xs
xsm
sm
md
lg

“เพ็ญ”เฟื่อง ดันช่อง 11 เป็นมาตรฐานทีวีไทย – เมินแบ่งเวลาฝ่ายค้านประชัน“หมัก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“จักรภพ”จ้อแผนปรับช่อง 11 อ้างจะกลับสู่เป้าหมายดั้งเดิมคือเป็นทีวีสาธารณะ ไม่เน้นหารายได้ พร้อมผลักดันใช้เทคโนโลยีใหม่ ทั้งไวแม็กซ์-ทีวีดิจิตอล ให้ ปชช.เข้าถึงข่าวสารได้ทุกจุด ทำแมนบอกไม่ต้องเชียร์รัฐบาล ชี้แตกแยกกันพอแล้ว ไม่เคยมียุคไหนได้ยินคำหยาบคายผ่านสื่อมากเท่า 2 ปีก่อน ปัดตอบไม่แทรกแซงสื่อ แถมเหน็บ เกร็งไปเองแล้วออกมาโวยวาย ย้ำต้องให้เวลาทุกฝ่ายเท่าเทียม แต่เมินจัดเวลาช่อง 11 ให้ฝ่ายค้าน อ้างมีรายการวิทยุมากพอแล้ว พร้อมท้า หากเข้ามาเพื่อทำลายสื่อ จะขอเรียกตัวเองว่า “วัวลืมตีน”

นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “กรองสถานการณ์” ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ในหัวข้อ “สื่อของรัฐกับการเมือง” เมื่อคืนวันที่ 29 ก.พ.ที่ผ่านมา ถึงการปฏิรูปช่อง 11 ว่า ช่อง 11 เคยเป็นที่ที่ตนเคยมาทำรายการ และทำได้แจ้งเกิด จึงมีความผูกพันมาก แต่พอมาเป็นรัฐมนตรีจะมองแค่ว่าช่อง 11 เป็นที่ๆ ทำให้ตนได้ออกทีวีไม่ได้ จะต้องมองในเชิงบริหาร และจะยกตัวอย่างว่าปัญหาเชิงระบบคืออะไร

นายจักรภพกล่าวว่า ช่อง 11 ถูกสร้างให้เป็นทีวีสาธารณะมาตั้งแต่ต้น เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ช่อง 11 จึงเป็นทีวีสาธารณะแห่งแรกไม่ใช่ไทยพีบีเอส แต่รัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้มองถึงการบริหารทีวีสาธารณะอย่างจริงจัง และไม่มีหน่วยงานเป็นเจ้าภาพ ไม่มีใครดูแลจริงๆ จังๆ ช่อง 11 เลยกลายเป็นส่วนราชการในระดับสำนัก มีผู้อำนวยการระดับ 9 เท่ากับรองอธิบดี หรือ ผอ.เขตประชาสัมพันธ์มาดูแล ซึ่งข้าราชการก็มีข้อจำกัด ทั้งเรื่องงบประมาณ อำนาจหน้าที่ สายงานเยอะแยะ ยุ่งยากไปหมด ช่อง 11 จึงกลายสภาพจากทีวีสาธารณะ เป็นสถานีโทรทัศน์ราชการ

นายจักรภพกล่าวต่อว่า เมื่อตนเข้ามา ไม่ได้ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไร แต่ต้องการจูงช่อง 11 กลับไปยังจุดเริ่มต้นคือเป็นทีวีสาธารณะ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นเรื่องใหญ่ จะมีการระดมมันสมองจากผู้ที่อยู่ในวงการหลายคน ตั้งเป็นคณะกรรมการขึ้นมาปรับปรุงช่อง 11 เรื่องแรกที่จะดูคือข้อกฎหมายที่ที่เป็นพันธนาการ เรื่องที่สองจะดูช่องทางการขยายงาน บุคลากร การทำรายได้แม้ไม่ใช่จุดประสงค์หลักแต่ต้องชัดเจนว่ามีรายได้จากไหน แต่ต้องไม่นำไปสู่เป้าหมายการเป็นทีวีพาณิชย์

“ช่อง 11 มีเครือข่ายและเครื่องมือสมบูรณ์ที่สุด ไม่มีช่องไหนเท่า โดยเฉพาะที่จะนำไปสู่ยุคใหม่ คือ ทีวีดิจิตอล ช่อง 11 มีพร้อมกว่าช่องอื่น แล้วอะไรล่ะคืออุปสรรค มันคือระบบบริหาร

