xs
xsm
sm
md
lg

สนช.เคาะสติ “หมักศพเดียว” อ้าปากขอโทษหากพูดผิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ภัทระ” เตือนสติ “หมัก” ให้เอ่ยคำขอโทษหากพูดผิดกรณี 6 ตุลาฯ มีคนตายเพียงศพเดียว ก่อนติง “นายกฯ-เพ็ญ” อย่าจัดระเบียบสื่อด้วยการเปลี่ยนแปลงทัศนคติมากกว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง

วันนี้ (19 ก.พ.) นายภัทระ คำพิทักษ์ สนช.กล่าวในการอภิปรายนโยบายรัฐบาลตอนหนึ่งถึงกรณีที่ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ยืนยัน และสาบานว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มีคนตายเพียงคนเดียว ว่า โดยส่วนตัวเห็นว่า นายกฯ ควรตระหนักว่าสังคมอยากให้ท่านเป็นตัวของตัวเอง และเปลี่ยนแปลง ดังนั้น หากนายกฯ พูดผิด ก็ขอให้พูดคำว่า ขอโทษ หากนายกฯ มีท่าทีต่อความเป็นจริง และนึกถึงความคาดหวังของประชาชน เชื่อว่า จะทำให้การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองเป็นไปด้วยดีด้วย

ส่วนการสร้างประชาธิปไตยนั้น นายภัทระ กล่าวว่า ต้องได้รับความร่วมมือจากสื่อมวลชน ทั้งนี้โดยส่วนตัวขอสนับสนุนแนวคิดที่รัฐบาลจะปรับปรุงช่อง 11 ให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ท่าทีของ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เกี่ยวกับการจัดระบบสื่อ ยังไม่มีความชัดเจน จนทำให้เกิดความแคลงใจในสังคม เพราะประชาชนรู้สึกว่ารัฐบาลที่เข้าบริหารประเทศมักจะใช้สื่อของรัฐเป็นเครื่องมือของพรรคการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนกังวลที่สุด

“รวมทั้งสื่อมวลชนก็ยังคลางแคลงใจว่าถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพหรือไม่เช่นกัน ดังนั้น การจัดระเบียบสื่อของรัฐ จะไม่เป็นปัญหาเลยหากรัฐบาลตั้งอยู่บนหลักการว่าจะให้เป็นเสรีภาพของประชาชนที่นำหน้าโดยเสรีภาพของสื่อมวลชน ดังนั้น จึงอยากให้มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้าง และเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติ แต่ดูเหมือนว่า ทั้งนายกฯ และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ต้องการที่จัดระบบสื่อด้วยการเปลี่ยนแปลงทัศคติมากกว่า โดยเน้นที่จะเพิ่มตัวละคร และผู้เล่นมากขึ้น เพื่อให้มีความเป็นกลาง และเป็นธรรม” นายภัทระ กล่าว

นายภัทระ กล่าวอีกว่า แต่ถามว่าจะเป็นกลาง และเป็นธรรมในทัศนะของนายกฯ จะเป็นความเป็นกลาง และเป็นธรรมในสายตาของคนอื่นด้วยหรือไม่ เช่น หากมีเวลาให้ฝ่ายรัฐบาล แล้วจะมีเวลาให้ฝ่ายค้านหรือไม่ ดังนั้น อยากให้รัฐบาลปล่อยเรื่องทัศนคติไป แต่ไปเน้นเรื่องการปรับปรุงทางโครงสร้างดีกว่า ซึ่งทาง สนช.ได้วางโครงสร้างเรื่องนี้ไว้ด้วยการยกเลิกกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนหลายฉบับ อาทิ พระราชบัญญัติการพิมพ์ 2484 และคำสั่งคณะปฏิวัติหลายฉบับ
กำลังโหลดความคิดเห็น