xs
xsm
sm
md
lg

“หมัก” เร่งคดีรุกป่าทั่วประเทศ-ขยับแก้ กม.เพิ่มอำนาจดีเอสไอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมัคร สุนทรเวช
“หมัก” ร่วมประชุมดีเอสไอ เร่งสางคดีเพชร-ฆ่าทูตซาอุฯ ตรวจสอบคดีบุกรุกป่าสงวนและที่ดินทำกินทั่วประเทศ อ้างไม่มีธงล่วงหน้าแต่เป็นกลางโปร่งใส ขยับแก้ กม.เพิ่มอำนาจให้เพิ่มอีก

วันนี้ (10 เม.ย.) เมื่อเวลา 09.00 น. นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ครั้งที่ 1/2551 ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยมี นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รมว.ยุติธรรม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าร่วมประชุมด้วย

ภายหลังการประชุม พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ โฆษกดีเอสไอ แถลงว่า วาระแรกของการประชุมเป็นการรายงานการปฏิบัติงานของดีเอสไอที่รับคดีมาดำเนินการเป็นคดีพิเศษแล้วจำนวน 407 คดี ดำเนินการเสร็จแล้ว 269 คดี และอยู่ระหว่างดำเนินการ 138 คดี และนอกจากนี้กคพ.มีมติเห็นชอบให้รับคดีความผิดทางอาญาไว้เป็นคดีพิเศษที่จะต้องดำเนินการสอบสวนจำนวน 6 เรื่อง 1) กรณีธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) ที่ขอให้ดำเนินคดีกับบริษัท เพรสิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด กับพวก ในความผิดฐานฉ้อโกง 2) กรณีนายลีโอ เดลพินโด นักท่องเที่ยวชาวแคนาดาถูกฆาตกรรม 3) กรณีชมรมบัตรเครดิต-สมาคมธนาคารไทย ที่ขอให้ดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลที่ลักลอกข้อมูลจากเครื่องเบิกเงินสดอัตโนมัติ 4) กรณีกรมศุลกากร ที่ขอให้ดำเนินคดีต่อบริษัท มูราโมโต้ อิเล็คตรอน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ

5) กรณีธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ที่ขอให้ดำเนินคดีต่อบริษัท เพรสิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด กับพวก ในความผิดฐานฉ้อโกง 6) กรณีบุกรุกพื้นที่สาธารณะเขาอ่าวนาง จังหวัดกระบี่ อย่างไรก็ตาม มีอีก 4 คดี ที่ กคพ.ไม่รับเป็นคดีพิเศษ คือ 1.ความไม่โปร่งใสในการจัดการงบประมาณของวัดมกุฏฯ 2.ผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองท้องถิ่นลักทรัพย์ที่นครสวรรค์ 3.กรณีดูดทาย และ 4.กรณีที่ตำรวจถูกยิงเสียชีวิต

นอกจากนี้ ที่ประชุม กคพ.ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาทำความเห็นเสนอ กคพ.เกี่ยวกับการมีมติให้คดีความผิดทางอาญาอื่นเป็นคดีพิเศษที่ต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวน ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 พร้อมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดและแก้ไขปรับปรุงรายละเอียดการกระทำความผิดคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1)แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาร่างระเบียบ กคพ.ว่าด้วยการให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษทำการสืบสวนคดีความผิดทางอาญา เพื่อเสนอเป็นคดีพิเศษตาม มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2)

พร้อมกันนี้ กคพ.ได้มีมติเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อออกกฎกระทรวงกำหนดคดีความผิดทางอาญาตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นคดีพิเศษเพิ่มเติม รวมทั้งการออกกฎกระทรวงกำหนดคดีพิเศษตามคดีความผิดทางอาญาตามกฎหมาย จำนวน 10 ฉบับ อย่างไรก็ตามในที่ประชุมไม่ได้มีการหารือเรื่องของคดีบัตรเลือกตั้ง, ศรีสุบรรณฟาร์มของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ คดีอุ้มทนายสมชาย ส่วนเรื่องของเงินสินบนมหกรรมภาพยนตร์บางกอกฟิล์มฯ คาดว่ากำลังดำเนินการอยู่ แต่วันนี้ไม่ได้มีการรายงานในที่ประชุม