“เราไม่พูดเรื่องการเอารายงานนี้เข้ารายการนี้ออก รัฐมนตรีไม่มีหน้าที่มาดูผังรายการ ผมต้องบินสูงกว่านั้น มองในภาพใหญ่กว่านั้น เพื่อมองว่าเราจะกลับสู่จุดเริ่มต้นอย่างไร ผมจะพากลับไปสู่จุดของเราแต่แรก

“นอกจากนี้ยังมีระบบเชื่อมโยงกับสังคม ผมชอบทีพีบีเอสจุดหนึ่งที่มีสภาผู้รับสารไว้คอยประเมินผลว่าเขาดีหรือไม่ ช่อง 11 ควรจะคิดแบบนั้นบ้าง ไม่เช่นนั้น ช่อง 11 สำรวจทีไร เรตติ้งเป็น 0 เพราะเราไม่ได้ไปเล่นเกมกับเขา เหมือนกับว่าเราถูกจัดให้ว่ายน้ำในสระเด็ก แต่ช่องอื่นได้ว่ายสระผู้ใหญ่ ทั้งที่ช่อง 11 ได้สั่งสมความรู้ประสบการณ์มามากมากมาย แต่ได้สั่งสมให้คนอื่น และสร้างคนให้กับช่องอื่นมามาก”

เมื่อปรับเป็นโมเดิร์น 11 คนทำงานจะทำอย่างไร

นายจักรภพ กล่าวต่อว่า ปัญหาช่อง 11 ไมได้เกิดขึ้นกับคนช่อง 11 มันเกิดจาการบริหารงานที่ไม่เคารพเจตนารมณ์เดิม ต้องถามคนช่อง 11 ว่าต้องการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร ตนต้องการเปลี่ยนแปลงคนช่อง 11 ให้เป็นคนดีมีคุณภาพ และทำงานได้สะดวกขึ้น ให้มีทัศนคติของการเป็นทีวีสาธารณะ ถ่วงดุลจากการเป็นทีวีราชการมาเป็นทีวีของสังคมมากขึ้น

ขณะนี้ ช่อง 11 ไม่มีแบรนด์ช่อง หรือไม่มีภาพลักษณ์รวมของช่อง ขณะที่ช่องอื่นเขาบริหารได้ ถึงขั้นมีหนังสั้นหรือจิงเกิล หรืออินเตอร์ลูดของช่องได้ แต่ช่อง 11 ทำไม่ได้ เพราะแต่ละช่วงเวลามีหลายส่วนที่เข้ามาทำ เหมือนเป็น 12 ช่อง บางช่วงถ่ายทอดสดรายการสำคัญไม่ได้ เพราะติดสัญญาเอกชนกับศูนย์นั้นบ้างศูนย์นี้บ้าง จะเป็นราชการก็ไม่ใช่ เอกชนก็ไม่ได้ ตนต้องเข้ามาแก้ปัญหาตรงนี้

นายจักรภพกล่าวต่อว่า เราไม่หวังเงินเป็นหลัก แต่หวังให้คนได้มีทีทำงาน สร้างสรรค์ในเชิงศิลปะได้ ถ้าใครคิดแบบนี้ ก็มีที่ในช่อง 11 แน่นอน แต่ถ้าอยากค้ากำไร หวังเงินเดือนสูงๆ ก็อยู่ทีวีสาธารณะไม่ได้

สำหรับการหารายได้ของช่อง 11 นายจักรภพกล่าวว่า ไม่ควรมากกว่ารายจ่ายเกิน 10% หมายความว่าถ้ามีรายจ่าย 100 บาท ไม่ควรหารายได้เกิน 110 บาท เพราะถ้าเกินไปจะเป็นการหารายได้ ซึ่งจะไม่มีจุดจบ และช่อง 11 ก็จะอิหลักอิเหลื่อ ครึ่งบกครึ่งน้ำเหมือนเดิม

