xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ชี้ยุบไม่ยุบ “มฌ.-ชท.” เปรียบเสมือนดาบสองคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ประพันธ์” ยอมรับการวินิจฉัยยุบไม่ยุบ มฌ.-ชท. กระทบทั้ง 2 ทาง แต่จะใช้สถานการณ์บ้านเมืองและเสถียรภาพรัฐบาล หักล้างพยานหลักฐานไม่ได้ นัดลงมติ 18 มี.ค. ชี้หากมีมูลส่งอัยการสูงสุดฟ้องศาลรธน.ทันที

วันนี้ (12 มี.ค.) นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารการเลือกตั้ง กล่าวถึงผลสรุปของอนุกรรมการพิจารณายุบพรรคชาติไทย และมัชฌิมาธิปไตย ที่มีนายบุญทัน ดอกไธสง เป็นประธานฯ ว่า ขณะนี้ กกต.ยังไม่ได้รับสำนวนการสอบสวนจากอนุกรรมการ ทราบว่าจะมีการลงนามในวันที่ 13 มี.ค.นี้ จากนั้นก็จะส่งให้ กกต.วันศุกร์ที่ 14 มี.ค. โดย กกต.จะนำสำนวนไปศึกษาและจะนำเข้าสู่การพิจารณาวันอังคารที่ 18 มี.ค. และหากในสำนวนมีการสอบพยานครบถ้วนแล้วก็คงไม่ต้องสอบสวนเพิ่มเติม เนื่องจากคณะกรรมการฯ ได้สอบพยานเพิ่มเติมมา 2-3 ครั้งแล้ว คาดว่า กกต.น่าจะสามารถลงมติได้เลย ซึ่งการพิจารณาในชั้น กกต.นั้นเราก็จะยึดทั้งกฎหมาย และข้อเท็จจริง

“หาก กกต.มีมติอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะกระทบทั้ง 2 ทาง ไม่เฉพาะพรรคการเมืองเท่านั้น แต่ กกต.ต้องยึดพยานหลักฐานเป็นหลัก ซึ่งการพิจารณานั้นก็จะนำประเด็นทางการเมืองมาพิจารณาดูด้วย แต่ถ้าหลักฐานเพียงพอก็ต้องว่าไปตามหลักฐานจะเอาประเด็นการเมืองมาลบล้างพยานหลักฐานไม่ได้” นายประพันธ์ กล่าว และว่าในการพิจารณาเรื่องนี้ กกต.จะใช้มติเสียงข้างมาก ถ้าเห็นว่าคดีมีพยานหลักฐานจะส่งไปให้อัยการสูงสุดดำเนินการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ถ้าเห็นว่าพยานหลักฐานไม่พอก็สามารถสั่งยุติเรื่องได้ อย่างไรก็ตาม ต้องหารือกันที่ประชุม กกต.ก่อน

เมื่อถามว่า กกต.ก็เกรงว่าการวินิจฉัยจะกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาล และพรรคการเมืองเหมือนกัน นายประพันธ์ กล่าวว่า เราก็คำนึง เพราะเรื่องยุบพรรคเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งต้องดูตามพยานหลักฐานเป็นหลัก ถ้าหลักฐานเป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น ถ้าหลักฐานก้ำกึ่งก็คงต้องมาพิจารณาดูอีกที แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นสำนวนของคณะกรรมการฯ

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 มีเจตนารมณ์ต้องการให้กรรมการบริหารพรรคต้องควบคุมการบริหารงานของพรรค ไม่ใช่ว่ามีอะไรก็มอบหัวหน้าพรรคตัดสินใจไปคนเดียว ดังนั้นจึงต้องการให้กรรมการบริหารพรรคเป็นผู้บริหารพรรคตัวจริง ทุกคนต้องทำหน้าที่ในฐานะกรรมการบริหารพรรคอย่างเต็มที่ เพราะถ้ากรรมการบริหารพรรคทำผิดกฎหมายจะกระทบถึงพรรค ซึ่งเป็นหลักที่กรรมการบริหารพรรคต้องยึดถือปฏิบัติ เพราะถ้ากรรมการบริหารพรรคมีความเข้มแข็ง พรรคการเมืองก็จะเป็นสถาบันทางการเมือง

“ผลการวินิจฉัยของ กกต.มักจะมีผลกระทบจากทั้งสองด้านเสมอ คงไม่ถูกใจทุกคนแน่นอน ดังนั้นเราต้องยึดพยานหลักฐาน ยึดข้อกฎหมายเป็นหลัก ส่วนหลักรัฐศาสตร์ก็จะคำนึงถึงตามเหตุตามผลเท่านั้น ขณะนี้ยังไม่เห็นสำนวนจึงบอกไม่ได้ว่าต้องยึดหลักใด แต่เราต้องยึดพยานหลักฐานเป็นหลักอยู่แล้ว”

เมื่อถามว่า กกต.ได้มีมติเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคทั้ง 2 พรรคไปแล้วจะถือเป็นน้ำหนักเพียงพอหรือไม่ นายประพันธ์ กล่าวว่า การที่กรรมการบริหารพรรคได้ใบแดงก็กระทบพรรคการเมืองอยู่แล้ว ซึ่งในข้อกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนอยู่แล้ว ต่อไปกรรมการบริหารพรรคทำอะไรก็ไม่ได้ทำในฐานะลูกพรรคธรรมดา เหมือนกับพระของชุมชนนั้น โดยกรรมการบริหารพรรคต้องระลึกเสมอว่า ตัวเองเป็นตัวแทนพรรค ดังนั้นคนที่เป็นกรรมการบริหารพรรคจะต้องคำนึงเสมอว่าไม่ใช่สมาชิกพรรคธรรมดา เพราะมีสถานะอีกชั้นหนึ่ง ต้องคิดอย่างนี้เสมอว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียว แต่เป็นตัวแทนขององค์กร

ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้สรุปว่า พรรคการเมืองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของกรรมการบริหารพรรคที่ทำผิด นายประพันธ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นสำนวนเลย ไม่รู้ว่ากรรมการสอบพยานแล้วเห็นเป็นอย่างไร ต้องรอการพิจารณาของ กกต.
กำลังโหลดความคิดเห็น