xs
xsm
sm
md
lg

“ยามฯ” ติง “เพ็ญ” ดูเบาเสื้อหมิ่นฯ โผล่จอ - หลักฐาน “ดวง” ถูกปลด/ถอดยศฉีกหน้า “เหลิม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายการยามเฝ้าแผ่นดินดำเนินรายการโดยปานเทพ พัวพงษ์พันธ์นักวิชาการอิสระและสโรชา พรอุดมศักดิ์
“ยามเฝ้าแผ่นดิน” จวกรัฐเมินแก้ข้าว-น้ำตาลแพง มุ่งแต่จะล้ม รธน.เพื่อตัวเอง จับไต๋ “จักรภพ” คือ “กาหลิบ”เขียนเหน็บแนม “ปีย์ มาลากุล” ติงดูเบาเสื้อรณรงค์ “ไม่ยืน” โผล่เอ็นบีที แฉคนใส่อยู่ในเครือข่าย นปก. บี้ “นพดล” เตือนแมนฯ ซิตี ทำธงหมิ่นชาติ อย่ามัวแต่ปกป้อง ชี้หลักฐานเจ้ากรมกำลังพลฯ ยัน “ลูกดวง” ถูกปลด-ถอดยศ ฉีกหน้า “เหลิม”

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ ยามเฝ้าแผ่นดิน โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, สโรชา พรอุดมศักดิ์  ช่วงที่ 1

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ ยามเฝ้าแผ่นดิน โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, สโรชา พรอุดมศักดิ์ ช่วงที่ 2


รายการ “ยามเฝ้าแผ่นดิน” ออกอากาศทางเอเอสทีวี คืนวันที่ 30 เมษายน นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ นักวิชาการอิสระ และนางสาวสโรชา พรอุดมศักดิ์ ร่วมดำเนินรายการ โดยในช่วงแรก ได้กล่าวถึงปัญหาหลังการประกาศปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายว่า ทำให้เกิดการกักตุนน้ำตาลทราย มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่โรงงานผลิตน้ำตาลจะมีอิทธิพลกับรัฐบาล นายกรัฐมนตรีต้องลงมาตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกักตุนน้ำตาลทราย หรือจะเป็นการกักตุนข้าว ใครได้ประโยชน์เสียประโยชน์ แต่ที่แน่ๆ ผู้ที่เดือดร้อนในเวลานี้กลายเป็นเกษตรกร

ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะมาประกาศขึ้นราคาน้ำตาลทราย เนื่องจากสภาวะการผลิตน้ำตาลทรายในวันนี้ยังไม่ถึงขั้นขาดแคลน มีผลผลิตออกมาจำหน่ายต่อเนื่อง ผลประโยชน์จึงตกไปอยู่กับพ่อค้าโรงงานน้ำตาลทราย ที่กักตุนผลผลิตไว้ก่อนล่วงหน้าแล้ว ที่สำคัญเราเป็นประเทศผู้ผลิตอาหาร ผลิตข้าวและน้ำตาลได้อย่างพอเพียง ทำไมจะต้องกินข้าวแพง หรือน้ำตาลแพง เท่ากับตลาดโลก

ขณะเดียวกัน ในยามที่เกษตรกรเดือดร้อน รัฐบาลกลับคิดแต่จะแก้รัฐธรรมนูญ ยอมฉีกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเพื่อประโยชน์ของพวกพ้อง นอกจากนั้นก็พูดถึงแต่เรื่องธงชาติ เรื่องเอ็นบีที และด่าสื่อ

