xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : บทพิสูจน์ “เสือกระดาษ” อ้าง “ไทยรัฐ” จริยธรรมสูงส่งยกผิด “ลบพระบรมฉายาลักษณ์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปรียบเทียบไทยรัฐ(ด้านล่าง)-เดลินิวส์(ด้านบน)ฉบับวันที่ 10ก.ค.50 ซึ่งเดลินิวส์ลงภาพอย่างสมบูรณ์ แต่ไทยรัฐลบพระบรมฉายาลักษณ์ออก
จม.ข่าวจาก “สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ” เมื่อไม่นานมานี้ ทำให้เพิ่งทราบว่า สภาการฯ ได้ตัดสินกรณี “ไทยรัฐลบพระบรมฉายาลักษณ์ออกจากภาพข่าว”แล้ว ใครได้ทราบผลคำตัดสิน คงเสียความรู้สึกต่อสภาการฯ ไม่น้อย เพราะแทนที่จะจบเรื่องนี้ด้วยความสง่างาม-กล้าหาญ กลับตรงกันข้าม ขณะที่ “ไทยรัฐ” เอง กว่าจะทำให้สภาการฯ เดินตามเกมของตัวเองได้ ก็ “เล่นแง่” จนน่าเกลียด ทั้งการยกว่า การลบพระบรมฉายาลักษณ์ออกของตน ควรได้รับคำชมเชยด้วยซ้ำ หรือแม้แต่สิ่งที่คาดไม่ถึง ที่ไทยรัฐกล้าเปรียบเปรยว่า การลบพระบรมฉายาลักษณ์ออกจากภาพข่าวที่ไม่เหมาะสม ก็เหมือนกับการที่สื่อเซ็นเซอร์ภาพคนสูบบุหรี่-ดื่มเหล้า หรือเซ็นเซอร์ภาพอุจาดนั่นเอง

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ

หลังจากเวลาผ่านมากว่าครึ่งค่อนปี ในที่สุด สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ก็ได้ฤกษ์ตัดสินกรณีมีผู้ร้องเรียนว่า การกระทำของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่บังอาจลบภาพ “พระบรมฉายาลักษณ์” ออกจากภาพข่าว โดยอ้างว่าเพื่อความเหมาะสมนั้น เป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพหรือไม่ โดยผลการตัดสินของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ไม่เพียงออกมาในลักษณะคลุมเครือว่าการกระทำของไทยรัฐผิดหลักจริยธรรมของสื่อหรือไม่ โดยให้เรื่องจบๆ กันไป แต่ยังสะท้อนว่า องค์กรวิชาชีพสื่อที่ว่านี้ แท้จริงแล้ว อาจเป็นแค่ “เสือกระดาษ” หาได้มีความกล้าหาญพอที่จะตรวจสอบ-ควบคุมหรือตักเตือนกันเองเพื่อให้สมาชิกมั่นคงอยู่ในกรอบแห่งวิชาชีพไม่

ก่อนจะฟังกันชัดๆ ว่า สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ตัดสินเรื่องนี้ว่าอย่างไร เราลองมาไล่เรียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไร

กรณีไทยรัฐลบภาพพระบรมฉายาลักษณ์ออกจากภาพข่าว ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกของวงการหนังสือพิมพ์ไทยที่กล้าทำเช่นนี้ โดยเรื่องนี้สาธารณชนได้ทราบ เมื่อมีผู้ร้องเรียนผ่านรายการ “ยามเฝ้าแผ่นดิน” ทางเอเอสทีวี ให้ช่วยตรวจสอบว่า เหตุใดภาพข่าวนักศึกษาที่คว้ารางวัลชนะเลิศหุ่นยนต์กู้ภัย ในงาน “เวิลด์โรโบคัพ 2007”ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ลงในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐและเดลินิวส์ ฉบับวันที่ 10 ก.ค.2550 จึงไม่เหมือนกัน ทั้งที่เป็นภาพซึ่งถ่ายจากมุมเดียวกัน

ซึ่งข้อเท็จจริงที่ปรากฏก็คือ เดลินิวส์ลงภาพข่าวดังกล่าวอย่างสมบูรณ์ และวางไว้ด้านบนสุดของหนังสือพิมพ์ แต่ไทยรัฐ นอกจากจะวางภาพดังกล่าวไว้ด้านล่างสุดของหนังสือพิมพ์แล้ว ยังลบภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ออกจากมือนักศึกษาและอาจารย์ที่กำลังประคองภาพนั้นด้วยถึง 2 ภาพด้วยกัน ซึ่งหากใครเห็นภาพข่าวนี้จากไทยรัฐอย่างเดียว โดยไม่เห็นภาพฉบับสมบูรณ์จากเดลินิวส์ ย่อมไม่ทราบว่า นักศึกษาและอาจารย์กำลังประคองสิ่งใดไว้ในมือ

ปัญหาคือ เหตุใดไทยรัฐจึงกล้าทำเช่นนี้? และทำเพื่อวัตถุประสงค์ใด? ผู้ดำเนินรายการยามเฝ้าแผ่นดินพยายามจี้ให้ไทยรัฐชี้แจงเรื่องดังกล่าว เพราะการลบภาพพระบรมฉายาลักษณ์ออกจากภาพข่าว นอกจากจะเป็นการกระทำที่ไม่บังควรแล้ว ยังน่าจะขัดต่อจรรยาบรรณสื่อมวลชนด้วย แถมยังทำให้ผู้อ่านเกิดความคลางแคลงได้ว่า ขนาดภาพข่าว ไทยรัฐยังกล้าลบบางสิ่งบางอย่างออก แล้วจะแน่ใจได้อย่างไรว่า เนื้อหาข่าวจะไม่มีการตัดบางส่วนออก