ถ้ามีแค่นี้ ช่อง 11 ต้องมีกำหนดงบประมาณของตัวเองที่ชัดเจน ว่าจะมีงบเท่าไหร่เพื่อให้มีพอกับรายจ่ายในการพัฒนา ไม่ห้ามว่ารายจ่ายเท่าไหร่ แต่ไปทำเพดานรายได้ไว้ เพื่อไม่ให้หลวมตัวกลายเป็นโทรทัศน์ทำกำไรกลายเป็นผลประโยชน์ ใต้โต๊ะบนโต๊ะ ขึ้นมาอย่างที่ถูกครหา

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของช่อง 11 ว่า เป้าหมายคืออะไร มาตรฐานที่จะเป็นคืออะไร จะแก้ไขกฎหมาย ตรงไหนบ้าง ควรจะเกิดขึ้นภายใน 3 เดือนนี้ เริ่มจากวันให้นโยบายที่กรมประชาสัมพันธ์ คือ 25 ก.พ.ที่ผ่านมาส่วนการปฏิบัติจริงเพื่อให้เกิดผลอาจจะนานกว่านั้น คือเรียกว่า 3 เดือนทุกคนต้องเห็นภาพช่อง 11 ใหม่ ที่นายกฯ ใช้ชื่อเล่นว่าโมเดิร์นอีเลฟเว่น แต่อาจจะใช้ชื่ออื่นก็ได้

ถาม – นายกฯ เคยบอกว่าไม่ต้อการให้เชียร์รัฐบาล จะเชียร์ฝ่ายอื่นก็ได้ คือเน้นความเป็นกลาง

“ดีมากที่ถาม เราทนทุกข์ทรมานมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศชาติแตกแยกเป็น 2 ฝ่าย มีผลกระทบที่สื่อมวลชนจำนวนหนึ่งวางตัวเป็นคนละฝ่ายไปด้วย ใครอยู่ฝ่ายไหน ก็เชียร์ฝ่ายนั้น แล้วก็โจมตีอีกฝ่ายหนึ่งอย่างรุนแรง

“ผมแทบจะจำไม่ได้ว่าก่อนหน้า 2 ปีที่ผ่านมา เราเคยได้ยินคำหยาบคาย ก้าวร้าว จาบจ้วงผ่านสื่อโทรทัศน์วิทยุมากเหมือน 2 ปีที่ผ่านมา นี่เป็นการอันหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า มันเกิดความเพี้ยนขึ้นแล้ว สื่อเองกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการทำร้ายซึ่งกันและกัน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติ เพราะฉะนั้นถ้าเราจะปรับปรุงสื่อภาครัฐโดยเฉพาะช่อง 11 ผมในฐานะซึ่งร่วมต่อสู้กับประชาชนมาเยอะแยะเลยที่รักประชาธิปไตยจะไม่มีวันย้อนกลับ ไปทำผิดพลาดอย่างเดิมด้วยการนำช่องนี้ หรือช่องไหนก็ตามไปสรรเสริญรัฐบาล

“ผมพูดอย่างนี้เลยครับ อย่าหาว่าอย่างงั้นอย่างงี้เลย เพียงแค่สื่อกลับมาเป็นกลางนี่ การเมืองก็ไปได้แล้ว สื่อหยุดเอียงเท่านั้นแหละ สื่อหยุดเลือกข้างเท่านั้นแหละ สังคมก็ไปได้แล้ว

“เพราะฉะนั้นการปฏิรูปสถานีโทรทัศน์ ช่อง 11 จึงไม่ควรไปติดกับดักเดิม ด้วยการมาเลือกข้างกันอีก รัฐบาลไม่ต้องการ ให้ใครมาเชียร์ รัฐบาลไม่ต้องบการให้ใครมาสรรเสริญ รัฐบาลต้องการกระจกเงาที่สะท้อนถึงความจริง ซึ่งไม่ได้ฟังเฉพาะช่อง 11 เท่านั้น ต้องฟังทีพีบีเอส ต้องฟังช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 โมเดิร์นไนน์ ต้องฟังยูบีซี เหล่านี้เป็นช่องที่มีอยู่แล้ว แลวจะมีช่องใหม่ๆ ในอนาคตอีกมาก

“เพราะฉะนั้นแล้ว แน่นอนที่สุดอย่าไปทำรายการเชียร์ เพราะถ้าทำรายการเชียร์ จะไปสร้างความเจ็บใจให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง ลมพัดเมื่อไหร่ กลับมาทะเลาะกันอีก”