ผู้ดำเนินรายการ ยังกล่าวถึงคำให้สัมภาษณ์ของนายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีว่า ทำให้รู้แล้วคนที่ใช้นามปากกา “กาหลิบ” เขียนคอลัมน์วิพากษ์วิจารณ์นายปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา ในหนังสือพิมพ์โลกวันนี้ เป็นนายจักรภพ คำพูดที่ว่า หัวหน้ากลุ่มประชาสัมพันธ์งานทำลายประเทศ ที่นายจักรภพ พูดมานั้น ก็มีแต่กาหลิบเท่านั้นที่ใช้ เขียนกระทบกระทั่งนายปีย์ ขณะเดียวกัน เมื่อเข้าสู่อำนาจก็เปิดช่องใช้เครือข่ายอย่างสถานีโทรทัศน์ NBT ปล่อยให้แขกรับเชิญสวมใส่เสื้อพิมพ์ที่บริเวณหน้าอก “ไม่ยืน ไม่ใช่อาชญากร คิดต่าง ไม่ใช่อาชญากรรม” มาออกรายการกรองสถานการณ์ ทั้งๆที่มาของเสื้อตัวนี้มีที่มาจากนายโชติศักดิ์ อ่อนสูง แกนนำกลุ่ม 19 กันยาต้านรัฐประหาร ซึ่งเป็นองค์กรแนวร่วมของ นปก.บุคคลที่ไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี จนถูกแจ้งความดำเนินคดีอยู่ในเวลานี้

ขณะเดียวกัน แขกรับเชิญที่มาออกสถานีโทรทัศน์ NBT ที่ใส่เสื้อดังกล่าว ไม่ใช่ใครอื่น คือ นางจิตรา คชเดช ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ที่ประกาศเป็นองค์กรแนวร่วมมีเป้าหมายโค่นล้มคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) มีความสนิทสนมกับแกนนำ นปก.

ดังนั้น นายจักรภพไม่ควรจะพูดแค่ว่าเป็นการแสดงสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานภายใต้กรอบประชาธิปไตย แต่นายจักรภพ ต้องรู้กฎกติกาของสังคม ไม่ใช่ปล่อยให้ใครก็ได้มาออกรายการโดยไม่มีการตรวจสอบ

ผู้ดำเนินรายการยังกล่าวถึงการเขียนคำว่า THAKSIN บนธงชาติไทย และนำไปติดอยู่บนฒจันทร์ในสนามซิตี้ออฟแมนเชสเตอร์ ของสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี ว่า ภาพในลักษณ์นี้เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ภาพดังกล่าวเคยปรากฏอยู่ในนิตยสารของสโมสร และงานเปิดตัวประธานสโมสร จึงไม่ใช่เป็นความบังเอิญ ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ฝีมือของชาวต่างชาติทำแน่ เนื่องจากถ้าคนต่างชาติเรียกชื่อ จะเรียกชื่อนามสกุล ไม่ใช่ THAKSIN แล้วหาก

นอกจากนี้ ผู้ดำเนินรายการ ยังมองว่า เป็นความจงใจที่จะนำธงผืนดังกล่าวมาติดไว้ เป็นความตั้งใจ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นซ้ำซาก ครั้งที่ เสวน โกรัน อีริกส์สัน ผู้จัดการทีมสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เดินทางมาเมืองไทยก็พบธงชาติไทยที่ถูกประทับด้วยตราโลโก้ของสโมสรจนถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม แต่ก็ยังมีความพยายามนำไปใช้อีกตามสถานที่ต่างๆ มันสอดคล้องกับความไม่ระมัดระวังอย่างจงใจของ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือไม่

นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตว่า คนที่ทำธงดังกล่าวไม่น่าจะเป็นคนอังกฤษ เพราะกระแสของแฟนสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี ขณะนี้ กำลังไม่พอใจ พ.ต.ท.ทักษิณที่กำลังจะปลดสเวน โกรัน อีริกส์สัน ผู้จัดการทีม ดังนั้น กลัวว่าความไม่ระมัดระวังจะกลับมาซ้ำรอยประวัติศาสตร์ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เคยเจอมา

นอกจากนี้ เชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ กำลังพยายามสร้างสัญลักษณ์อะไรบางอย่างทางการเมืองเพื่อพูดกับชาวโลกหรือไม่ รัฐบาลต้องดำเนินการ อย่าปกป้อง โดยเฉพาะ นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ควรจะเตือนไปยังสโมสรดังกล่าว ไม่ใช่คอยปกป้อง แก้ตัวว่าคงไม่ใช่อย่างนั้น คงไม่ใช่อย่างนี้ นายนพดลต้องวางบทบาทของตัวเองให้เหมาะสมและถูกต้องด้วย

