“แม้ว” เหลี่ยมจัด ส่งทีมทนายร้อง คตส.ขอสอบพยานเพิ่มอีก 100 ปาก หลังถูกอายัดทรัพย์ เพิ่งอ้างความบริสุทธิ์ขอคนในตระกูล ลั่นไม่ได้ประวิงเวลา ซัด คตส.ไม่มีอำนาจสอบ หลัง รธน.50 ประกาศใช้
วันนี้ (6 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีมทนายผู้ได้รับมอบอำนาจ จาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นำโดย นายฉัตรทิพย์ ตัณฑประศาสน์ ได้เดินทางเข้าแก้ข้อกล่าวหาแทน พ.ต.ท.ทักษิณ ต่ออนุกรรมการไต่สวนคดีกล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้อำนาจหน้าที่ เอื้อประโยชน์ธุรกิจแต่ตัวเองและพวกพ้อง ร่ำรวยผิดปกติ และได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร ได้ พร้อมทั้งมอบเอกสารเล่มใหญ่หนากว่า 1 พันหน้า โดย 200 หน้าแรก เป็นเอกสารแก้ข้อกล่าวหา ส่วนที่เหลือเป็นเอกสารหลักฐานแนบประกอบคำแก้ข้อกล่าวหา
ทั้งนี้ ในหนังสือแก้ข้อกล่าวหาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ระบุว่า ขอแก้ข้อกล่าวหา 3 ประเด็น คือ กรณียังคงไว้ซึ่งหุ้นในบริษัท ชิน คอร์ปอรชั่น จำกัด (มหาชน) ใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์ ธุรกิจสัมปทานของบริษัท ชินคอร์ป และ ร่ำรวยผิดปกติ ได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบ เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่ง โดยมีทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควร จำนวน 77,000 ล้านบาท ที่ได้มาจากการขายหุ้น และเงินปันผลของหุ้น โดยยืนยันว่า ได้ กระทำการด้วยความสุจริตเปิดเผย ไม่ได้มีการวางแผนเตรียมการกระทำความผิด ไม่มีเจตนาปกปิดหุ้น หรือใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท ชินคอร์ป เพราะในปี 2543 พ.ต.ท.ทักษิณ ให้โอนขายหุ้นทั้งหมดให้บุคคลต่างๆ ก่อนการเลือกตั้ง ก่อนที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2544
“ในช่วงนั้น ข้าพเจ้ายังไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงเป็นไปไม่ได้ที่ข้าพเจ้าจะไปรู้ล่วงหน้าเรื่องในอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น และไม่มีความแน่นอน เพราะหากข้าพเจ้ารู้ล่วงหน้าจริง ข้าพเจ้าก็จะกลายเป็นผู้หยั่งรู้ล่วงหน้า และสามารถควบคุมเหตุการณ์ทั้งหมดที่จะเกิดล่วงหน้าได้” หนังสือแก้ข้อกล่าวหา ระบุ
คำแก้ข้อกล่าวหาระบุด้วยว่า ในเรื่องการโอนขายหุ้น มีนิติกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีหลักฐานและเอกสารรองรับ ทั้งหน่วยงานราชการ ไม่ว่าจะเป็นตลาดหลักทรัพย์ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ กรมสรรพากร และ ป.ป.ช.ก็รองรับความถูกต้องว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และคู่สมรส ได้โอนกรรมสิทธิ์ หุ้นจริงมาโดยตลอด โดยได้ปฎิบัติตามธรรมชาติเช่นเดียวกับมนุษย์ปุถุชนธรรมดาทั่วไปที่ได้ปฏิบัติกับบุตรหลานและบุคคลในครอบครัว โดยไม่มีการโต้แย้งจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กรมสรรพากร
ส่วนเรื่องที่อนุกรรมการไต่สวนกล่าวหากรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ยังคงเป็นผู้มีอำนาจในการลง นามเบิกถอนทรัพย์สินของบริษัท แอมเพิลริช อินเวสเมนท์ แต่เพียงผู้เดียว ในหนังสือระบุว่า เนื่องจากไม่ได้เห็นเอกสารที่ คตส.ใช้กล่าวอ้าง แต่คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องของการเปิดบัญชีทั่วไปกับธนาคารที่ทำมาตั้งแต่ปี 2542 แต่ในปี 2543 ก่องลงสมัคร ส.ส.และก่อนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ได้โอนขายหุ้นทั้งหมดไปแล้ว และหลังจากนั้น ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับบริษัทนี้อีกเลย จึงขอยืนยันว่า การตั้งบริษัท แอมเพิลริช เป็นไปด้วยความสุจริตเปิดเผย ส่วนหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ใน บริษัท วินมาร์ค ก็ไม่ใช่หุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคู่สมรส แต่เป็นไปได้ว่ามีผู้ถือหุ้นคนอื่นซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ นำไปขายในตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้น หากไปพบหุ้นชินคอร์ปในที่ไดจะไปทึกทักว่าเป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคู่สมรสไม่ได้ การกล่าวหาของ คตส.เป็นการปะติดปะต่อเรื่องอย่างเคลือบคลุม ไม่เป็นความจริง