หลังไทยรัฐทนจี้ให้ชี้แจงไม่ไหว จึงได้ยอมชี้แจงผ่านบทบรรณาธิการ เรื่อง “จงรักภักดียิ่งชีวิต” เมื่อวันที่ 16 ก.ค. แต่แทนที่ไทยรัฐจะใช้โอกาสชี้แจงเหตุผลที่น่ารับฟังหรือฟังแล้วเข้าใจได้ หรือฟังแล้วน่าให้อภัย กลับกลายเป็นตรงกันข้าม เพราะยิ่งชี้แจงยิ่งเหมือนกับ “เติมเชื้อไฟ” ให้เผาไทยรัฐมากขึ้น เพราะไทยรัฐเล่นบท “เอาดีเข้าตัว เอาชั่วให้คนอื่น” เหมือนกับตัวเองไม่ผิด แต่คนอื่นผิด!?!

โดยไทยรัฐ ยอมรับว่า ได้ใช้โปรแกรมแต่งภาพ (Photoshop) ลบพระบรมฉายาลักษณ์ออกจากภาพข่าวดังกล่าวจริง แต่ทำไปเพราะเคารพเทิดทูนและต้องการให้สมพระเกียรติ เนื่องจากนักศึกษาที่อัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ทั้ง 2 ภาพนั้น อยู่ในลักษณะคุกเข่า ทำให้มีบุคคลอื่นยืนสูงกว่า และว่า ผู้อัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์อาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงบ่อยครั้งที่มีลักษณะเช่นนี้ ซึ่งปกติไทยรัฐจะไม่นำลง แต่เนื่องจากผลงานของนักศึกษากลุ่มนี้น่าชื่นชมยินดี จึงตัดสินใจนำภาพนี้ลง แต่เพื่อให้เกิดความเหมาะสม จึงลบพระบรมฉายาลักษณ์ออก ไทยรัฐ ยังย้ำอีกว่า ที่ทำไปก็เพื่อถวายความจงรักภักดีโดยแท้ และเพื่อให้สมพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ถ้าสิ่งที่ทำไปทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าไม่สมควรและไม่เหมาะสม ก็กราบขออภัย และว่า ทุกคนในไทยรัฐขอยืนยันในความจงรักภักดี และพร้อมที่จะดำเนินการทุกอย่างเพื่อปกป้องสถาบันอันศักดิ์สิทธิ์นี้ แม้จะต้องแลกด้วยชีวิตก็ตาม

สรุปก็คือ ไม่เพียงไทยรัฐจะโยนความผิดให้นักศึกษาและอาจารย์ว่า เป็นต้นเหตุให้ไทยรัฐต้องลบพระบรมฉายาลักษณ์ออก แต่ไทยรัฐยังไม่รู้สึกแม้แต่น้อยว่า การลบพระบรมฉายาลักษณ์ออกจากภาพข่าวเป็นเรื่องใหญ่ ไม่บังควรและไม่เหมาะสม เพราะอาจหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และบิดเบือนความจริงอย่างร้ายแรงในแง่สื่อมวลชน ไทยรัฐจึงได้ย้ำคำเดียวว่า การลบพระบรมฉายาลักษณ์ ก็เพื่อความเหมาะสมและปกป้องสถาบัน ทั้งที่ยังมีสิ่งคาใจมากมายที่ไทยรัฐเลี่ยงไม่ยอมพูดถึง เช่น ถ้าไทยรัฐเห็นว่า ภาพดังกล่าวไม่เหมาะสมจริง ก็ไม่ควรนำลงจะดีกว่าหรือไม่? ไทยรัฐใช้บรรทัดฐานอะไรในการวัดว่า การลบพระบรมฉายาลักษณ์ออก เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดแล้ว ทั้งที่การลบพระบรมฉายาลักษณ์ออกจากภาพข่าว ยังไม่เคยมีหนังสือพิมพ์ฉบับใดกล้าทำเช่นนี้มาก่อน และการที่ไทยรัฐอ้างว่า เด็กถือพระบรมฉายาลักษณ์ในลักษณะไม่เหมาะสม ไทยรัฐจึงต้องลบพระบรมฉายาลักษณ์ออก แสดงว่า ไทยรัฐกำลังป้ายความผิดให้เดลินิวส์ด้วยใช่หรือไม่ ที่นำภาพดังกล่าวลงโดยไม่ลบพระบรมฉายาลักษณ์ออก?

ด้านนายกำแหง ภริตานนท์ อดีตรองบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เคยให้สัมภาษณ์ก่อนเสียชีวิตถึงกรณีที่เดลินิวส์ไม่ลบภาพพระบรมฉายาลักษณ์ออกจากภาพข่าวดังกล่าว แถมวางภาพไว้ด้านบนสุดของหนังสือพิมพ์ว่า สำหรับเดลินิวส์แล้ว มีหลักปฏิบัติในการเสนอข่าวและภาพข่าวว่า ภาพใดก็ตามที่มีพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือพระราชวงศ์ จะต้องวางไว้ในตำแหน่งที่สูงกว่าภาพอื่น ไม่วางไว้ด้านล่างอย่างแน่นอน พร้อมยืนยันด้วยว่า การที่เด็กและอาจารย์คุกเข่าถือภาพพระบรมฉายาลักษณ์ ขณะที่มีเด็กบางส่วนยืนอยู่ด้านหลังนั้น ไม่ถือว่าเป็นภาพที่ไม่เหมาะสมแต่อย่างใด