ถาม – จะป้องกันการแทรกแซงสื่อได้อย่างไร

“ผมไม่ป้องกันตรงการแทรกแซงสื่อ แต่จะไปจัดระบบของสื่อใหญ่เลย แล้วมันจะมีผลตรงนี้ไปเอง

“การแทรกแซงสื่อนี่ ไม่ได้หมายความว่าเกร็งไปเองแล้วก็โวยวาย การแทรกแซงสื่อไมได้หมายความว่าแค่พูดจาปราศรัย ผ่านสื่อไป ก็ตกอกตกใจ ตีโพยตีพายและตีกันให้ยุ่งไปหมด

“ผมเองพูดตั้งแต่วันแรกที่มารับหน้าที่นี้ว่า ผมจะจัดระบบสื่อ โอ้โฮ กลายเป็นเรื่องจัดระเบียบสื่อ ผมก็พยายามจะบอกหลายวงว่า จัดระบบกับจัดระเบียบมันคนละคำกันครับ จัดระเบียบนี่ถือแส้มาเฆี่ยนเลย แต่จัดระบบคือทำยังไงที่จะให้ทุกคนที่เข้ามา ไม่ว่าจะฝ่ายไหนค่ายไหน สามารถจะมีกฎเกณฑ์เดียวกัน แล้วเดินไปสู่ความเป็นกลางในวงการสื่อได้

“ที่กรมประชาสัมพันธ์ผมถึงได้พูดอย่างนี้ว่า ความเป็นกลาง มันหายาก แต่เราต้องจัดระบบที่มันเป็นกลางเช่น หลักการให้เวลาที่เท่าเทียมกัน มันไม่เป็นธรรมหรอกเพราะคนหนึ่งอาจจะพูดเก่งกว่าอีกคนหนึ่ง คนหนึ่งอาจจะนำเสนอดีกว่าอีกคนหนึ่ง เวลาเท่ากันอีกคนอาจจะได้เปรียบ แต่มันเป็นหลักการพื้นฐานเราทำได้แค่นั้น เราไปบังคับปากเขาพูดไม่ได้ เราไปบังคับสมองเขาไม่ได้ แต่เราสามารรถที่จะจัดเวทีให้ฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ฝ่ายหน้าและฝ่ายหลัง เข้ามาได้

“ก็เหมือนฝ่ายค้านนี่ บอกว่านายกรัฐมนตรี มีรายการออก ขอฝ่ายค้านมีรายการได้มั้ย ผมต้องบอกว่า ต้องไปลองฟังรายการวิทยุในเครือข่ายกรมประชาสัมพันธ์ในวันเสาร์อาทิตย์ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์จัดอยู่ไม่รู้กี่คนครับ จัดมานานหลายปีแล้ว เพราะฉะนั้นนี่ เวลาฝ่ายค้านอย่ามารวมเพียงแค่ว่า ต้องมีรายการที่หน้าตาเหมือนกัน เอาเวลาทั้งหมดมารวมกัน

ถาม – ถ้าเขาบอกมันคนละสื่อนะ วิทยุกับโทรทัศน์ผลกระทบมันต่างกันนะ

“มันต้องนับในภาพรวม เพราะว่าพื้นที่ข่าว นี่ มันไม่สามารถที่จะมาแบ่งกันแค่เนื้อที่ตรงหน้าได้ มันจะต้องพูดถึงผลกระทบในมวลรวมทั้งหมด ตรงนี้ไม่ได้แปลว่าออกทีวีแล้วนี่ผลกระทบมันจะสูงกว่าวิทยุ เราเรียนทางด้านสื่อสารมวลชนมา ผมยังไมได้เรียนแต่มาเรียนด้วยประสบการณ์นี่ ก็รู้กันว่าคนที่มีอิทธิพลที่สุดคือหนังสือพิมพ์ แล้วรองลงมาคือวิทยุ โทรทัศน์นี่น้อยที่สุด เพราะโทรทัศน์มันมีที่เรียกว่าตัวการทำลายสมาธิอยู่เยอะ คนดูอาจจะเห็นหน้าเราทางทีวี จำหน้าเราได้ แต่เขาจำไม่ได้หรอกว่าเราพูดอะไรบ้าง บางทีดูคุณอรอุมา(ผู้ดำเนินรายการ) ตกตะลึงในความสวย บางทีไม่ได้ฟังว่าเราพูดอะไร อย่างนี้เป็นต้น

