พปช.ยกมติพรรค สยบ ส.ส.ค้านแก้ รธน.จวก “ปัญญา” หลังอ้าง 51 ส.ส.ค้าน เตรียมเฉ่งในที่ประชุมพรรค ส.ส.เหนือ ลั่น เดินหน้าแก้ รธน.เมินเสียงประชาชน แว้ง ขู่พันธมิตรฯ พาดพิงพรรคฟ้องแน่
วันนี้ (28 มี.ค.) ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง โฆษกพรรคพลังประชาชน กล่าวถึงกรณีที่ นายปัญญา ศรีปัญญา ส.ส.ขอนแก่น พรรคพลังประชาชน ออกมาระบุว่า ตนพร้อม ส.ส.หน้าใหม่ภาคอีสาน จำนวน 51 คน ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า พรรคยังไม่ได้มีการพูดคุยกับนายปัญญา ถึงเรื่องที่เกิดขึ้น ซึ่งคงจะมีการซักถามและชี้แจงในที่ประชุมพรรควันที่ 2 เม.ย.นี้ แต่จากการตรวจสอบ ไม่ปรากฏว่า มี ส.ส.อีสานคนใดออกมายืนยันความเห็นของนายปัญญา ดังนั้น จำนวน ส.ส.51 คน อาจเป็นเพียงการกล่าวอ้างเพื่อให้น้ำหนักของคนพูดเท่านั้น การแสดงความเห็นที่แตกต่างถือเป็นเอกสิทธิ์ส่วนตัว มติพรรคไม่สามารถก้าวก่ายได้ แต่ต้องถือว่าพรรคมีมติเห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้ว แต่พรรคก็พร้อมรับฟังความเห็น และนำไปปรับปรุงให้ครอบคลุมมากขึ้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเดินหน้าต่อและไม่ต้องการให้ยืดเยื้อ เกรงว่า จะเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมและรัฐบาลจะไม่มีเวลาทำงานเพราะมัวแต่มาตอบคำถามเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ขู่พันธมิตรฯ พาดพิงพรรคฟ้องแน่
ด้านนายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคพลังประชาชน กล่าวว่า ในขณะนี้มีความคิดเห็นแตกต่างกันในประเด็นดังกล่าว ส.ส.ที่ได้รับเลือกจากประชาชนมีความชอบธรรมที่จะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นเรื่องที่ ส.ส.พรรคพลังประชาชน หยิบยกขึ้นมาใช้ในการหาเสียง ตนเห็นว่า ควรที่จะหยิบยกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาใช้เป็นต้นร่าง โดยไม่ต้องไปแก้ไขมาตราใดๆ และไม่จำเป็นต้องไปฟังเสียงกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยบางกลุ่ม และพวกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่แต่ละคนเป็นลูกน้องของ คมช.
“ผมได้รับเลือกจากประชาชนแสนกว่าคะแนน มากกว่าจำนวน 5 หมื่นรายชื่อ ที่กำหนดให้รวบรวมมาแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียอีก ถ้า ส.ส.จะตัดสินใจทำอะไรลงไปประชาชนก็ต้องให้เกียรติพวกผมด้วย ถ้าพวกผมทำสำเร็จ เลือกตั้งครั้งหน้าเขาก็จะเลือกอีก แต่ถ้าไม่ดีเขาก็ไม่เลือก นี่คือระบบประชาธิปไตย” นายสุรพงษ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ประชาชนเลือก ส.ส.เพราะต้องการให้เป็นผู้แทนทำหน้าที่ในสภา แต่ไม่ได้มอบสิทธิทุกอย่างให้กับ ส.ส.เป็นผู้ตัดสินใจทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายสุรพงษ์ กล่าวว่า วันนี้พรรคพลังประชาชนป็นผู้ชนการเลือกตั้งจากคะแนนเสียงที่ประชาชนส่วนใหญ่มอบให้ ขณะที่ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อตอนออกเสียงประชามติอาจจะไปเลือกพรรคประชาธิปัตย์แต่สุดท้ายแล้วพรรคพลังประชาชนได้ส.ส.มากกว่า ฉะนั้น เมื่ออยู่ในระบอบประชาธิปไตยก็จะต้องยอมรับเสียงข้างมากบ้านเมืองจึงจะได้อยู่ได้