“จาตุรนต์” โผล่ผสมโรงหนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญ อ้างเผด็จการครอบงำ ทำให้รัฐมนตรีไม่อาจแก้ปัญหาประชาชนได้เต็มที่ อ้างประชาชนอ่อนแอ รัฐบาลไม่เข้มแข็ง ทำเหนียมบอกไม่เกี่ยวนิรโทษ 111 ศพ ทรท.
วันนี้ (23 มี.ค.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย กล่าวสนับสนุนกรณีที่พรรคพลังประชาชนเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ไม่เป็นประชาธิปไตย เนื่องจากที่ผ่านมาอำนาจไม่ได้อยู่ที่ประชาชน หรือผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะทั้ง ส.ส.และรัฐมนตรี ไม่สามารถทำงานให้กับประชาชนได้ เนื่องจากถูกอำนาจเก่าเข้ามาแทรกแซง นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังทำให้ประชาชนอ่อนแอ รัฐบาลไม่เข้มแข็ง
“อยากทวงสัญญาประชาคมกับพรรคต่างๆ ที่ให้สัญญาไว้ก่อนการเลือกตั้ง การแก้รัฐธรรมนูญควรดำเนินการโดยเร็ว การแก้ไขควรพิจารณาทั้งฉบับและในประเด็นที่สำคัญ ผมไม่เห็นด้วย ถ้าจะรอให้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้เสร็จสิ้นก่อน เพราะหากไม่แก้รัฐธรรมนูญ ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ ดังนั้น ควรทำไปพร้อมๆ กัน” นายจาตุรนต์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เสียงของฝ่ายรัฐบาลที่มีกว่า 300 เสียง เพียงพอที่จะเป็นผู้เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ส.ส.สามารถดำเนินการได้เลย โดยทำในลักษณะการร่วมกันทำของพรรคการเมือง ไม่จำเป็นต้องรอคณะรัฐมนตรี หรือการเข้าชื่อจากประชาชน เพราะจะทำให้ล่าช้า อีกทั้ง ส.ส.มีสิทธิเสนอแก้รัฐธรรมนูญ เพราะประชาชนเป็นผู้คัดเลือกเข้ามา และในการแก้ไขควรใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นหลัก โดยนำข้อเสียออกไป แล้วนำข้อดีของรัฐธรรมนูญปี 2550 มาใส่เพิ่มเติม จะทำให้เกิดความรวดเร็วขึ้น
ส่วนกรณีที่มีการมองว่า การแก้รัฐธรรมนูญจะส่งผลดีกับพรรคที่กำลังถูกพิจารณาในคดียุบพรรคนั้น นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ไม่แน่ใจ แต่ด้วยระบบกฎหมายของไทยว่าด้วยการยุบพรรค เป็นกฎหมายที่ล้าหลังและขัดต่อหลักนิติธรรม ในส่วนนี้ควรจะแก้ไข เพราะทำให้เกิดการยุบพรรคได้ง่าย ไม่มีกฎหมายที่ใดในโลกทำกันแบบนี้ หรือกรณีคนหนึ่งกระทำความผิด แต่มาลงโทษกับพรรคการเมือง อย่างไรก็ตาม มองว่าการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับอาจกินเวลานานเป็นปี แต่หากแก้ในบางมาตราก็จะทำได้เร็วขึ้น แต่ส่วนตัวอยากให้มีการแก้ไขทั้ง 2 ส่วนไปพร้อมกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่มีการระบุถึงมือที่มองไม่เห็น ซึ่งพยายามเข้ามาแทรกแซงการทำงานของรัฐบาล และคดียุบพรรคการเมืองนั้น นายจาตุรนต์ ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นว่าบุคคลดังกล่าวคือใคร เพราะไม่ชอบทำงานลักษณะสืบสวน ส่วนตัวคิดว่าไม่มีใครอยู่เบื้องหลัง แต่ผู้ที่ร่วมกันทำปฏิวัติและมีอิทธิพล ได้วางระบบไว้ในส่วนงานต่างๆ ทำให้ยังมีอำนาจอยู่ และกลไกที่วางไว้ยังมีผลต่อเนื่องมา
ส่วนที่มีการมองว่า มีการตั้งธงในคดียุบพรรคไว้แล้ว นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ไม่มีข้อมูลเรื่องนี้ แต่การยุบพรรคก็เป็นผลอย่างหนึ่งที่มาจากการทำรัฐประหารยึดอำนาจต้องการเข้ามา เพื่อเลือกพรรคการเมืองมาเป็นรัฐบาล และให้แน่ใจว่าสามารถจัดการกับพรรคการเมือง หรือคนบางกลุ่มให้หมดไปได้ โดยไม่คำนึงว่าระบบประชาธิปไตยจะสูญเสียไป ไม่สนใจว่าใครจะบงการ เพราะเป็นการกระทำร่วมๆ กัน จนทำให้บ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย ถ้ายังเป็นเช่นนี้ บ้านเมืองก็จะเดินหน้าต่อไปไม่ได้
เมื่อถามว่า เห็นด้วยหรือไม่ที่ควรยุบพรรคการเมืองที่ไม่ดี นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ถูกต้อง แต่ไม่ใช่จะยุบพรรคเพียงเพื่อต้องการลงโทษคนในพรรคที่ไม่ดีเพียงคนเดียว ซึ่งขัดกับหลักนิติธรรม ซึ่งการเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่หวังเพื่อให้นิรโทษกรรม 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย เป็นคนละประเด็นกัน และหากจะนิรโทษกรรมต้องทำโดยพระราชบัญญัติ ไม่ใช่รัฐธรรมนูญ แม้จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ก็ไม่เกี่ยวกัน
“วันนี้ไม่ได้มาเรียกร้องเรื่องของการนิรโทษกรรม เพราะที่ผ่านมา ยืนยันได้ว่า ไม่ได้กระทำความผิด คำสั่งลงโทษเป็นการพิจารณาโดยไม่ได้ใช้หลักนิติธรรม แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่เห็นด้วยกับการลงโทษผู้ที่กระทำความผิด การนิรโทษกรรมต้องดูเรื่องเวลาที่เหมาะสม ที่ผ่านมาก็ไม่เคยเรียกร้องหรือขอความกรุณาจากใคร” นายจาตุรนต์ กล่าว
/0110