“ในขณะซึ่งหนังสือพิมพ์และวิทยุมันจะบังคับประสาทสัมผัสในตัวเรามากกว่า ให้เรามุ่งตรงไปยังสาระของเรื่อง เพราะฉะนั้นมันเถียงกันได้ว่าออกอันไหนมันจะมีผลกระทบมากกว่ากัน แต่เอาเป็นว่าหลักการสำคัญก็คือเรื่องของเวลา ที่เท่าเทียมกันของแต่ละฝ่ายผมอยากเห็นเกิดขึ้น

“แล้วเรื่องนี้ก็ต้องขออนุญาตเข้าไปกำกับแต่ไม่ถึงขั้นว่าลงไปแต่ละก้อนว่าเขาจะทำอะไร อันนั้นเป็นเรื่องของมืออาชีพที่เขาจะทำ

ถาม - จะมีการตรวจสอบหรือไม่ว่า ที่ทำไปเหมาะหรือไม่ ควรหรือไม่ ตรงนี้มีในส่วนระบบที่วางไว้หรือไม่

“ผมจะมีคณะทำงานอีกชุดหนึ่ง จะมีอีกหลายชุดเลย ชุดนี้จะทำหน้าที่หาวิธีตรวจสอบ ไม่ใช่ชุดตรวจสอบ เป็นชุดหาวิธี อาจคิดถึงเรื่องสภาผู้รับสารเหมือนที่ทีพีบีเอสทำ หรือว่า คิดทำเรื่องการสำรวจ รายการเฉพาะของทีวีสาธารณะ ซึ่งมันใช้เกียร์ไม่เหมือนกับทีวีพาณิชย์ หรือว่าคิดวิธีการว่า ทำอย่างไรที่เราจะเพิ่มมูลค่าด้านการรับสาร เช่น ไปสำรวจทางด้านปริมาณ

“ตอนที่ผมเข้ามาตอนแรก ผมได้พูดถึงคำว่า สมดุลทางด้านข้อมูลข่าวสาร นี่คือนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ในเรื่องสื่อ เราต้องประเมินผลให้รู้ได้ว่า ประชาชนท่านได้รับความเท่าเทียมกันในสมดุลข่าวสารหือไม่ ไม่ใช่เพียงคุณภาพว่าได้รับข้อมูลที่เป็นกลางหรือเอนเอียงหรือไม่ แต่ในแง่ปริมาณด้วย คนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลสามารถที่จะดูทีวีฟังวิทยุได้เหมือนคนที่อยู่ในเมือง หรือไม่ เราต้องทำ”

ฟุ้ง! ปรับสู่ระบบไร้สาย-ดิจิตอล

นายจักรภพ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ใกล้จะเข้าสู่ยุคของการสื่อสารระบบไร้สาย หรือไวแม็กซ์ ตนได้ให้แนวกรมประชาสัมพันธ์ไปแล้วว่า ถ้าจะซื้ออุปกรณ์อะไร วางระบบสถานีวิทยุโทรทัศน์ กรุณาเอาหลักการไวแม็กซ์ขึ้นมาก่อน นั่นคือระบบการสื่อสารไร้สาย ซึ่งวจะทำให้โน้ตบุ๊คกับโน้ตบุ๊ค หรือคอมพิวเตอร์กับคอมพิวเตอร์สามารถสื่อสารกันได้โดยไม่ต้องใช้สายเชื่อม ห่างกันถึง 30 กิโลเมตร ถ้าหากระบบนี้เกิดขึ้นได้ในเมืองไทย ระบบการส่งทีวี วิทยุและข่าวสารจะเกิดการปฏิวัติ ไปชั่วนิรันดร์ นี่คือจุดประสงค์

“ถ้าช่อง 11 เป็นดิจิตอลแล้ว แปลว่าช่อง 11 จะมีความสามารถในการอัดกดสัญญาณ ที่จะส่งข้อมูลมากในช่องสัญญาณเดิม พูดง่ายๆ ว่าส่งข้อมูลข่าวสารได้มากกว่าเดิม แต่ปัญหาคือทีวีที่บ้านเป็นอนาล็อกไม่ได้เป็นดิจิตอล ถ้าเกิดจะบอกว่า พี่น้องครับ มาซื้อทีวีดิจิตอลกันเถอะ แล้วใครจะมีสะตังค์กันอย่างนั้น ยิ่ง 2 ปีที่ผ่านมาบริหารจนเศรษฐกิจแทบจะพังพินาศอย่างนี้ใครจะมีเงินไปซื้อ เราถึงพยายามจะฟื้นกันอยู่