“ภาพในหลวงทางเดลินิวส์ ต้องจัดลำดับที่อยู่ในส่วนที่สูงกว่าภาพอื่น (ถ้า)มีรูปเกี่ยวกับพระบรมฉายาลักษณ์ของพระราชวงศ์ จะอยู่ตำแหน่งที่สูง (ถาม-แสดงว่าการมีคนยืนอยู่ข้างหลังนั้นไม่เป็นไรใช่มั้ย?) อันนี้คิดว่าคงไม่เป็นไร เพราะลงไปหลายครั้งแล้วแบบนี้ แต่รูปต้องอยู่ตำแหน่งที่ “สูงกว่า” รูปอื่น เพราะถ้าไปคำนึงว่ามีคนยืนสูงกว่าในหลวง (หนังสือพิมพ์)คงลงรูปอะไรไม่ได้เลย เพราะอย่างมีพระบรมฉายาลักษณ์ มีงานประชุมก็ดี แล้วหัว(ของคนในข่าว) ก็ต้องสูงกว่าในหลวงสูงกว่าพระบรมฉายาลักษณ์หรืออะไร มันก็ลงไม่ได้เหมือนกันถ้าถือหลักแบบนั้น แต่หลักปฏิบัติจริงๆ แล้ว ก็ต้องเอาลงในตำแหน่งที่สูง”

แม้ผู้บริหารเดลินิวส์จะไม่พูดถึงการกระทำของไทยรัฐ แต่คำตอบที่ออกมาน่าจะสะกิดใจไทยรัฐได้บ้างว่า ถ้าเทิดทูนสถาบันจริง ทำไมถึงไม่นำภาพข่าวนี้ไว้ด้านบนสุด กลับนำไว้ด้านล่างสุด แล้วอ้างว่าเด็กถือภาพพระบรมฉายาลักษณ์ไม่เหมาะสม!

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า หลายฝ่ายในสังคม โดยเฉพาะนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนต่างมองตรงกันว่า การกระทำและคำชี้แจงของไทยรัฐที่โทษเด็กว่าถือภาพพระบรมฉายาลักษณ์ในลักษณะไม่เหมาะสม จึงเป็นต้นเหตุให้ไทยรัฐต้องลบพระบรมฉายาลักษณ์ออกนั้น เป็นคำอ้างที่ฟังไม่ขึ้น โดย รศ.ดร.วิทยาธร ท่อแก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ชี้ว่า การกระทำของไทยรัฐนอกจากจะไม่บังควรแล้ว ยังขัดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพอย่างชัดเจน พร้อมกันนี้ อ.วิทยาธร ยังจับโกหกไทยรัฐด้วยว่า ถ้าอ้างว่า เด็กถือภาพพระบรมฉายาลักษณ์ไม่เหมาะสมจริง แล้วทำไมภาพข่าวเดียวกันที่ปรากฏในเว็บไซต์ไทยรัฐจึงไม่ลบพระบรมฉายาลักษณ์ออก

“อันนี้เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมอยู่แล้ว ในเรื่องของจรรยาบรรณของนักหนังสือพิมพ์ ขณะเดียวกันจะเห็นว่า ตอนนั้นภาพบางภาพลบ บางภาพไม่ลบ เห็นมั้ยว่า (ภาพ)ในหนังสือพิมพ์กับในเว็บไซต์ต่างกันใช่มั้ย นั่นมันประจักษ์ชัดอยู่แล้ว แสดงว่าอันใดอันหนึ่ง ก็ทำไม่เหมาะสม อันใดอันหนึ่งเหมาะสม จะเหมาะสมทั้ง 2 ภาพมันคงไม่ได้ ...การนำเสนอในหน้าหนังสือพิมพ์ แล้วไปลบออกเนี่ย ถือว่าเป็นการจงใจ ทั้งๆ ที่ภาพนั้น(ที่มีพระบรมฉายาลักษณ์อยู่)เป็นภาพที่จะทำให้เกิดภาพเชิงบวกด้วยซ้ำไป การที่เอาออกไปเลยให้เห็นว่า คนที่รับรางวัลเนี่ย ไม่มีภาพพระบรมฉายาลักษณ์ แสดงว่ามันมีแง่คิดอะไรบางอย่างที่มิบังควรที่จะกระทำ ตรงนี้มันน่าตั้งคำถามว่า ทำไมถึงเอา(ลบพระบรมฉายาลักษณ์) ออก และการเอาออกเนี่ยแสดงว่าจงใจที่จะไปแก้ไข เพราะจรรยาบรรณในความเป็นข่าวเนี่ย คุณไปตกแต่งคุณไปเอาภาพเหตุการณ์ที่มันไม่เป็นจริงเนี่ย มันขัดอยู่แล้วในการประกอบกิจการประเภทหนังสือพิมพ์ มันขัดหลักความเป็นจริงอยู่แล้ว ซึ่งมันไม่ใช่เป็นประเภทภาพที่มันนำเสนอแล้วอุจาดตา แล้วต้องหาอะไรมาปิดมาบัง อันนี้มันไม่เกี่ยวเลย และสถาบันนี้เป็นสถาบันเบื้องสูงด้วย มิบังควรนะ”

ด้าน อ.อนุสรณ์ ศรีแก้ว คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ก็มองว่า ไทยรัฐทำไม่เหมาะสมเพราะการลบพระบรมฉายาลักษณ์ออกจากภาพข่าว นอกจากเป็นการบิดเบือนความจริงที่เกิดขึ้นแล้ว ยังกระทบต่อจิตใจของคนไทยที่เคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย

