“ฮิวแมนไรท์วอทช์” เรียกร้อง “รัฐบาลหมัก” ยุติการปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการหายตัวไปของ “ทนายสมชาย” พร้อมให้ดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด-ลงโทษให้ถึงที่สุด เพื่อไม่ให้มีการละเมิดสิทธิเกิดขึ้นอีกต่อไป
วานนี้ (11 มี.ค.) “องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์” ได้ออกแถลงการณ์ในวาระครบรอบ 4 ปีของเหตุการณ์ที่ทนายสมชาย นีละไพจิคร ซึ่งเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนถูก “อุ้มหาย” และฆาตกรรมว่า รัฐบาลใหม่ของประเทศไทยควรที่จะรับรองว่า ต่อไปนี้จะมีการดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมนี้ให้ถึงที่สุดตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมเสียที
เมื่อวันที่ 12 มี.ค.2547 ทนายสมชาย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นาย ลากตัวออกมาจากรถยนต์ของเขา และหลังจากนั้นก็ไม่มีใครเห็นทนายสมชายอีกเลย ขณะนั้นทนายสมชายดำรงตำแหน่งเป็นประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม และรองประธานคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนของสภาทนายความแห่งประเทศไทย โดยรับผิดชอบคดีที่มีการร้องเรียนว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจทรมานผู้ต้องสงสัยชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยนายกรัฐมนตรี 2 คนในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ต่างก็ยอมรับว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักพาตัว และการฆาตกรรมทนายสมชาย แต่กลับไม่การดำเนินการใดๆ เพื่อที่จะกดดันให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษของกระทรวงยุติธรรมให้คำตอบว่า ใครเป็นคนบงการให้ลักพาตัว และสังหารทนายสมชาย และใครที่ขัดขวางกระบวนการยุติธรรมในคดีนี้
ด้าน นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการแผนกเอเชียขององค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า กรณีของทนายสมชาย เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า รัฐบาลใหม่มีความเคารพกฎหมาย และสิทธิมนุษยชนเพียงใด เพราะรัฐบาลก่อนหน้านี้ทั้ง 2 ชุด พยายามปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ที่อยู่เบื้องหลังอาชญากรรมที่ร้ายแรงนี้มาโดยตลอด และตลอด 4 ปีที่ผ่านมานั้น ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ เพื่อที่จะให้มีการลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการ “อุ้มหาย และฆาตกรรมทนายสมชาย ให้ถึงที่สุด
“หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และสมาชิกคณะรัฐมนตรีคนอื่นๆ ต่างก็ปิดปากเงียบเกี่ยวกับกรณีของทนายสมชาย และยังไม่มีนโยบายใดๆ ที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องการอุ้มหาย และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงอื่นๆ ที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐในจังหวัดชายแดนภาคใต้”
เจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นายที่เกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของทนายสมชาย ได้แก่ พ.ต.ต.เงิน ทองสุข พ.ต.ท.สินชัย นิ่มปุญญกำพง จ.ส.ต.ชัยแว้ง พาด้วง ส.ต.อ.รันดอน สิทธิเขต และ พ.ต.ท.ชัดชัย เลี่ยมสงวน ถูกจับกุมตัวเมื่อเดือน เม.ย.2547 และถูกดำเนินคดีในความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ และข่มขืนใจผู้อื่น แต่ไม่มีการตั้งข้อหาเกี่ยวกับการลักพาตัว หรือการฆาตกรรม เนื่องจากการสืบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่มีการสืบหาพยานหลักฐานที่เพียงพอต่อการพิสูจน์ว่า ทนายสมชาย เสียชีวิตไปแล้ว
ต่อมาเมื่อวันที่ 12 ม.ค.2549 ศาลอาญากลางมีคำพิพากษาว่า พ.ต.ต.เงิน มีความผิด และถูกตัดสินให้จำคุกเป็นเวลา 3 ปี ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เหลืออีก 4 คนถูกยกฟ้อง เพราะพยานหลักฐานไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษาได้ให้ข้อสรุปที่สำคัญว่า เหตุการณ์ทำร้ายร่างกายที่เกิดขึ้น ได้นำไปสู่การหายตัวไปของทนายสมชาย รวมทั้งยังได้วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสืบสวนคดีนี้ด้วย
องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ และกลุ่มสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาความไม่จริงใจของรัฐบาลของนายกฯ ทักษิณ ในการสอบสวนกรณีการหายตัวไปของทนายสมชาย และยังได้วิจารณ์ความล้มเหลวในการนำตัวผู้ที่สั่งการ และบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาลงโทษ
เมื่อเดือน มี.ค.2550 องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้ตีพิมพ์รายงานความยาว 69 หน้า เกี่ยวกับการอุ้มหาย จำนวน 22 คดีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (http://hrw.org/reports/2007/thailand0307/) ซึ่งมีข้อมูลชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหารมีส่วนรับผิดชอบ แต่ปรากฏว่ารัฐบาลไทยกลับไม่ได้ดำเนินการใดๆ ในการที่จะนำตัวผู้ที่กระทำความผิดมาลงโทษ ทั้งนี้กรณีการอุ้มหายทนายสมชาย เป็นเพียงกรณีการอุ้มหายเดียวที่ไม่มีการดำเนินคดี และอยู่ในความสนใจของประชาชน ท่ามกลางเรื่องร้องเรียนจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการของรัฐบาลในการต่อต้านการก่อความไม่สงบ และสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้
นายแบรด อดัมส์ กล่าวอีกว่า “การที่ทนายสมชายเป็นบุคคลสำคัญ น่าจะทำให้รัฐบาลไทยยากที่จะเพิกเฉยต่อปัญหาการอุ้มหายที่ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่รัฐบาลกลับไม่ได้ดำเนินการอะไรนอกเหนือไปจากสิ่งที่เรียกได้ว่า เป็นการปกป้องฆาตกรจากกระบวนการยุติธรรม
องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า รัฐบาลไทยได้บังคับใช้กฎหมาย และระเบียบต่างๆ ในลักษณะที่ทำให้บุคคลที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่ในสภาวะที่เสี่ยงต่อการถูกทรมาน ถูกอุ้มหาย และถูกฆาตกรรมระหว่างที่ถูกควบคุมตัว ก่อนที่จะมีการตั้งข้อหาอย่างเป็นทางการ ซึ่งกฎอัยการศึก อนุญาตให้มีการคุมตัวโดยไม่ต้องมีการตั้งข้อหาได้ 7 วัน หลังจากนั้นก็จะมีการใช้อำนาจของพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินควบคุมตัวต่อไปอีก 30 วัน (ดูรายละเอียดเกี่ยวกับจดหมายแสดงความเห็นขององค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ต่อ พ.ร.บ.ฉุกเฉิน ซึ่งเสนอต่อรัฐบาลไทยเมื่อวันที่ 4 ส.ค.2548 (http://hrw.org/english/docs/2005/08/04/thaila11592.htm) นอกจากนี้ ยังมีการออกระเบียบของกองทัพภาคที่ 4 ห้ามไม่ให้เยี่ยมผู้ต้องสงสัยในช่วง 72 ชั่วโมงแรกของการควบคุมตัวอีกด้วย
ความไม่พอใจต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของทางการไทย เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สถานการณ์การก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความรุนแรง และโหดร้ายมากขึ้นโดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา กองกำลังติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนได้ก่อเหตุลอบยิง ถูกวางระเบิด ถูกฆ่าตัดศรีษะ และวางเพลิง ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 2,900 คน ซึ่งเหยื่อของความรุนแรงนั้นมากกว่าร้อยละ 95 เป็นพลเรือน
องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลของนายสมัคร และทางการไทย ดำเนินมาตรการต่างๆ ที่จำเป็นทั้งหมด เพื่อยุติปัญหาการอุ้มหาย รวมทั้งการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาของสหประชาชาติเกี่ยวกับการต่อต้านการบังคับให้บุคคลสูญหาย และจะต้องกำหนดให้การอุ้มหายเป็นฐานความผิดหนึ่งในประมวลกฎหมายอาญา นอกจากนี้ จะต้องมีการรับประกันว่า ผู้ที่อยู่ในการควบคุมตัวของทหาร และตำรวจ จะต้องถูกควบคุมตัวในสถานที่ที่เปิดเผย ซึ่งใช้เป็นที่คุมขังอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งจะต้องไม่มีการทรมาน หรือปฏิบัติต้อผู้ที่ถูกควบคุมต่ออย่างโหดร้าย ผิดมนุษยธรรม หรือดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่สำคัญจะต้องมีการแจ้งให้ญาติ หรือทนายของผู้ที่ถูกคุมขังทราบในทันทีว่าพวกเขาถูกเอาตัวไปไว้ที่ใด
นายแบรด กล่าวทิ้งท้ายว่า ชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ บอกกับเราว่า ความล้มเหลวของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการอุ้มหายนั้น ทำให้พวกเขาเชื่อว่า ความยุติธรรมสำหรับพวกเขาได้สูญหายไปด้วยเช่นกัน โดยสามารถดูรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยประจำปี 2550 (http://hrw.org/englishwr2k8/docs/2008/01/31/thaila17628.htm) ส่วนดูรายงานอื่นๆ ขององค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ ที่เกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทยได้ที่ (http://hrw.org/doc?t=asia&c=thaila)