“เพราะฉะนั้นประเด็นก็คือว่ารัฐบาลอาจมีนโยบายไกลไปถึงขั้น คิดเรื่องการชดเชยเรื่องการเปลี่ยนไปเป็นระบบโทรทัศน์ดิจิตอล เพื่ออะไร เพื่อที่จะให้ทีวีดิจิตอลได้กลายเป็นเครื่องมือในการพัฒนาครอบครัวของเขา ในราคาที่ถูกที่สุด ทีวีนี่คือเครื่องมือที่ถูกที่สุดในการพัฒนานะครับ ถ้าหากทีวียังเกิดชนชั้น ของเธอดิจิตอล ของฉันอนาล็อกนี่ก็แย่แล้ว แต่นั่นไม่ใช่กระบวนการที่เร็ว”

นายจักรภพ กล่าวต่อว่า ฟังแล้วอาจคิดว่ามันยากแต่มันเคยผ่านเรื่องนี้มาแล้ว สมัยก่อนตอนตั้งช่อง 4 บางขุนพรม มีทีวีในเมืองไทยแค่ 50 เครื่อง มาวันนี้บ้านหนึ่งมีกี่เครื่อง ยุคต่อมามีทีวีสี ลงทุนเปลี่ยนเป็นทีวีสี แล้วใครซื้อเครื่องทีวีสี ประชาชนซื้อเอง รัฐบาลไมได้ควักเงินให้ซื้อ เพราะฉะนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องโน้มน้าวให้เห็นว่าทีวีดิจิตอลมันมีผลประโยชน์อย่างไรในการที่เขาจะเรียนข้อมูล ในการที่เด็กจะใช้ข้อมูลอินเทอร์เน็ตผ่านโทรทัศน์ดิจิตอลเหมือนเครื่องคอมพิวเตอร์ในบ้านไปด้วย เพราะอีกไม่นานทีวีกับคอมพิวเตอร์มันเป็นอันเดียวกันไปแล้ว

“เพราะฉะนั้นนี่เป็นตัวอย่างว่า ถ้าหากเรามองทั้งระบบได้ ทั้งการส่งการรับ โน้มน้าวคน ใช้ระบบกฎหมาย ใช้ระบบภาษี ใช้ระบบการคลังและการเงินเข้ามาช่วยนี่ เราสามารถที่จะพัฒนาไปสู่ระบบสื่อยุคใหม่ได้อย่าง เต็มภาคภูมิ

ถาม - การสร้างสมดุลข้อมูลข่าวสาร ให้ทีวีเป็นสื่อพัฒนาครอบครัว แต่ทีวีโดยรวมจะทำลายครอบครัวเสียมากกว่า

“เราต้องให้ใช่อง 11 เป็นมาตรฐานของช่องอื่น ไม่ต้องบอกว่าเขาไมดี แต่โชว์ แสดงซิว่าช่อง 11 ดีอย่างไร เช่น มาตรฐานเรื่อของภาษาไทย ให้ช่อง 11 เป็นบีบีซีที่เป็นช่องมาตรฐานภาษาอังกฤษในประเทศเขา เหล่านี้ไม่ใช่จะเกิดได้ในเร็ววัน แต่ถ้าหากตั้งเป้าไว้ มันเกิดได้

“แทนที่เราจะไปบอกว่าช่องอื่น อนาจาร รุนแรง ก้าวร้าวอย่างไร ซึ่งก็ต้องแก้ไขในอีกครรลองหนึ่ง สังคมก็ต้องมีกลไกอื่นในการแก้ด้วย เรามามุ่งมั่นทำช่อง 11 ให้ดีเป็นตัวอย่างดีไหม เป็นมาตรฐานในเรื่องต่างๆ เอาว่าช่อง 11 ดูแล้วนี่ ทั้งบ้านดูได้โดยไม่ต้องมีตัวอักษรมาบอกว่า พิจารณาก่อนนอนทีหลังอะไรพวกนั้นนี่ ให้ช่อง 11 เป็นช่องที่ทุกคนยอมรับว่าเป็นช่องแห่งความสร้างสรรค์ เป็นสื่อเพื่อสาธารณะจริงๆ”