**แฉ “ลูกดวง” ถูกปฏิเสธเขารับราชการ-ยันหลักฐานถูกปลด/ถอดยศ

ในช่วงที่ 2 ผู้ดำเนินรายการ กล่าวถึงการคืนยศทหารให้กับนายดวง อยู่บำรุง บุตรชายของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย ว่า ถ้าฟังจากคำอภิปรายของ ร.ต.อ.เฉลิมในสภาที่บอกว่านายดวงไม่ได้หนีทหาร แต่หนีตำรวจ เพราะขณะนั้นได้ถูกสั่งพักราชการแล้ว และถูกกล่าวหาว่าฆ่าคนตาย (ฆ่า ด.ต.วิชัย รอดวิมุต หรือดาบยิ้ม เหตุเกิดเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2544) จึงต้องหนีไป ทางกระทรวงกลาโหมจึงสั่งพักราชการหลังเกิดเหตุเพียง 5 วัน และไม่ต้องไปทำงาน จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ก็จะดูเหมือนว่า นายดวงแค่ถูกสั่งพักราชการเฉยๆ และขณะนี้กระทรวงกลาโหมมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงแล้วคือให้นายดวงกลับเข้ารับราชการ

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมีหลักฐานว่า นายดวงเคยขอกลับเข้ารับราชการเมื่อปี 2550 และ พล.อ.ท.ดนัย นันทะศิริ เจ้ากรมกำลังพลทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด มีหนังสือที่ กห 0302/2401 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2550 แจ้งผลการขอกลับเข้ารับราชการไปยังนายดวงว่า หลังจากกรมกรมกำลังพลทหารได้ตรวจสอบแล้ว พบว่ากระทรวงกลาโหมให้ปลดนายดวงออกจากราชการเนื่องจากกระทำความผิดฐานต้องหาคดีอาญาแล้วหลบหนีไป และถอดออกจากยศทหารแล้ว ทั้งนี้เป็นไปตามมติสภากลาโหม ครั้งที่ 3/07 เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2507 และตามระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยผู้ซึ่งไม่สมควรจะดำรงอยู่ในยศทหารและบรรดาศักดิ์ พุทธศักราช 2507 ข้อ 2.7 ด้วยผลของคำสั่งดังกล่าวถือว่านายดวงไม่ได้อยู่ในระหว่างการพักราชการจึงไม่สามารถดำเนินการในเรื่องการขอกลับเข้ารับราชการตาม ข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการทหารพักราชการ พุทธศักราช 2528 ได้

ผู้ดำเนินรายการ กล่าวต่อว่า จากหนังสือของเจ้ากรมกำลังพลทหารดังกล่าว ทำให้มีคำถามว่า ตามที่ ร.ต.อ.เฉลิม อ้างว่านายดวงแค่ถูกสั่งพักราชการ ไม่ได้ถูกปลดออกจากราชการนั้น เป็นความจริงหรือไม่ ซึ่งหากย้อนไปดูข่าวพักราชการ ใช่หรือเปล่า มีปลดออกจากราชการและถอดยศหรือไม่

ซึ่งหากย้อนไปอ่านข่าวเก่า จะพบว่า พล.ท.พิษณุ อุไรเลิศ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารในขณะนั้นได้ให้สัมภาษณ์ว่า กรณีของนายดวงมิได้มีการเป็นการพักราชการเพราะขาดราชการเกิน 7 วัน หรือ 15 วันตามที่เข้าใจ แต่กรณีนี้ถือว่าเป็นการขัดขืนคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่ไม่มารายการตัวตามคำสั่ง ดังนั้น คำชี้แจงของ ร.ต.อ.เฉลิม ที่ว่านายดวงขาดราชการแค่ 5 วัน แล้วถูกสั่งพักราชการจึงไม่ใช่ความจริงทั้งหมด