“ถ้าหากว่าเราไปดูภาพเปรียบเทียบระหว่างไทยรัฐกับเดลินิวส์แล้วเนี่ย เดลินิวส์ผมว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะภาพมันเป็นเช่นนั้น ความจริงมันเป็นเช่นนั้น เพราะถ้าหากเราพูดถึงเรื่องของข่าวแล้ว ความหมายของ “ข่าว” มันคือ “เนื้อข่าว” ประกอบไปด้วย “ภาพข่าว” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข่าว ทีนี้ถ้าหากว่าเราไปตัดต่อมัน มันก็เหมือนเป็นการตัดต่อเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริง ถ้าพูดถึงคนที่ทำสื่อแล้ว การเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงตรงนี้ มันก็เหมือนเป็นการบิดเบือนความจริงที่มันเกิดขึ้น ความหมายตรงนี้ ผมคิดว่ามันคงไม่ใช่ในลักษณะของพระบรมฉายาลักษณ์เพียงอย่างเดียว อะไรก็แล้วแต่ที่เป็นภาพขึ้นมา ข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างหนึ่ง แล้วมาตัดต่อเป็น(อีก) อย่างหนึ่ง มันก็ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระบรมฉายาลักษณ์เนี่ย ถือว่าเป็นเรื่องที่คนในสังคมไทยให้ความยอมรับให้ความเคารพเทิดทูนด้วยแล้วเนี่ย ผมคิดว่า มันก็ยิ่งทำให้แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องของจริยธรรมและจรรยาบรรณและความรู้สึกของคนไทย รู้สึกว่าความไม่ถูกต้องก็ยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้น”

ไม่ใช่แค่นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนจะเห็นตรงกันว่า ไทยรัฐกระทำการไม่บังควร และขัดต่อจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ แม้แต่นักวิชาการด้านกฎหมาย เช่น ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ก็ยังมองว่า คำอ้างของไทยรัฐที่ว่าเด็กถือภาพพระบรมฉายาลักษณ์ไม่เหมาะสม จึงต้องลบพระบรมฉายาลักษณ์ออกนั้น เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ได้

“ถ้าฟังเหตุผล ถ้าเกิดบอกว่า เด็กถือพระบรมฉายาลักษณ์ในลักษณะที่ไม่เหมาะสม ไม่สามารถเอาลงได้ ก็เลยต้องลบ(พระบรมฉายาลักษณ์) ผมว่าเหตุผลนี่อ่อน ถ้าเด็กถือพระบรมฉายาลักษณ์ไม่เหมาะสม ไม่ต้องลง ไม่ต้องลงทั้งภาพเด็กทั้งอะไรเลย ไปลงภาพอื่น ซึ่งผมเชื่อว่าน่าจะมีภาพอื่นๆ อยู่ ว่าเด็กชนะอะไรก็ว่าไป แต่ถ้าพิจารณาแล้วว่า ภาพนี้เป็นภาพเดียวที่มีอยู่ ดูแล้วภาพนี้ลงได้ ลง อย่าไปลบ ขูด ขีด ฆ่า ลงไปเลย ประชาชนจะเป็นคนตัดสินเองว่า ลักษณะการถือของเด็กและครู เป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะหนังสือพิมพ์ไม่ได้เป็นคนไปบังคับให้เขาถือ และ หนังสือพิมพ์ก็ถ่ายภาพที่เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่ตัวเองไปดัดแปลงตัดแต่งต่อเติมอะไรทั้งสิ้น”

และต่อไปนี้ คือความรู้สึกของประชาชนส่วนหนึ่งที่น่าจะยืนยันได้แล้วว่า เด็กไม่ได้ถือภาพพระบรมฉายาลักษณ์ไม่เหมาะสมตามที่ไทยรัฐอ้างแต่อย่างใด แต่ไทยรัฐต่างหากที่ทำผิด แล้วยังไม่ยอมรับผิด กลับไปโยนความผิดให้กับเด็ก

“(อัญชลี)ไทยรัฐลงเกินไป ผิดแล้วยังไม่ยอมรับผิด แก้ผิดให้เป็นถูกน่ะ มันฟังไม่ขึ้น ยิ่งแก้ยิ่งเละ มันคงจะถึงจุดจบของไทยรัฐแล้วนะ เพราะคนที่เคยอ่านไทยรัฐ เปลี่ยนหมดแล้วตอนนี้ แล้วลงแบบนี้ ไปโทษคนอื่นได้อย่างไร ผิดแล้วไม่ยอมรับผิด แล้วไปใส่ให้เด็ก ให้เด็กรับผิดไป เรื่องแบบนี้สังคมเขามองออกไง"
"(ต้อม) ได้ดูรูป(ที่ไทยรัฐลบพระบรมฉายาลักษณ์ออก)แล้ว รู้สึกเสียใจ เขา(ไทยรัฐ)ก็คือคนไทย แต่เขาทำโดยที่คิดน้อยหรือไม่ได้คิด ไม่รู้ อยากให้(ไทยรัฐ)พิจารณาตัวเอง ไม่ต้องให้สังคมมาพูดหรือบอก จริงๆ ดิฉันไม่อ่านไทยรัฐเลย นานมาก อย่างมากก็ดูข่าวน้ำเน่าของเขา ดูหน้าปก พาดหัวอะไร พาดหัวได้รุนแรงมาก ทำให้สังคมเราตกต่ำลงไป แทนที่จะพาดหัวอะไรที่จรรโลงใจ ฆ่าข่มขืนก็ลงทุกวัน จนไอ้พวกที่ไม่เคยทำ มันก็คงอยากทำมั่ง”