คำถามจากผู้ชม

-การวิพากษ์วิจารณ์บานเมืองไปในทางลบ มีแนวทางที่จะแก้ไขหรือไม่

“เรียนให้ทราบว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายที่จะไปปิดสื่อหรือถอดสื่อใดๆ ทั้งสิ้น เรามีแต่นโยบายที่จะสร้างสื่อดีมากลบสื่อเสีย ส่วนดีหรือเสียเป็นอย่างไรนั้น ขอให้ประชาชนช่วยตัดสินด้วย เรามีหน้าที่ส่งเสริมสื่อคุณภาพ ขอให้เอาน้ำดีเข้ามามากขึ้นกว่าน้ำเสียที่พี่น้องประชาชนรู้สึกว่ามีอยู่ก็แล้วกัน

-มีสื่อในประเทศไทยบางสื่อเป็นผู้มีอิทธิพล อยากเห็นการจัดระบบของสื่อ ทำอย่างไรจึงจะไม่ให้สื่อสร้างความแตกแยก

“คงจะยากละครับ จนกว่าเราจะมีวุฒิภาวะในเรื่องของการรับสาร ซึ่งผม ก็เชื่อว่าพี่น้องประชาชนท่านมีมากตอนนี้ แล้วก็มีสมดุลของข่าวสาร คือสังคมประชาธิปไตยนี้ มันแปลว่าอย่างนี้นะครับ ท่านผู้ชมอาจจะฟังดูแปร่งๆ นิดหนึ่ง เคยมีคนพูดว่าสังคมประชาธิปไตยนี่แปลว่า สังคมที่มีความอดกลั้นต่อคนที่มาพูดอะไรบ้าๆ บอๆ เพี้ยนๆ โดยที่เราไม่รู้สึกอะไร แล้วสามารถที่จะปล่อยผ่านไปได้ วุฒิภาวะประชาธิปไตยมันถึงขั้นนั้น

“เพราะฉะนั้นผมถึงได้บอกแล้วบอกอีกว่า สื่อไม่ดี ประชาชนตัดสิน ผมเองก็มีการกำหนดอยู่ในใจว่าสื่อไหนไม่ดี แต่ผมพูดออกมามันก็จะไม่เป็นกลาง กลายเป็นการสร้างเกณฑ์ หรือ สเปกขึ้นมา เอาเป็นว่าผมขอใช้เวลาในการพูดเรื่องที่ดีตามมงคลสูตรดีกว่า”

-คำถามของนักข่าวที่ไม่สร้างสรรค์จะมีวิธีแก้ไขอย่างไร หรือว่าจรรยาบรรณของผู้ที่มาทำอาชีพสื่อมวลชน จะเข้าไปดูแลไหม

“คงจะก้าวล่วงกันเกินไป ถ้าไปถึงขั้นนั้น ผมเองไม่ไปบอกนักข่าวหรอก พวกคุณทำงานยังไง ผมมีหน้าที่เป็นทางฝ่ายรัฐอยู่ตอนนี้ ผมก็ทำหน้าที่ไป ความไม่สร้างสรรค์ตรงนั้นนี่ ผมคิดว่า เราต้องแก้ด้วยการเปิดให้ทุกคนนี่ มีความรับผิดชอบต่อสังคม ก็แล้วแต่แต่ละช่อง บางช่องก็อาจจะบอกว่า ถ้ายังงั้นต่อไปแทนที่จะถ่ายหน้านักการเมืองและคำตอบ ขอถ่ายหน้านักข่าวและคำถามด้วย ก็ได้ นั่นอาจเป็นวิธีหนึ่ง

-จะดูแลลูกจ้างชั่งคราวและพนักงานช่อง 11 อย่างไร

“ผมขอเรียนว่า คนช่อง 11 เป็นคนที่มีความอดทนสูง ชั่วโมงทำงานก็มาก ความเสี่ยงสูง ค่าตอบแทนก็น้อย เอาเป็นว่าถ้าระบบเป็นอย่างเงี้ย ก็อย่างเงี้ยกันต่อไป ผมถึงจะเข้ามาทำระบบใหญ่ ต่อไปนี้ช่อง 11 เองนี่ ไม่ต้องมานั่งใต้โต๊ะกันอย่างกระมิดกระเมี้ยนเหมือนตอนนี้แล้ว บางรายการก็รวยเชียว เพราะมีค่าตอบแทนมาแจกเด็ก ๆ ได้มาก บางรายก็จนกรอบ หาคนมายืนก็ยาก หนาวก็หนาว