ทั้งนี้ ตามคำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ 881/2544 ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2544 ได้สั่งปลด ว่าที่ ร.ต.ดวงเฉลิม (ชื่อขณะนั้น) ออกจากราชการ เนื่องจากกระทำความผิดฐานต้องหาในคดีอาญาแล้วหลบหนีไป ดังนั้นคำสั่งพักราชการนายดวง 5 วันหลังเกิดเหตุมีจริง แต่หลังจากหนีไปครบ 15 วัน ก็มีการปลดนายดวงออกจากราชการ นอกจากนั้น ต่อมากระทรวงกลาโหมมีคำสั่งที่ 882/2544 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2544 ถอดนายดวง ออกจากยศทหาร เนื่องจากต้องคดีอาญาแล้วหลบหนีไป ลงนามโดย พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมช.กลาโหม รักษาการ รมว.กลาโหม จึงเท่ากับว่านายดวงนั้นทั้งถูกสั่งปลดและถอดยศ การที่ ร.ต.อ.เฉลิมอ้างว่าแค่ถูกสั่งพักราชการ แสดงว่าเป็นการเข้าใจผิด

นอกจากนี้ยังมี ระเบียบกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยผู้ซึ่งไม่ควรดำรงอยู่ในยศทกหารและบรรดาศักดิ์ ข้อ 2.7 ระบุว่า เป็นต้องหาในคดีอาญาแล้วหลบหนีไป ซึ่งแค่ตกเป็นผู้ต้องหาแล้วหนี แม้ว่าคดียังไม่สิ้นสุด ก็ถือว่าไม่ควรอยู่ในยศทหารแล้ว

ขณะที่ ระเบียบกลาโหมว่าด้วยการบรรจุข้าราชการเข้ารับราชการในกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2529 ในข้อ 9 ระบุบุคคลที่เคยรับราชการ ซึ่งได้ออกจากราชการไปแล้ว หากประสงค์จะกลับเข้ารับราชการ ต้องมีคุณสมบัติ มีความประพฤติเรียบร้อย ไม่เป็นผู้ออกจากราชการมาจากส่วนราชการใดๆ ตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป หรือออกจากราชการโดยเหตุที่มีความบกพร่องในศีลธรรม หรือ มีมลทินมัวหมองในทางที่ทำให้ราชการเสียหาย

ดังนั้น การที่ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมเซ็นอนุมัติให้นายดวงกลับเข้ามารับราชการได้ ทั้งที่เจ้ากรมกำลังพลทหารได้ปฏิเสธไปแล้ว จึงเป็นเรื่องที่สังคมสงสัยว่าเป็นการใช้อำนาจรัฐมนตรีเพื่อญาติพี่น้องหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมอาจตอบไม่ได้เพราะไม่ได้เป็น รมว.กลาโหม แต่นายสมัครต้องพิจารณาว่าจะใช้หลักเกณฑ์ข้อไหนในการรับนายดวงกลับเข้ารับราชการ เพราะคนที่อยากเป็นทหารก็มีอยู่มาก คนที่ถูกออจากราชการเพราะหนีไป ก็อยากกลับเข้ามา โดยใช้มาตรฐานเดียวกัน

ในช่วงท้าย ผู้ดำเนินรายการกล่าวถึงการลาออกจากตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรของนายยงยุทธ ติยะไพรัช ว่าเป็นการลาออกที่มีเงื่อนงำ เพราะถ้ายังอยู่ในตำแหน่งนายยงยุทธก็ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้เนื่องจากถูกใบแดง เมื่อมีการประชุมร่วมของทั้ง 2 สภาจะต้องให้นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ควบคุมการประชุมแทน ซึ่งพรรคพลังประชาชนจะไม่สามารถคุมเกมได้ นายยงยุทธจึงต้องลาออกเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนฯ คนใหม่ ซึ่งก็จะได้คนของพรรคพลังประชาชนมาเหมือนเดิม และสามารถควบคุมการประชุมรัฐสภาได้

คลิกที่นี่ เพื่อชมวิดีโอคลิป
รายการยามเฝ้าแผ่นดิน ช่วงที่ 1

( 56 k ) | ( 256 K )



คลิกที่นี่ เพื่อชมวิดีโอคลิป
รายการยามเฝ้าแผ่นดิน ช่วงที่ 2

( 56 k ) | ( 256 K )



กำลังโหลดความคิดเห็น