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการพูดถึงคดีที่ประชาชนสนใจหรือไม่ โฆษกดีเอสไอ กล่าวว่า คดีที่เกี่ยวกับการฆาตกรรมนักการทูต หรือการหายตัวไปของนักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย ซึ่งค้างดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 โดยมีการกำชับให้เร่งดำเนินการ ซึ่งถือเป็นคดีที่มีความสำคัญที่ทุกรัฐบาลได้เร่งดำเนินการอยู่แล้ว สำหรับนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รมว.ยุติธรรม และนายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ก็ได้เร่งรัดดีเอสไอซึ่งเราก็กำลังทำงานอยู่เต็มที่

เมื่อถามว่า นายกฯ สนใจคดีไหนเป็นพิเศษ โฆษกดีเอสไอ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีไม่ได้กำชับเรื่องใดเป็นพิเศษ ยกเว้นแต่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบุกรุกทำลายป่า ที่ดินเอกสารสิทธิทับซ้อน การครอบครองพื้นที่สาธารณะแหล่งต้นน้ำลำธารต่างๆ ซึ่งดีเอสไอกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ประมาณ 50 คดีทั่วประเทศ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังสอบถามในเรื่องของเวลาว่าแต่ละคดีใช้เวลาดำเนินการเท่าไร ซึ่งเราก็ได้ชี้แจงว่าคดีทั่วๆ ไปที่ไม่สลับซับซ้อนก็จะใช้เวลาประมาณ 6 เดือนต่อคดี แต่ยังมีหลายคดีที่มีความสลับซับซ้อนต้องรอเอกสารต่างๆ และมีข้อมูลในการสืบสวนด้วย

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวอีกว่า ผู้แทนกระทรวงมหาดไทยได้เรียนนายกฯ ให้ทราบถึงปัญหาเกี่ยวกับที่ดินทับซ้อนเอกสารสิทธิที่อยู่ในหลายหน่วยงาน จึงมีการหารือในแนวเสนอความคิดเห็น ซึ่งคณะกรรมการ กพค.บางท่านเสนอว่าน่าจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาคุยกัน เพราะจะทำให้ทุกหน่วยมีข้อมูลตรงกันเพื่อทำให้เป็นมาตรฐานให้เกิดความชัดเจน ซึ่งท่านนายกก็สนับสนุนเพราะทราบว่าเอกสารสิทธิในการถือครองที่ดินและที่ทำกินกระจายอยู่หลายหน่วยงาน

ถามว่า แสดงว่าแนวทางการทำงานของดีเอสไอจากนี้จะเน้นในคดีเรื่องที่ดินทำกินเป็นหลัก พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวว่า กฎหมายใหม่ที่ออกมามีอยู่หลายฉบับด้วยกันที่ครอบคลุม ซึ่งดีเอสไอได้ขอเสนอและได้รับความเห็นชอบ ซึ่งระบุไว้ใน พ.ร.บ.ใหม่ว่ามีคดี 10 ประเภทที่เราเห็นว่ามีความสลับซับซ้อน มีความสำคัญ อาจจะมีผลกระทบต่อความมั่นคง เศรษฐกิจ ซึ่งมีถึง 5 ประเภทที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการบุกรุกทรัพยากรต่างๆ เช่น กฎหมายที่ดิน กฎหมายป่าไม้ กฎหมายอุทยานแห่งชาติ กฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ และกฎหมายเกี่ยวกับการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เป็น 5 ใน 10 ประเภทกฎหมายที่เราขอความเห็นชอบจาก ครม.ให้กระทรวงยุติธรรมออกเป็นกฎกระทรวงเพิ่มอำนาจหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษที่จะทำ

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวยืนยันในการทำงานของดีเอสไอว่า นโยบายของท่านรัฐมนตรีและอธิบดีดีเอสไอ ก็ค่อนข้างชัดเจนว่าเราอยากจะทำงานในลักษณะมืออาชีพ ว่ากันไปตามพยานหลักฐาน เราจะมีความโปร่งใสให้ความเป็นธรร พิจารณาข้อมูลทั้งหลายตามพยานหลักฐานไม่ได้มีการตั้งธงหรือว่ารับใบสั่ง เราอยากจะเป็นกลางทางการเมือง และเราอยากจะเป็นสากล สามารถที่จะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายของต่างประเทศได้ อยากจะยกระดับการบังคับใช้กฎหมายของไทย
/0110

กำลังโหลดความคิดเห็น