“ประเด็นก็คือว่าเราคงต้องจัดระบบให้ช่องนี้ มีโอกาสได้ประเมินรายจ่ายทั้งระบบที่มันมีความสมควร แต่คนช่อง 11 ก็ต้องกรุณาทราบว่า นี่คือสถานีโทรทัศน์สาธารณะเพราฉะนั้นเงินเดือนและค่าตอบแทนมันเทียบไมได้กับช่องพาณิชย์แต่ควรจะเทียบเคียงได้กับช่องสาธารณะอื่นๆ เพราะฉะนั้นเป็นเกณฑ์ตรงนี้ละครับที่ผมจะช่วยท่านเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม”

-การบริหารบ้านเมืองจะยั่งยืนแค่ไหน หมายถึงการบริหารประเทศทั้งหมด

“ก็...ขึ้นอยู่กับว่าคนที่อยากจะบ่อนทำลายประชาธิปไตยนี่ เขายังปรามาสประชาชนแค่ไหน ผมเชื่อว่ารัฐบาลทุกชุดก็มีข้อดีข้อเสีย รัฐมนตรีทุกคนก็เป็นปุถุชนธรรมดา ไม่ใช่เหล็กไหลมาจากไหน เพราะฉะนั้นนี่ก็มีดีมีเสียมีถูกมีผิด เพราะฉะนั้นการบริหารบ้านเมืองที่จะยั่งยืนได้นี่ ก็ขึ้นอยู่กับการที่ประชาธิปไตยได้ รับอนุญาตให้อยู่นานพอควร อย่าตัดสินใจว่าประชาธิปไตยไม่ได้ผล ขัดผลประโยชน์ส่วนตัว แล้วก็ตัดรอนประชาธิปไตย อย่างนี้คนจะรู้สึกว่าประชาธิปไตยไม่ได้ผล ซึ่งเมื่อย้อนดูจริงๆ แล้ว จะพบว่าไม่ใช่ประชาธิปไตยไม่ได้ผล ประชาธิปไตยไม่ได้รับอนุญาตให้ได้ผลต่างหาก”

“ผมขออนุญาตเรียนอย่างนี้ว่า นโยบายหลายอย่าง เนี่ยท่านก็คงชอบ บางอย่างท่านก็คงไม่ชอบ บางอย่างท่านก็ตั้งข้อสงสัย เอาเป็นว่าขอเวลาผมสักนิดเถอะครับ ผมเป็นคนสื่อ ถ้าผมเข้ามาแล้วทำหน้าเป็นอำมาตย์ มาเล่นงานสื่อด้วยกันนี่ไม่ต้อง มีใครมาเรียกผมหรอกครับว่าเป็น วัวลืมตีน ผมเรียกผมเองเลย

“เพราะฉะนั้นนี่ เจตนาผมจริงๆ นี่ คือการที่จะเข้ามาจัดระบบเพื่อให้ทุกคนอยู่ได้ และพี่น้องประชาชนคือผู้ได้รับประโยชน์สูงสุด นโยบายข้อ 8.3 ของรัฐบาลชุดนี้นี่ จึงไมได้พูดถึงสิทธิเสรีภาพของสื่ออย่างเดียว แต่ข้ามไปพูดถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารโดยไม่เอนเอียง ไม่อันตราย ไม่บาดหู ไม่ก้าวร้าว รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ นั่นหละครับ หน้าที่ผม ผมเป็นเพียงฟันเฟืองเล็กๆ ฟันเฟืองหนึ่ง

“แต่ที่แน่ๆ ก็คือว่า ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ผมจะไม่พ้นจากตำแหน่งนี้ไปโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับสิ่งที่รับผิดชอบอยู่ ผมจะต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น แล้วให้ประวัติศาสตร์เป็นตัวตัดสินว่าถูกหรือผิด ขอให้ท่านได้ช่วยกรุณาให้เวลาสักนิดหนึ่ง”


กำลังโหลดความคิดเห็น