“เพื่อแผ่นดิน” ยอมแก้ รธน.ทั้งฉบับ ไม่ทบทวนสัญญาประชาคมแก้ รธน.ฉบับฟอกมาร แบไต๋ขอร่วมสังฆกรรม “แม้ว” อ้าง “สุวิทย์” เห็นดีด้วย ค้าน ไม่ตั้ง ส.ส.ร.3 เหตุขั้นตอนจุกจิกเกินไป
วันนี้ (28 เม.ย.) นายไชยยศ จิรเมธากร โฆษกพรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าวภายหลังการประชุมกรรมการบริหารพรรค ว่า วันนี้ พรรคเพื่อแผ่นดิน ยังไม่มีมติที่ชัดเจน เพราะเห็นว่าจะมีการนัดหมายหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลมาพูดคุยกัน จึงขอรอส่วนนั้นก่อน และทางพรรคพลังประชาชนยังไม่ได้กำหนดว่าจะยื่นร่างรัฐธรรมนูญเมื่อไหร แต่จากการศึกษาพรรคเพื่อแผ่นดิน เห็นว่า เราควรสนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะการแก้ทั้งฉบับเป็นสิ่งที่พรรคเพื่อแผ่นดิน เคยนำเสนอมาก่อน เมื่อได้รับการสนับสนุนก็พร้อมเข้าร่วม แต่ตอนนี้พรรคขอสงวนความเห็นแต่ละมาตราเอาไว้ก่อน
“ตัวร่างนี้ยังไม่เป็นที่สุด เพราะต้องนำเอาความเห็นแต่ละพรรคมาหารือว่าควรจะต้องมีการปรับปรุงอย่างไรบ้าง ถ้าเสนอไม่ทันในวาระการประชุมสภาก็สามารถแก้ไขในชั้นคณะกรรมาธิการต่อไป” นายไชยยศ กล่าว
เมื่อถามว่า พรรคประชาธิปัตย์ ได้มีการเรียกร้องให้ทบทวนการเข้าร่วมรัฐบาล นายไชยยศ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญไม่ว่าปีไหนมีทั้งดีและเสีย เมื่อมีโอกาสแก้ไขกับพรรคแกนนำรัฐบาล ก็ต้องทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด และเรื่องนี้ถือเป็นมติพรรคที่จะสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเราคงไม่ทบทวน แต่สำหรับเงื่อนไข 5 ข้อ จะนำมาประกอบการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญแน่นอน เพราะเงื่อนไขนี้เป็นสิ่งที่พรรคเพื่อแผ่นดิน และพรรคชาติไทย ใช้เป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งถือเป็นสัญญาประชาคมที่พรรคเพื่อแผ่นดินต้องคำนึงถึง ในส่วนของ นายสุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าพรรค ก็ยืนยันว่า เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น แต่ไม่ได้เป็น ส.ส.จึงมอบหน้าที่ให้เป็นของสภา และยืนยันว่า ไม่ได้มีความขัดแย้งในเรื่องนี้แต่อย่างใด
“ถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยผ่านเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ยังมีขั้นตอนอีกยาวเพราะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อเปิดช่องให้มีการตั้ง ส.ส.ร.และต้องมีการตั้งคณะกรรมการสรรหา ซึ่งมีขั้นตอนอีกมากโดยเฉพาะในขั้นตอนของการสรรหาคณะกรรมการสรรหา ส.ส.ร.รวมทั้งอาจมีปัญหาในเรื่องของความเป็นกลางอีก เพราะฉะนั้นในเมื่อรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้สภาเป็นคนดำเนินการก็ควรใช้ช่องทางนี้” นายไชยยศ กล่าว
เมื่อถามว่า พรรคเพื่อแผ่นดิน มีความเห็นอย่างไรกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 และ309 นายไชยยศ กล่าวว่า ในมาตรา 309 พรรคเพื่อแผ่นดิน ยังไม่มีการลงรายละเอียด ซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญที่พรรคพลังประชาชน ส่งมาก็ยังไม่มีรายละเอียดเช่นกัน แต่สำหรับมาตรา 237 เห็นว่า ควรกำหนดให้ชัดว่าการซื้อเสียงควรเป็นความผิดทางอาญาแน่นอน แต่ว่าจะส่งต่อการยุบพรรคหรือไม่ ควรมีการพิจารณาให้ดี เพราะพรรคเป็นสถาบัน ถ้าพรรคถูกยุบง่ายเกินไปก็จะไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ซึ่งพรรคเพื่อแผ่นดิน ยังคงเห็นว่า การซื้อเสียงต้องเป็นความผิดร้ายแรง
เมื่อถามว่า เวลานี้เหมาะสมหรือไม่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายไชยยศ กล่าวว่า พรรคเพื่อแผ่นดิน ยังไม่ได้มีการพูดคุยในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวทราบมาว่า นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ก็มีความต้องการหารือกับพรรคเพื่อแผ่นดิน ในเรื่องนี้เช่นกัน แต่ยังไม่ทราบว่าจะมีการหารือกันวันไหน รวมทั้งการหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลด้วย