“(ประทีป) ผมเห็นเดลินิวส์แล้วนะ เช้าวันที่ 10 ก.ค.และเดลินิวส์ก็ทำถูกต้อง ผมขับแท็กซี่ เพื่อนผมเยอะนะ ผมไปกินก๋วยเตี๋ยวร้านหนึ่ง ผมถาม เจ๊! ไทยรัฐหรือเปล่า? คนขับแท็กซี่ก็เยอะ คนภายนอกก็เยอะ ผมพูดดังๆ เลยนะ เจ๊! ถ้าไทยรัฐนะ ผมจะบอกเพื่อนทุกคนเลย ไม่ต้องมากิน เจ๊ไม่ต้องสั่งไทยรัฐ เปลี่ยนเป็นคมชัดลึก บ้านเมือง หรือเดลินิวส์ก็ได้ ผมสั่งเลยวันนั้น ทุกคนปรบมือเลย ทุกคนบอกว่า ทำไมพี่ติดใจอะไรกันนักกันหนา ผมบอก ถ้าอยากรู้นะ ผมขอไทยรัฐวันที่ 10 ก.ค. ผมซื้อเลย 20 บาท แล้วผมจะฉีกต่อหน้า ผมบอก ผมจะซื้อเป็นฉบับสุดท้ายในชีวิตกับไทยรัฐเลย ผมประกาศกับเพื่อนทุกคนเลยนะ บอยคอตไทยรัฐเลย”


เมื่อคำชี้แจงของไทยรัฐไม่สามารถฟังได้ แถมไทยรัฐยังแสดงพฤติกรรมโยนความผิดให้ผู้อื่น ในที่สุด ได้มีผู้ร้องเรื่องนี้ให้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติพิจารณาว่า การที่ไทยรัฐลบภาพพระบรมฉายาลักษณ์ออกจากภาพข่าวดังกล่าว เป็นการละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพหรือไม่? โดยสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ได้รับเรื่องนี้ไว้พิจารณาเมื่อวันที่ 18 ก.ค.2550 และให้คณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ ที่มีนายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ (นายกสภาทนายความ)เป็นประธาน ตรวจสอบการกระทำของไทยรัฐ

ต่อมาเดือน พ.ย.2550 คณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าว มีคำวินิจฉัยว่า การที่ไทยรัฐลบภาพพระบรมฉายาลักษณ์ ทำให้รูปภาพที่ลงในหนังสือพิมพ์คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง แต่เมื่อพิจารณาถึงเหตุผลและขั้นตอนการลำดับภาพและความสำคัญตามที่ปรากฏในคำชี้แจงแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีสาเหตุหรือข้อเท็จจริงที่แสดงว่า ไม่เคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือมีเจตนาที่จะฝ่าฝืนจริยธรรมทางวิชาชีพแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการฯ มีมติเสนอคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ฯ เพื่อแจ้งให้ไทยรัฐ “ระมัดระวังการเสนอภาพในลักษณะเช่นนี้ในโอกาสต่อไป”

แต่ไทยรัฐไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการดังกล่าว ไทยรัฐจึงอุทธรณ์เรื่องนี้กลับมายังสภาการหนังสือพิมพ์ฯ เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2550 โดยไทยรัฐยกเหตุผลในการอุทธรณ์ 4 ประเด็น

ประเด็นแรก ไทยรัฐยืนยันว่า ไทยรัฐยึดเป็นหลักปฏิบัติมาตลอดว่า จะไม่ให้มีภาพบุคคลอื่นอยู่สูงกว่าพระบรมฉายาลักษณ์

ประเด็นที่สอง ไทยรัฐชี้ว่า เรื่องหลักวิชาที่สื่อต้องยึดถือข้อเท็จจริงนั้น ประเด็นสำคัญของภาพข่าวดังกล่าวก็คือ นักศึกษาเดินทางกลับมาถึงเมืองไทย หลังได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันระดับโลกที่สหรัฐอเมริกา โดยไทยรัฐยืนยันว่า ไม่ว่าบุคคลในกลุ่มจะถือสิ่งใดมาด้วย หากไทยรัฐเห็นว่าไม่เหมาะสม อาจตัดทิ้งเสียก็ได้

ประเด็นที่สาม ไทยรัฐชี้ว่า การตัดส่วนใดส่วนหนึ่งของภาพทิ้ง(ซึ่งไทยรัฐลบภาพพระบรมฉายาลักษณ์ทิ้ง) เป็นการไม่ยึดถือข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาใคร่ครวญอย่างเคร่งครัด โดยไทยรัฐ ยกตัวอย่างเชิงเปรียบเทียบและตั้งคำถามว่า กรณีโทรทัศน์ทำภาพมัวบังผู้แสดงที่สูบบุหรี่หรือดื่มสุรา, การนำสกรีนปิดทับภาพคนตายที่หนังสือพิมพ์ทุกฉบับดำเนินการอยู่ เพื่อไม่ให้เห็นภาพอุจาด หรือการรายงานข่าวเมื่อมีการด่าทอด้วยถ้อยคำไม่สุภาพ หนังสือพิมพ์ก็ตัดคำด่าทอนั้นทิ้งไป ถือเป็นการไม่มีข้อเท็จจริงครบถ้วนหรือไม่?

