xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.ล่าชื่อเสนอญัตติตั้งกมธ.ศึกษากรณีรัฐบาลขี้เหร่ขอแก้รัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จับตาประชุมสภาสูงศุกร์นี้เดือด ส.ว.ล่าชื่อเสนอญัตติตั้งกมธ.ศึกษากรณีรัฐบาลขี้เหร่ขอแก้รธน.“รสนา-ตวง” ประสานเสียงค้านสุดแรงเกิดลั่นห้ามหยิบรธน.เป็นตัวประกันตัดตอนให้ใครคนใดคนหนึ่ง ขณะที่อดีตส.ส.ร.เปิดประเด็นใหม่รัฐบาลไม่มีสิทธิ์ตั้งกมธ.ศึกษาข้อแก้ไข แต่เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาตามมาตรา 244(3) ของรธน.ที่มีอำนาจหน้าที่เต็ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่วิปประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลออกมาแถลงข่าวอย่างเป็นทางการว่าต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือนโดยมีการเพิ่มเติมประเด็นที่จะแก้ไขในหลายส่วนโดยเฉพาะในมาตรา 309 เรื่องการนิรโทษกรรมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่รัฐบาลชุดนี้ต้องการให้ยุบเลิกไปนั้นล่าสุดได้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้อย่างหนักโดยเฉพาะในส่วนของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

โดย นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 และส.ว.สรรหา กล่าวว่า การที่รัฐบาลชุดนี้ออกมาประกาศอย่างชัดเจนว่าจะมีการแก้รัฐธรรมนูญในมาตรา 309 เป็นการตอกย้ำอย่างชัดเจนว่านอกจากรัฐบาลจะแก้รัฐธรรมนูญมาตรานี้เพื่อตนเองแล้ว ยังเป็นการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตอบโต้ ค.ม.ช.และพอรัฐบาลหยิบยกประเด็นมาตรา 309 ขึ้นมาแบบนี้จะทำให้สถานการณ์การเมืองไทยตึงเครียดขึ้นมาอีกครั้ง โดยหยิบเอารัฐธรรมนูญมาเป็นเครื่องมือในการที่จะช่วยตัวเองให้พ้นจากความผิดที่เผชิญหน้าอยู่

"ผมเชื่อว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้จะนำไปสู่วิกฤตทางการเมืองอีกครั้ง และเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งและกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยสามารถหยิบมาเป็นเงื่อนไขในการชุมนุมได้"

นายสุรชัย กล่าวอีกว่า ถ้าจะให้ดีรัฐบาลชุดนี้ควรเปลี่ยนรูปแบบและวีในการนำเสนอว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไรและควรนำเสนอว่ามีมาตราไหนที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติเพราะถ้าหากทำในรูปแบบนี้ประชาชนจะเข้าใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้มากกว่าที่รัฐบาลจะออกมาพูดฝ่ายเดียวจนสร้างความสับสนให้แก่ประชาชนแบบนี้ อย่างไรก็ตามหากมีฝ่ายการเมืองหรือภาคประชาชนองค์กรไหนจะเชิญ ส.ว. ไปแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้เราก็พร้อมที่จะไป ขอให้เวทีนั้นเป็นเวทีนั้นเป็นกลางทางการเมืองอย่างแท้จริง

นายสุรชัย กล่าวอีกว่า แต่ประเด็นหนึ่งที่นักฏหมายและอดีต ส.ส.ร รวมถึงรัฐบาลเองลืมไปคือ รัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ได้หาทางออก ในปัญหาของรัฐธรรมนูญที่กำหนดหน่วยงานขึ้นมาตรวจสอบรัฐธรรมนูญ และคอยดูแลรัฐธรรมนูญเมื่อมีปัญหา คือมาตรา 244 (3)ในหมวดผู้ตรวจการแผ่นดินที่ระบุว่าผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่ในการติดตามประเมินผลและจัดทำข้อเสนอแนะในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ รวมตลอดถึงข้อพิจารณาเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในกรณีที่เห็นว่าจำเป็นซึ่งจากรัฐธรรมนูญมาตรานี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้ว่าหน่วยงานที่จะรับเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่รัฐบาลแต่เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินต่างหากที่มีอำนาจแก้รัฐธรรมนูญนั่นคือสิ่งที่หลายคนมองข้ามประเด็นนี้ไป

