพิมพ์มติชน กล่าวว่า การที่นายสมัครมีนิสัยอย่างที่เป็นอยู่ไม่ใช่เรื่องแปลก จากที่เคยเป็นอยู่เดิมซึ่งชอบพูดโผงผาง พร้อมทั้งได้ยกตัวอย่างหนังสือที่นายสมัครเคยเขียนประกาศให้สังคมได้รับรู้ว่าหนังสือพิมพ์เป็นคนละพวกกันตน เมื่อปี 2520 เรื่อง “สันดานหนังสือพิมพ์” ซึ่งมักนิยมใช้ภาษาที่ชาวบ้านเขาพูดกัน เช่น คำว่า “ไอ้” “มัน” ซึ่งในปัจจุบันอายุมากขึ้นอันอาจเป็นสาเหตุให้มีการนำเอาคำหยาบคายมาใช้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม นายบุญเลิศได้มองว่า การที่นายสมัครมีนิสัยดังกล่าวยังมีข้อดี คือ เป็นการอนุรักษ์คำไทย และทำให้คนไทยหูตาสว่าง ขณะเดียวกัน ในพวกที่เป็นฝ่ายเดียวกันจะได้เกิดความรู้สึกสะใจที่ตัวแทนของตนตอกกลับฝ่ายตรงข้ามอย่างเมามัน และมองในแง่ลบว่าการพูดจาอย่างนั้นผ่านสื่อซึ่งมี เด็กนักเรียน พระสงฆ์ดูอยู่จะรู้สึกอย่างไรในฐานะที่เป็นผู้นำของประเทศ รวมถึงเสื่อมเสียภาพลักษณ์มุมมองที่บุคคลภายนอกมองนักการเมือง

นายบุญเลิศ กล่าวว่า นายกฯ ยังไม่เข้าใจถึงหน้าที่ เมื่อเป็นผู้นำการเมือง มีอำนาจ จะต้องมีจริยธรรมควบคู่กันไปด้วย เช่นการให้สัมภาษสื่อต้องให้รู้ว่าสื่อถึงแม้จะเป็นเด็กรุ่นลูก แต่ก็มีหน้าที่ในฐานะตัวแทนในการถ่ายทอดข่าวสารให้ประชาชนทั้งประเทศ พร้อมกันนี้ยังฝากคำคมทิ้งท้ายถึงนายกฯ ให้คิดเสมอว่า “เราจะกลับตัวอย่างไร ไม่ใช่เราจะแก้ตัวอย่างไร”

/0110

กำลังโหลดความคิดเห็น