“ยุทธพงศ์” รุดแจงคดีรถ-เรือดับเพลิงต่ออนุฯ ไต่สวน คตส. ระบุเห็นความผิดปกติ พร้อมท้วงติงมาตั้งแต่สมัย “สมัคร” เป็นผู้ว่าฯ แต่ก็เกิดปัญหาโดยที่ ปชป.ไม่ทราบ เผย คตส.ยืนยันจะทำเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จก่อนหมดวาระในเดือน มิ.ย.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่า ในวันนี้ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง กทม. โดยมี นายนาม ยิ้มแย้ม ประธานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นประธาน ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เชิญนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ เข้าให้ปากคำในฐานะพยานคดีดังกล่าว
ทั้งนี้ ภายหลังใช้เวลาชี้แจง 4 ชั่วโมงเศษ นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า คณะอนุฯ ได้ให้ตนเอง ยืนยันคำให้การที่เคยให้ไว้ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ซึ่งตนก็ได้ยืนยันข้อมูลไป เพราะเป็นผู้ร้องเรียนเรื่องนี้เป็นคนแรก จากนั้นคณะอนุฯ ไต่สวนได้สอบถามว่าตนได้รับข้อมูลจากไหน ถึงได้นำมาร้องเรียน ตนได้ยืนยันว่าติดตามข้อมูลเรื่องนี้มาตั้งแต่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ยังคงสังกัดอยู่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และตนก็ได้มีการนำข้อมูลเรื่องนี้ไปพูดในสภาผู้แทนราษฎร เพราะเห็นความผิดปกติ และพยายามท้วงติงมาตลอด จนกระทั่ง นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าฯ กทม.ในสมัยนั้น ได้ลงนามในสัญญาซื้อขาย เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2547
นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า แต่ขณะนั้นสัญญายังไม่สมบูรณ์ เพราะมีเงื่อนไข ในข้อ 9.1 ระบุไว้ว่า สัญญาจะเกิดขึ้นหรือไม่ อยู่ที่แอล/ซี ต่อมานายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าฯ กทม. ในช่วงต้นเดือนกันยายน 2547 ตนและผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ ได้ขอให้ผู้ว่าฯ ยับยั้ง ไม่ให้มีการเปิดแอล/ซี และตนก็ได้ไปยื่นเรื่องต่อป.ป.ช.ให้มีการตรวจสอบเรื่องนี้ และได้ยื่นเรื่องต่อนายอภิรักษ์ ให้ระงับการเปิดแอล/ซี และขอให้เปรียบเทียบราคาสินค้าจากประเทศสเปน ที่อยู่ในมาตราฐานอียู เช่นเดียวกับออสเตรีย ซึ่งในขณะนั้นผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์มีความเห็นตรงกันที่จะให้นายอภิรักษ์ทบทวนและยุติการสั่งซื้อรถดับเพลิง เพราะการสั่งซื้อส่อเค้าว่าจะไม่โปร่งใส และเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจสอบของ ป.ป.ช. หาก กทม.ซื้อต่อไปจะส่งผลกระทบต่อภาครัฐ ซึ่งนายอภิรักษ์ ยืนยันว่าจะไม่มีการเปิดแอล/ซี
“แต่ต่อมาก็มีการเปิดแอล/ซี เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2548 โดยที่ทางพรรคประชาธิปัตย์ไม่ทราบ และเกิดปัญหา ที่ส่อไปในทางทุจริตหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องภาษีศุลกากร และภาษีมูลค่าเพิ่ม อีก 1,300 ล้านบาท ที่ กทม.ต้องเป็นผู้จ่าย นอกจากนี้ยังมีเรื่องเรือดับเพลิง และรถมิตซูบิชิที่เป็นของย้อมแมว ทำในไทยมาขายให้ กทม. ซึ่งตัวผมเองได้ท้วงติง เรื่องดังกล่าวมาก่อน ที่ปัญหาจะเกิดขึ้น และขณะเดียวกัน เรื่องนี้ผมก็เคยให้การต่อ ป.ป.ช. ดีเอสไอ และวันนี้ ก็มาให้การกับคณะอนุฯ ไต่สวนของ คตส. ซึ่งเชื่อมั่นมาตั้งแต่เริ่มว่าเรื่องนี้มีการทุจริต อย่างแน่นอน ซึ่งนายนาม ยิ้มแย้ม ประธานอนุฯ ยืนยันว่าจะเรื่องทำเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จก่อนหมดวาระ คตส.ในเดือนมิถุนายนนี้”
นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า ในระหว่างการให้ปากคำ นายนามได้ถามว่า ถ้านายอภิรักษ์ไม่เปิดแอล/ซี จะโดนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปลดจะทำอย่างไร ตนได้ตอบคำถามไปว่า เรื่องนี้ นายพีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธานคณะทำงานกฎหมายของพรรค เคยระบุว่า ถ้านายอภิรักษ์ ถูกปลดจากเรื่องนี้ ก็เป็นการดี ถ้าปลด รัฐบาลทักษิณจะได้พัง เพราะนายอภิรักษ์ มาจากการเลือกตั้ง ได้คะแนนเสียงเป็นล้าน หากถูกปลดเพราะไม่เข้าไปร่วมกระบวนการทุจริต จะได้ฟ้องประชาชน ซึ่งทางพรรคก็ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อพรรคไม่เห็นด้วยแล้วทำไม นายอภิรักษ์ถึงไปเปิดแอล/ซีอีก นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า ไม่ทราบ ต้องไปถามนายอภิรักษ์ เพราะเรื่องที่นายอภิรักษ์ไปเปิดแอล/ซี ทางพรรคก็ไม่มีใครรู้ เมื่อถามว่าในฐานะเป็นคนพรรคประชาธิปัตย์ ติดตามเรื่องนี้มาตลอด เห็นว่าในคดีนี้ นายอภิรักษ์สมควรถูก คตส.ตั้งข้อกล่าวหรือไม่ นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า “ผมไม่มีความเห็นเรื่องที่คณะอนุฯ ไต่สวน จะพิจารณาเองว่าใครถูกหรือผิด ตัวผมเองไม่สามารถจะช่วยใครถูกเป็นผิด หรือผิด เป็นถูกได้ มีหน้าที่แค่นำข้อมูลที่มีมาปกป้องผลประโยชน์ ของประเทศชาติและประชาชนเท่านั้นเอง”
เมื่อถามย้ำว่า บุคคลที่ระบุว่าทำถูกเป็นผิด ทำผิดเป็นถูกหมายถึงใคร นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า หมายถึงทุกคน อย่างคุณสมัคร ตนไม่เคยกล่าวร้าย แต่มันเป็นข้อเท็จจริงว่าท่านเป็นคนลงนามในสัญญา และในคดีนี้การกระทำของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ คตส.จะเป็นผู้ชี้ถูกชี้ผิด และหลังจากกระบวนการ คตส.ก็ยังมีชั้นอัยการ และชั้นศาลอีกที่จะวินิจฉัยว่า ใครจะกระทำผิดบ้าง