ด้าน นส รสนา โตสิตระกุล ส.ว กทม กล่าวว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ควรมุ่งเน้นไปที่ประชาชนมากกว่าและฝ่ายการเมืองไม่น่าจะรีบร้อนในการขอประกาศแก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะสำหรับตนแล้วขอบอกล่วงหน้าไว้ก่อนว่าตนไม่ได้ลงประชามติให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผ่านการประกาศใช้ แต่เมื่อรัฐธรรมนูญได้ผ่านการลงประชามติมาแล้ว 14 ล้านเสียงซึ่งตนก็ต้องยอมรับประชามติของประชาชนที่ได้ลงประชามติให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการประกาศใช้ซึ่งพรรคการเมืองใดที่ลงสมัครรับเลือกตั้งก็จะต้องยอมรับในกติกานี้ทุกคนโดยส่วนตัวแล้วตนไม่เห็นด้วยกับ มาตรา 309 ในรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ที่นิรโทษกรรมให้กับ คมช แต่หากจะมีการแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เพื่อตัดตอนให้ใครคนใดคนหนึ่งซึ่งหากมีเพื่อนสมาชิกคนใดเสนอญัตติข้ออภิปรายในเรื่องนี้ตนก็จะเป็นผู้ร่วมอภิปรายด้วย

ด้านนายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ในวันุกร์ที่ 28 มี.ค. ตนจะเสนอญัตติขอตั้งกรรมมาธิการวิสามัญ ศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช2550 โดยมีความตั้งใจว่า กรรมาธิการชุดนี้ ต้องการบอกให้ประชาชนได้ทราบว่า วุฒิสภามีความเป็นกลาง โดยจะมีประเด็นเกี่ยวกับช่วงระยะเวลาว่า ถึงเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ และหากแก้ต้องแก้เรื่องอะไรบ้าง และต้องการบอกให้สังคมทราบว่า การที่รัฐบาลเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นวาระเร่งด่วนจริงหรือไม่ เพราะตนเห็นว่า ยังมีเรื่องอื่นที่เร่งด่วนกว่า ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม ปัญหาเหล่านี้ควรรีบแก้

นายตวง กล่าวอีกว่า การที่รัฐบาลอ้างว่า ได้มามาจากการเลือกตั้ง ตนก็ไม่ปฏิเสธ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เสมือนศีลของพระ ถ้าพระปฏิบัติผิดศีล ก็ถือว่าอาบัติ เช่นเดียวกับรัฐบาล หากปฏิบัติกฏหมายรัฐธรรมนูญ ก็ผิดที่ตัวเอง และ มาตรา 237 เจตนาของผู้ร่างมาตรานี้ เพื่อต้องการให้กกต.มีบทบาทอำนาจอย่างชัดเจน เพราะที่ผ่านมาจะมีปัญหาการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการซื้อสิทธิ์ ขายเสียง ดังนั้นผู้เขียนกฏหมายนี้ จึงยึดเจตนารมณ์ดังกล่าว เพิ่มอำนาจให้กกต.เพื่อป้องกันการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ให้กกต.สามารถจัดการเลือกตั้งอย่างยุติธรรม ไม่ใช่เสือกระดาษ ที่ถูกกล่าวหามาโดยตลอด และหากจะแก้ ต้องไปแก้ในมาตรา 329 ด้วยซ้ำ

เมื่อถามว่า รัฐบาลตั้งใจจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ นายตวงกล่าวว่า ตนยิ่งไม่เห็นด้วยเพราะไม่มีเหตุผล อีกทั้งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่ได้ใช่เลย ซึ่งความจริง ต้องให้เวลาใช่รัฐธรรมนูญ 2 – 3 ปี ถึงพิจารณาเพื่อแก้ไข ในส่วนที่ยังบกพร่องไม่ดี และต้องอธิบายให้ชัดเจนด้วยว่า ไม่เห็นด้วยเพราะอะไร อย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ผ่านการประชามติ และจะปฏิรูปรัฐธรรมนูญอย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องปฏิรูปสังคม รวมทั้งตัวเอง ที่ยังคงคิดแบบเดิมๆ ทำแบบเดิมๆ บอกได้เลยว่าไม่มีทางพัฒนาประเทศชาติได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับวาระในการประชุมของสมาชิกวุฒิสภาในวันศุกร์ที่ 28 มี.ค. ที่จะถึงนี้มีวาระการประชุมที่สำคัญสามเรื่องด้วยกันคือ 1.การตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลการศาลปกครองสูงสุดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 121 2. ตั้งคระกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลการศาลรัฐธรรมนูญ 3.พิจาณาญัตติเรื่องการเสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและติดตามการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการประมงที่สมาชิกร่วมกันนำเสนอ
กำลังโหลดความคิดเห็น