และประเด็นสุดท้าย ไทยรัฐพยายามชี้ให้เห็นว่า การที่ไทยรัฐลบภาพพระบรมฉายาลักษณ์ออก เพราะหากตีพิมพ์ลงไปจะเป็นการไม่เหมาะสม เนื่องจากมีบุคคลอยู่สูงกว่าพระบรมฉายาลักษณ์นั้น ไทยรัฐน่าจะได้รับคำชมเชยว่า เป็นหนังสือพิมพ์ที่มีความรับผิดชอบอย่างยิ่ง มากกว่าจะถูกแจ้งให้ “ระมัดระวังการเสนอภาพข่าวเช่นนี้ในโอกาสต่อไป” ซึ่งมีผลเท่ากับเป็นการตักเตือนจากสภาการหนังสือพิมพ์ฯ เพราะตามธรรมนูญสภาการฯ กำหนดให้มีการตักเตือนสมาชิกได้เฉพาะในกรณีที่มีการละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์เท่านั้น

ด้านสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ได้มีมติตั้งคณะกรรมการพิจารณาคำอุทธรณ์ของไทยรัฐ ประกอบด้วย รศ.ดร.จุมพล รอดคำดี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ, นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง ประธานคณะอนุกรรมการวิชาการ และนายอรุณ ลอตระกูล ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

ในที่สุด คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ได้มีมติเสนอให้คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ยกคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์(ที่เคยมีมติให้ไทยรัฐระมัดระวังการเสนอภาพข่าวในลักษณะเช่นนี้ในโอกาสต่อไป) โดยคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ให้เหตุผลทำนองว่า สภาการหนังสือพิมพ์มีหน้าที่ส่งเสริมและควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกและผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ให้เป็นไปตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพ และปรัชญาในการควบคุมกันเองก็คือ การที่สมาชิกแสดงความรับผิดชอบด้วยตนเอง โดยไม่ต้องรอให้สภาการหนังสือพิมพ์ฯ เป็นผู้วินิจฉัย

ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เห็นว่า ไทยรัฐได้แสดงความรับผิดชอบไปก่อนหน้าแล้ว ในการชี้แจงผ่านบทบรรณาธิการ เรื่อง “จงรักภักดียิ่งชีวิต” (เมื่อ 16 ก.ค.) โดยมีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า “หากการกระทำดังกล่าว(การลบพระบรมฉายาลักษณ์ออกจากภาพข่าว) นำไปสู่ความรู้สึกที่ท่านผู้อ่านเห็นว่า ไม่สมควรและไม่เหมาะสม เราก็ใคร่กราบขออภัยไว้ ณ ที่นี้” ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เห็นว่า การขออภัยดังกล่าวเป็นการแสดงความรับผิดชอบสูงสุดในด้านจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ รวมทั้งน่าจะเป็นการแสดงความรับผิดชอบสูงกว่าการที่สภาการหนังสือพิมพ์ฯ จะออกหนังสือเตือนให้ไทยรัฐใช้ความระมัดระวัง

ด้านที่ประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ (24 ม.ค.2551) มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอดังกล่าวของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ให้ยกคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ รวมทั้งให้ใช้กรอบแนวทางดังกล่าวเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคำร้องเรียนในกรณีอื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกันด้วย

มติของคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ดังกล่าว คงสรุปได้ว่า แม้ไทยรัฐจะกระทำการลบพระบรมฉายาลักษณ์ออกจากภาพข่าว ก็ไม่ต้องเตือนให้ไทยรัฐระมัดระวังในการจะลบภาพข่าวทำนองนี้อีกตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ได้เคยมีคำวินิจฉัย นั่นหมายความว่า หลังจากนี้ ถ้าไทยรัฐอยากจะลบพระบรมฉายาลักษณ์ออกจากภาพข่าวอีกเมื่อไหร่ก็สามารถทำได้ และไม่ต้องระมัดระวังแต่อย่างใดอย่างนั้นหรือ?

ลองไปฟังความรู้สึกของ 1 ในคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ ที่ถูกคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เสนอให้ยกคำวินิจฉัยกันบ้างว่าจะรู้สึกอย่างไร อนุกรรมการฯ ท่านนี้ก็คือ คุณลุงสัมผัส พึ่งประดิษฐ์ (อายุ 83 ปี) นักหนังสือพิมพ์อาวุโส ที่ดำรงตำแหน่งในสภาการหนังสือพิมพ์ฯ มานาน และเคยเป็นถึงรองประธานสภาการฯ มาแล้ว เล่าให้ฟังว่า อนุกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์มีจำนวน 10 กว่าคน ส่วนใหญ่เป็นอาจารย์ด้านวารสารจากมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยมีความเห็นพ้องกันว่า การที่ไทยรัฐลบพระบรมฉายาลักษณ์ออกจากภาพข่าว ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะทำให้การเสนอข่าวไม่ครบถ้วน แต่เมื่อไทยรัฐเคยขออภัยผ่านบทบรรณาธิการแล้ว จึงเห็นว่าสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ควรแจ้งให้ไทยรัฐระมัดระวังการเสนอภาพข่าวในลักษณะเช่นนี้ในโอกาสต่อๆ ไป

ส่วนกรณีที่ไทยรัฐอุทธรณ์ และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีมติให้ยกคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ก็เห็นด้วยนั้น อนุกรรมการผู้นี้ ยอมรับว่า ก็ต้องถือเป็นที่สุด แต่ส่วนตัวแล้ว ไม่คิดว่า ไทยรัฐจะคิดมากและนำเรื่องการว่ากล่าวตักเตือนมาเป็นประเด็นในการอุทธรณ์ เพราะยังไม่เคยมีการอุทธรณ์ในประเด็นนี้มาก่อน

ส่วนกรณีที่ไทยรัฐเปรียบเทียบการลบพระบรมฉายาลักษณ์กับการเซ็นเซอร์คนสูบบุหรี่ดื่มเหล้าหรือเซ็นเซอร์ภาพอุจาดนั้น คุณลุงสัมผัส บอกว่า คงเทียบกันไม่ได้ ต้องดูเป็นเรื่องๆ ไป เพราะนี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสถาบัน

“อนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ก็วินิจฉัยไปแล้วว่า มันเป็นการเสนอข่าวไม่ครบน่ะ มันคลาดเคลื่อนน่ะ มันไม่ครบถ้วนน่ะ พอมันถูกยกเลิกหรือเอารูป(พระบรมฉายาลักษณ์)ออกไปน่ะ เป็นการเสนอข่าวที่ไม่ครบถ้วน ในข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมเนี่ย จะต้องเสนอข่าวแบบตรงไปตรงมาและครบถ้วน แต่อันนี้มันถูกยก ภาพ(พระบรมฉายาลักษณ์)มันหายไปน่ะ เราก็มองว่า เอ๊ะ! นี่มันก็ไม่ถูกน่ะ ทีนี้ แต่ยังไงก็ตาม เขาก็เคยลงแก้ข่าว แต่เราก็บอกว่า ให้ระมัดระวัง อันนี้มันผ่านกระบวนการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ไปแล้วล่ะ มันก็ไปถึงชั้นบอร์ด(กรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ฯ)แล้ว ทีนี้ชั้นบอร์ดเขาก็ มีข่าวว่า เมื่อไม่ผิดแล้ว แล้วทำไมไปว่ากล่าวตักเตือนเขาล่ะ ผมบอก เอ๊ะ! การว่ากล่าวตักเตือนนี่มันไม่ใช่โทษนี่ ใช่มั้ย มันก็คือให้ระมัดระวังในการเสนอข่าว เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน”

“(ถาม-การที่ไทยรัฐเทียบเรื่องที่ตัวเองลบพระบรมฉายาลักษณ์ กับการเซ็นเซอร์ภาพอุจาด หรือเซ็นเซอร์คนสูบบุหรี่ดื่มเหล้า ว่าเป็นการเสนอข่าวไม่ครบหรือเปล่า คิดว่าเทียบกันได้มั้ย?) มันก็ต้องดูว่าแต่ละกรณีเป็นเรื่องอะไร เรื่องเด็ก เรื่องผู้หญิง เรื่องอนาจาร เรื่องอะไรต่างๆ บางทีมันก็ต้องละเว้น แต่เรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันน่ะ ไม่ควรจะไปลบออกหรือไปทำอะไรต่ออะไร ...อันนี้ก็อาจจะเป็นอุทาหรณ์ให้พิจารณาต่อไปว่า เมื่อมีกรณีอย่างนี้เกิดขึ้น การที่สภาการหนังสือพิมพ์ฯ เสนอให้ระมัดระวังอย่างนี้ มันเป็นโทษเหรอ ไม่งั้นต่อไป ก็ให้ความคิดความเห็นอะไรกันไม่ได้สิ (ถาม-การที่คณะกรรมการอุทธรณ์ยกคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฯ แสดงว่า ต่อไปไทยรัฐจะลบพระบรมฉายาลักษณ์อีกก็สามารถทำได้ ไม่ต้องระมัดระวังเลยสิ?) ผมว่าเรื่องนี้นะ มันเป็นเรื่อง มัน(ไทยรัฐ)มองว่า การให้ระมัดระวัง มันถือเป็นเรื่องต้องถูกลงโทษใหญ่โต มันคิดอะไรกันมากมายถึงขนาดนั้น ถ้าหากว่าเรา(ไทยรัฐ)มีความสุจริตใจพอและมีความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา ก็ไม่เห็นจะน่าต้องคิดมากอะไร เหมือนเราถูกผู้ใหญ่ว่ากล่าวตักเตือน ก็โอเค ทำไมคิดมาก ไม่รู้นะ”


ทั้งนี้ มีอนุกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์บางคน ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การที่ไทยรัฐอุทธรณ์ว่า ตนไม่ได้ทำผิด แล้วมาตักเตือนให้ตนระมัดระวังการเสนอภาพข่าวลักษณะนี้เช่นนี้ในโอกาสต่อไปได้อย่างไรนั้น เป็นคำอุทธรณ์ที่ไม่น่าจะฟังได้ เพราะการที่ไทยรัฐขออภัยผ่านบทบรรณาธิการก่อนหน้านี้ ก็เท่ากับไทยรัฐยอมรับแล้วว่า ตนทำผิด เพราะถ้าไม่ผิด จะขออภัยทำไม

ด้าน อ.อนุสรณ์ ศรีแก้ว คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ชี้ว่า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่กล้าหาญพอที่จะชี้ให้ชัดว่า ไทยรัฐผิดหรือไม่ผิด แต่บอกว่าไทยรัฐแสดงความรับผิดชอบสูงสุดแล้ว ซึ่งส่วนตัวแล้ว มองว่า การขออภัยของไทยรัฐผ่านบทบรรณาธิการ ไม่ได้แสดงถึงเจตนาสำนึกผิดแต่อย่างใด พร้อมกันนี้ อ.อนุสรณ์ ยังเตือนสติไทยรัฐด้วยว่า “พระบรมฉายาลักษณ์ไม่ใช่ภาพอุจาด”ที่ไทยรัฐนึกจะลบออกเมื่อไหร่ก็ได้อย่างที่ไทยรัฐพยายามเปรียบเทียบ

