“สุริยะใส” สุดทนหุ่นเชิดข่มขืน ปชช.แก้ รธน.เพื่อฟอกตัวคนผิด ยัน “พันธมิตรฯ” นัดถกค้านเต็มรูป 19 เม.ย. ตอกรัฐบาลไม่บริสุทธิ์ใจอ้างเสียงข้างมากในสภา ก่อให้การเผชิญหน้าเร็วขึ้น
วันนี้ (6 เม.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการ ครป.แถลงการแก้รัฐธรรมนูญว่า ครป.จะคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีวาระซ่อนเร้นและมีผลประโยชน์ส่วนตนแอบแฝง และยืนยันจะร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 271 เพื่อถอดถอน ส.ส.ที่ร่วมลงชื่อเสนอญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการเจาะจงแก้ไขในมาตรา 237 กรณีความผิดยุบพรรคการเมือง หากพรรคร่วมรัฐบาลดื้อรั้นดันทุรังใช้เสียงข้างมากรื้อรัฐธรรมนูญโดยไม่สนใจกระบวนการที่ชอบธรรมและเป็นประชาธิปไตย พรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องตกเป็นจำเลยเพราะเข้าข่ายความผิด ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 ที่มีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ขัดกัน ซึ่งในวันที่ 19 เมษายน 2551 พันธมิตรจะจัดประชุมร่วมกับคณะกรรมการทั้ง 6 คณะเพื่อวางยุทธศาสตร์ในการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อฟอกผิดตนเอง
“ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิที่ทำได้ก็ตาม แต่ต้องมีกระบวนการหรือวิธีการที่น่าเชื่อถือ และให้สังคมเป็นเจ้าภาพ สำหรับข้อเสนอของพรรคร่วมรัฐบาลและเครือข่ายระบอบทักษิณ ที่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้น ครป.เห็นว่าเป็นเพียงการแก้เกมทางการเมืองหรือกลวิธีแบบลับลวงพราง ที่ต้องการสร้างความชอบธรรมในวงกว้าง แต่ลึกๆ แล้วหวังแก้ไขเพียง 2 มาตรา คือ มาตรา 237 และมาตรา 309 เท่านั้น” นายสุริยะใส กล่าว
นายสุริยะใส กล่าวว่า ครป.ขอถามไปยังพรรคร่วมรัฐบาลว่าถ้าจะแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจริงที่ไม่ใช่การตัดแปะ โดยเอารัฐธรรมนูญ 2540 มาแปะกับรัฐธรรมนูญ 2550 จะมีกระบวนการอย่างไร เพราะลำพังการอ้างวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ในมาตรา 291 ซึ่งให้อำนาจเด็ดขาดที่รัฐสภา หรือ ส.ส.และ ส.ว.นั้นเป็นเรื่องที่ควรละอายหรือไม่
นายสุริยะใส กล่าวอีกว่า ครป.ขอเรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลยุติความพยายามผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากรัฐบาลต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่จริงและเป็นการยุติการเผชิญหน้าในสังคม ก็ต้องแสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อปรับปรุงวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ โดยในขั้นตอนลงมติให้ใช้วิธีการออกเสียงประชามติของประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจไม่ใช่เสียงข้างมากในรัฐสภา ที่สำคัญจะเป็นการถ่ายโอนอำนาจในการทบทวนแก้ไขรัฐธรรมนูญมาอยู่ที่ประชาชน ให้สังคมเป็นเจ้าภาพ ซึ่งจะเป็นการขจัดปัญหาเรื่องผลประโยชน์ขัดกันหรือเป็นผู้มีส่วนได้เสียด้วย