xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ถลกหนัง รธน.ฉบับฟอกมาร เอื้อยุบพรรค-ทุจริตแม้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“องอาจ” แฉ รธน.ฉบับฟอกมาร จับปี 40 สวมตัดทิ้ง ม.237 และ 309 เอื้อยุบพรรค-ทุจริตนายใหญ่ ชำแหละกำหนดอายุ กกต.และ ป.ป.ช.ส่อเจตนารมณ์ปกป้องพวกพ้อง
 
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง องอาจ คล้ามไพบูลย์


วันนี้ (27 เม.ย.) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงท่าทีต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล ว่า พรรคไม่ได้คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการรวบรัดตัดตอนในการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล ที่ยกร่างขึ้นมาโดยที่ไม่ฟังเสียงของประชาชน ซึ่งพรรคเห็นว่าควรจะให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการยกร่างแก้ไขฯในรูปแบบของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.3 เพราะเท่าที่ดูตามร่างแก้ไขของรัฐบาลที่คงหมวด 1 และ 2 ของรัฐธรรมนูญปี 50 ไว้ แล้วที่เหลือยกร่างรัฐธรรมนูญปี 40 มาทั้งหมดก็เท่ากับจะไม่มีมาตรา 237 เรื่องการยุบพรรคและมาตรา 309 ที่รองรับองค์กรอิสระที่ตั้งโดยคณะปฏิรูปการปกครอง อีกทั้งเป็นที่สังเกตว่าการนำรัฐธรรมนูญปี 40 มาใช้ จะทำให้สำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งมีความเป็นอิสระตามรัฐธรรมนูญปี 50 ต้องกลับเข้าไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล ซึ่งพรรคมีความเป็นห่วงว่าจะมีการเข้ามาต่อรองกดดันต่อการสั่งคดียุบพรรคและคดีทุจริตอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนในรัฐบาลนี้หรือไม่ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลชี้แจงประเด็นเหล่านี้

“ต้องถือว่ารัฐธรรมนูญ 50 เป็นฉบับแรกที่บัญญัติถึงความเป็นอิสระของอัยการในการสั่งคดี และปฏิบัติหน้าที่ให้เที่ยงธรรม เพราะเป็นองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล และถ้าพิจารณาอำนาจหน้าที่ของอัยการ จะเห็นว่า อัยการมีหน้าที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับคดีความที่เชื่อมโยงกับบุคคล องค์กรในรัฐบาลนี้ และอดีตนักการเมืองหลายท่าน เพราะอัยการมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสั่งคดียุบพรรค และคดีทุจริตอื่นๆ ของนักการเมืองในอดีตจำนวนมากหลายคดีด้วยกัน เพราะฉะนั้นการที่รัฐบาลเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นนี้ ถือเป็นความพยายามที่จะเข้าไปใช้อัยการเป็นเครื่องมือบิดเบือนข้อเท็จจริง หรือปกปิดความผิดของตนเองหรือไม่อย่างไร ตรงนี้เป็นคำถามที่คลางแคลงใจพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมากและที่สำคัญที่สุดก็คือ ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับอัยการนี้ เพราะต่อรองคดีต่าง ๆ ที่กำลังเข้าสู่การสั่งคดีของอัยการหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลต้องชี้แจงในเรื่องนี้” นายองอาจ กล่าว

นายองอาจ กล่าวว่า การที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลกำหนดอายุของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ชุดนี้ให้มีอายุอีกเพียง 180 วันหลังจากรัฐธรรมนูญใหม่มีผลบังคับใช้ ถือเป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนว่าเป็นการแก้ไขเพื่อตัวเอง เนื่องจากองค์กรอิสระทั้งสองมีผลต่อการให้คุณให้โทษในคดีทุจริตต่างๆ ของคนในรัฐบาล จึงมุ่งหวังที่จะใช้การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตัดตอน 2 องค์กรนี้ ไม่ให้ใช้อำนาจ และมุ่งหวังที่จะสรรหาคนใหม่มาแทนเพื่อหวังจะเข้ามาแทรกแซงหรือไม่ เพราะยังมีองค์กรอิสระอื่น อาทิ ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา ซึ่งเป็นองค์กรอิสระเช่นกัน แต่กลับไม่ได้เสนอลดอายุแต่อย่างใด ส่วนพรรคประชาธิปัตย์จะมีความเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างไรนั้น

นายองอาจ กล่าวว่า จะต้องรอดูร่างแก้ไขของรัฐบาลก่อน เพราะขณะนี้ยังไม่ทราบว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนวิธีการในการดำเนินการเรื่องนี้หรือไม่ อย่างไร เนื่องจากในรัฐบาลเองก็ยังมีความคิดเห็นที่ไม่เป็นเอกภาพ อย่างไรก็ตามในส่วนของพรรคประกาศจุดยืนชัดเจนในการที่จะให้มีคณะกรรมการหรือคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาปัญหาของรัฐธรรมนูญ และให้มีส.ส.ร.3 เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญโดยให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ฉะนั้นหากพรรคการเมืองใดเห็นว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เหมาะสม พรรคก็พร้อมเป็นแนวร่วม

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ยังกล่าวถึงกรณีที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะเคลื่อนไหวคัดค้านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลโดยการชุมนุมที่หน้ารัฐสภาว่า เป็นเรื่องปกติที่หากประชาชนหรือกลุ่มองค์กรใดมีความเห็นว่ารัฐบาลควรรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ก็เป็นสิทธิที่จะเคลื่อนไหว แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ขณะเดียวกันรัฐบาลจะต้องไม่เป็นปัจจัยเร่งให้เกิดความรุนแรง เพราะจะเห็นได้ว่าท่าทีของนายกรัฐมนตรี และคนในรัฐบาลเป็นปัจจัยให้เกิดความแตกแยก.
กำลังโหลดความคิดเห็น