“ฟังดูแล้ว ผมรู้สึกว่ามันยังไม่มีเหตุผลเพียงพอ คือจริงๆ แล้ว ในส่วนของคณะกรรมการอุทธรณ์เนี่ย คือควรที่จะระบุให้มันชัดเจนว่า ตกลงมันละเมิดหรือไม่ละเมิดในเรื่องของจริยธรรม เสร็จแล้วเนี่ย การชี้ออกมาในเชิงที่ว่า การที่ไทยรัฐได้แสดงความรับผิดชอบ โดยมีการเขียนลงในบทบรรณาธิการ เป็นการแสดงความรับผิดชอบสูงสุดแล้วเนี่ย ความหมายโดยนัยตรงนี้เนี่ย ความหมายก็คือไทยรัฐได้สำนึกผิดไปแล้วหรือเปล่า แต่ทีนี้ความสำนึกผิดตรงนี้ ผมก็รู้สึกว่า ในบทบรรณาธิการเอง มันคล้ายๆ เขียนแบบคลุมเครือว่า ถ้าหากว่ามันทำให้คนอ่านมีความรู้สึกไปในทำนองที่ไม่จงรักภักดีแล้วเนี่ย ก็ต้องกราบขออภัยอะไรทำนองนี้ ซึ่งถ้าหากสำนึกผิดจริงๆ มันควรจะบอกว่า การกระทำดังกล่าวมันเป็นการกระทำที่ คือระบุให้ชัดเจนว่าตัวเองมีความรับผิดชอบจริงๆ แต่การแสดงในลักษณะแบบนั้นเนี่ย ในส่วนของ คณะกรรมการอุทธรณ์มันควรจะชี้ชัดแล้วว่า การตกแต่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สมควร ไม่ควรด้วยซ้ำที่จะใช้คำเรียกว่า เนื่องจากฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาเนี่ยได้สำนึกผิดแล้ว จึงไม่ควรจะตักเตือนอะไรทำนองนั้น คือ คณะกรรมการอุทธรณ์ควรจะชี้ คือ คณะกรรมการอุทธรณ์ควรจะมีความกล้าหาญมากกว่านี้ คือความจริงแล้ว ถ้าไทยรัฐต้องการจะหลีกเลี่ยงเนี่ย มันสามารถทำได้ คือเรื่องนี้มันไม่ใช่สิ่งของ เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ ไม่ใช่เป็นสิ่งของทั่วๆ ไป ที่คุณจะไปตัดต่อ ที่คุณจะไปอะไรต่างๆ “

“จริงๆ แล้วเนี่ย การที่(ไทยรัฐ) จะไปอ้างว่าข่าวโทรทัศน์ข่าวอะไรต่างๆ ทำเป็นภาพเบลอภาพอะไรต่างๆ ได้ ผมคิดว่ามันไม่เหมาะสม ซึ่งข่าวต่างๆ ที่ทีวีทำเบลอไปนั้น มันเนื่องมาจากมันเป็นรสนิยมที่ไม่สมควร ถ้าหากคุณนำเสนอไปในลักษณะแบบนั้น ผมว่ามันก็ผิดจรรยาบรรณเหมือนกัน ถ้าหากว่าคุณสกรีนข่าว มันก็มีหลักการอันหนึ่งที่ระบุไว้ว่า ภาพข่าวที่มันอุจาดนัยน์ตา แต่ภาพพระบรมฉายาลักษณ์เนี่ยมันไม่ใช่เป็นภาพข่าวที่อุจาดนัยน์ตาที่คุณจะไปแต่งเติมหรือทำให้หายไป มันเป็นที่เคารพสูงสุด ทีนี้ถ้าหากไทยรัฐ ต้องการที่จะหลีกเลี่ยง ก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องตัดอะไรเลย ก็เพียงแต่อัญเชิญไปไว้ในบริเวณที่เหมาะสมของหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ ก็สามารถทำได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นผมคิดว่าในส่วนของคณะกรรมการอุทธรณ์ ผมรู้สึกว่า ไม่กล้าหาญเพียงพอที่จะตักเตือนหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่”


อ.อนุสรณ์ ยังยืนยันด้วยว่า ตนเห็นด้วยกับมติของคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ที่เห็นว่า ควรเตือนให้ไทยรัฐระมัดระวังการนำเสนอภาพข่าวในลักษณะเช่นนี้ในอนาคต เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก และว่า ส่วนตัวแล้วไม่แน่ใจว่า การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งมีแค่ 3 คน สามารถยกคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฯ ที่มีมากถึง 10 กว่าคนได้นั้น มีความชอบธรรมเพียงใด และใครมีสายสัมพันธ์กับไทยรัฐหรือไม่?

อย่างไรก็ตาม อ.อนุสรณ์ ชี้ว่า การที่คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ฯ เห็นด้วยกับคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เป็นการตอกย้ำคำพูดที่ว่า “แมลงวันไม่ตอมแมลงวันด้วยกันเอง” ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะนำไปสู่ความอ่อนแอ-ความเสื่อมขององค์กรสื่อในที่สุด!!
หลายฝ่ายเห็นว่า เดลินิวส์ทำถูกต้องแล้วที่ลงภาพนี้อย่างสมบูรณ์และวางภาพไว้ด้านบนสุดของ นสพ.
ขณะที่ไทยรัฐ วางภาพนี้ไว้ด้านล่างสุดของ นสพ.แล้วอ้างว่าเด็กถือพระบรมฉายาลักษณ์ไม่เหมาะสม จึงต้องลบออก
หน้า 1 ไทยรัฐ 11 ก.ค.กรอบต่างจังหวัด ลบพระบรมฉายาลักษณ์ออกเช่นกัน แต่ยังเห็นเป็นกระดาษสีขาว
ไทยรัฐ ชี้แจงผ่านบท บ.ก.(16 ก.ค.50) ยืนยันความจงรักภักดีของตน พร้อมโยนความผิดว่า นศ.เป็นต้นเหตุให้ต้องลบพระบรมฉายาลักษณ์ออกจากภาพข่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น