นอกจากนี้ ในหนังสือยังปฏิเสธข้อกล่าวหาในเรื่องอำนาจรัฐ ถือว่าไม่เป็นความจริง โดยยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณ บริหารราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต คำนึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ ไม่เคยเบียดบังหาผลประโยชน์โดยมิชอบ และไม่มีความจำเป็นในการแก้ไขสัญญาสัมปทานเกี่ยวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมทั้งธุรกิจสื่อสารดาวเทียม เพราะการดำเนินการดังกล่าวมีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง คือ ทศท. กสท.และ กทช.และอยู่ภายในการดูแลของกระทรวงไอซีที โดยเฉพาะการแก้ไขสัญญาสัมปทานได้มีการพิจารณาจาก คณะรัฐมนตรี ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ เป็นความรับผิดชอบทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ที่สำคัญศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าชอบด้วยกฎหมาย
“ข้าพเจ้าและครอบครับไม่เคยกระทำผิดใดๆ ต่อกฎหมาย ไม่เคยหาประโยชน์มิชอบจาก ประเทศ ข้าพเจ้าบริหารราชการด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต การที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาทั้งหมดเป็น การกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรม ข้าพเจ้าเชื่อว่า เป็นปัญหามาจากเรื่องทางการเมืองเป็นสำคัญ ดัง นั้น จึงปฏิเสธข้อกล่าวทั้งหมด” หนังสือแก้ข้อกล่าวหาระบุ
ทั้งในหนังสือแก้ข้อกล่าวหา ระบุว่า ประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ไม่มีผลบังคับใช้ทันทีหลังรัฐ ธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2550 ประกาศใช้ และประกาศดังกล่าวยังขัดแย้งรับรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ซึ่ง การต่ออายุของ คตส.หลังครบ 1 ปี ไม่เป็นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตย และขัดหลักนิติธรรม ตั้งบุคคลเป็นปฏิปักษ์และมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ ถูกกล่าวหาเป็นคณะอนุกรรมการไต่สวน
ภายหลังการเข้ายื่นคำแก้ข้อกล่าวหา นายฉัตรทิพย์ เปิดเผยว่า การดำเนินการของ คตส.เป็น 2 มาตรฐานเมื่อเรียกเก็บภาษีจากลูก แต่ยังมาดำเนินการคดีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในหุ้นที่ถูกเรียกเก็บภาษีไปแล้ว ทำให้เกิดความสับสน ว่ามาตรฐานที่แท้จริงเป็นอย่างไร การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ขายหุ้นในลูกในราคาต้นทุนเป็น เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนักธุรกิจต้องการสอนลูกว่าทุกอย่างมีต้นทุน ไม่ใช่ได้มาฟรีๆ แต่เป็นต้นทุนของพ่อแม่ จึงสอนลูกให้มีความรับผิดชอบ ทั้งที่ความจริงจะให้ฟรีก็ได้ ถือว่า คตส.มีความเข้าใจที่ไม่เข้าใจพื้นฐานโดยเอาการซื้อขายหุ้นของคนที่ไม่รู้จักกันมาเทียบกับ การซื้อขายระหว่างพ่อกับลูก หรือคนในครอบครัว ทั้งที่การให้ลูกหรือคนในครอบครัวเป็น หาให้โดยเสน่หา ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติพื้นฐานของคนทั่วไป คนอื่นเป็นคนนอกจะมารู้เป็นเจตนาได้อย่างไร
นายฉัตรทิพย์ กล่าวว่า ในการยื่นคำชี้แจงครั้งนี้ทีมทนายยังได้แนบบัญชีรายชื่อพยานบุคคล ที่เกี่ยวข้องจำนวน 100 ปากต่ออนุกรรมการไต่สวน อาทิ บอร์ด ทศท. บอร์ด กสท.กรรมการป.ป.ช.เรื่องการแสดงบัญชีทรัพย์สิน ประธานสภา และประธานวุฒิฯ ในสมัยนั้น รวมถึง ส.ส.และ ส.ว.ที่ร่วมกันโหวตผ่านกฎหมาย เพื่อให้อนุกรรมการไต่สวนออกมาเรียกให้มาให้ ถ้อยคำเพิ่มเติม ทั้งนี้ หากมีการขอตัดพยานคนสำคัญออกไปก็ต้องพิจารณาว่าสมเหตุสมผล หรือไม่ และขอให้สอบพยานเพิ่มไม่ใช่เป็นการประวิงเวลา เพราะที่ผ่านมาไม่ได้มีการสอบ พยานฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาแม้แต่รายเดียว
“ขอตั้งข้อสังเกตว่า การออกกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตัวเองและพวกพ้อง แต่เหตุใด 1 ปีที่ผ่านมา จึงยังไม่มีการยกเลิกใช้กฎหมายดังกล่าว แต่ยังมีการใช้กันอยู่จนถึงปัจจุบัน ถ้าเอื้อประโยชน์จริงก็ยกเลิกไปเลย ซิ “ นายฉัตรทิพย์ กล่าว