xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์” ตอก “หมัก” ยก 6 ตุลาบิดเบือนห่วงคุกคามสื่อก่อวิกฤตซ้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อภิสิทธิ์” พอใจภาพรวมซักฟอกนโยบาย “หมัก 1” ข้องใจนายกฯเพิ่งได้อ่านแค่คืนเดียว ตอกอย่าบิดเบือนสาระด้วยการถกเถียงเรื่องเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ชี้น่าห่วงบรรยากาศการคุกคามสื่อ อาจก่อวิกฤตการเมืองกลับมาอีก

คลิกที่นี่ เพื่อฟัง อภิสิทธ์ เวชชาชีวะ ให้สัมภาษณ์

วันนี้ (19 ก.พ.) นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงภาพรวมการอภิปรายคำแถลงนโยบายของรัฐบาล ว่า พรรคได้นำเสนอข้อมูลและสาระที่เกี่ยวกับนโยบายมากพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ, การศึกษา, ความมั่นคง, ยาเสพติดและเรื่องความมั่นคง หากรัฐบาลจะเก็บเกี่ยวไปใช้ประโยชน์จะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น ซึ่งตนพอใจ และขอชื่นชม ส.ส.ของพรรคที่ทำการบ้านมาเป็นอย่างดีในการนำเสนอเนื้อหาสาระที่ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาล

ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ช่วงที่มีการตอบโต้กับ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ว่า น่าเสียดายเพราะสิ่งที่ตนนำเสนอทั้งหมดเป็นช่วงที่นายกรัฐมนตรีอาจติดใจ คือ ปัญหาทีเกี่ยวข้องกับการประคับประคองประชาธิปไตย และทำอย่างไรให้ระบบการเมืองของเราเดินไปได้ โดยมีเรื่องสำคัญที่เป็นเรื่องพื้นฐานของประชาชนด้วยคือเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ตนไม่ทราบว่าด้วยเหตุผลใดนายกรัฐมนตรีเลือกที่จะเปลี่ยนบรรยากาศให้เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในเรื่องเหตุการณ์ 6 ต.ค.ประเด็นที่เป็นหัวใจที่ตนนำเสนอคือเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต ทั้งนี้เรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวนายกรัฐมนตรีนั้นตนมีหลักฐานและข้อมูลรองรับชัดเจน

“นี่คือ สาระที่มานำเสนอแต่พอดีนายกฯมาถกเถียงเลยออกนอกประเด็นไป แต่ถ้าย้อนกลับไปดูคำอภิปรายจะเห็นได้ชัดว่าเป็นการนำเสนอให้เห็นภาพรวมของการบริหารประเทศ ในทัศนะของผมและพรรคประชาธิปัตย์ที่เห็นว่ามีปัญหาอะไรและจะเดินต่อไปอย่างไร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ให้รัฐบาลนำกลับไปคิด” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ต่อข้อถามว่า นายกรัฐมนตรีพยายามทำให้เห็นว่าหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นเด็กที่ไปอบรมผู้ใหญ่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นการเบี่ยงเบนประเด็นเพราะในเนื้อหาสาระทั้งหมด และนโยบายนายกรัฐมนตรีไม่ได้ตอบอะไรเลย ซึ่งตนก็แปลกใจเพราะนายกรัฐมนตรียังพูดว่าได้อ่านนโยบายเมื่อวานนี้ ตนคิดว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะการบริหารราชการแผ่นดินในเรื่องการกำหนดนโยบายกำหนดทิศทางเป็นเรื่องหลักเป็นสาระ และเป็นหัวใจในการแก้ไขปัญหาของประชาชน

เมื่อถามต่อว่า นายกรัฐมนตรีระบุว่า ไม่มีรัฐธรรมนูญใดที่ห้ามไม่ให้เป็นปรปักษ์กับสื่อ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนไม่ได้พูดประเด็นที่ว่านายกฯจะต่อปากต่อคำกับสื่อ แต่พูดในประเด็นทีว่าสื่อมีสิทธิเสรีภาพหรือไม่ และเหตุการณ์ในช่วงปี 2519-2520 ถือว่าเป็นยุคหนึ่งที่การทำงานของสื่อกระทบกระเทือนมาก มีการปิดหนังสือพิมพ์จำนวนมาก และกว่าจะเปิดหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับรวมทั้งท่าทีของ รมว.มหาดไทย ในขณะนั้นต่อสื่อมวลชนเป็นอย่างไร พอมาถึงเรื่องของนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ซึ่งชัดเจนว่าประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าเป็นปฏิปักษ์หรือชอบไม่ชอบ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าทำไม นายเจิมศักดิ์ ถึงไม่ได้จัดรายการ เพราะว่าเนื้อหารายการมีการไปเสนอความจริงบางอย่างที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ต.ค.เพราะฉะนั้นอย่าหลงประเด็นหรือเบี่ยงเบนประเด็นเป็นเรื่องอื่น ประเด็นหลักอยู่ที่จะทำอย่างไรให้มีหลักประกันสิทธิเสรีภาพสื่อ ตนไม่ได้เห็นด้วยกับสื่อตลอดเวลา แต่เคารพการทำหน้าที่ของสื่อ ตนคิดว่าคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีควรที่จะทำอย่างนั้น

เมื่อถามว่า หากนายสมัครยังมีแนวคิดในลักษณะเช่นนี้จะทำให้การทำงานของสื่อมีความลำบากหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า น่าเป็นห่วงแต่เราจะช่วยกันจับตาตรวจสอบ ที่สำคัญคิดว่าเราต้องเข้มแข็งในเรื่องนี้ ในช่วงรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีปัญหาในเรื่องการแทรกแซงสื่อ ในช่วงแรกเราไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องใหญ่แต่สุดท้ายเป็นวิกฤติการเมืองตามมา

“วันนี้ที่มีการเสนอแนะให้มีการเคารพสิทธิเสรีภาพของสื่อเพื่อประโยชน์ของเสถียรภาพการเมืองของรัฐบาล เพราะไม่อยากให้วิกฤตการเมืองย้อนกลับมาเหมือนเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ถ้าท่านอ้างว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามอย่างนั้นอย่างนี้แล้วมีที่ไหนห้ามคนอายุ 43 ปี แสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา อย่างสุจริต สุภาพ แต่ไม่ถูกใจคนอายุมากกว่า ผมให้ความเคารพผู้อาวุโส แต่ในการปฏิบัติหน้าที่ของผมก็เสนอทุกอย่างไปตามข้อเท็จจริงไม่มีอะไรที่ผมพูดแล้วไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่ในทางตรงกันข้าม ข้อเท็จจริงที่ท่านบอกว่าผมเด็กเกินไปอาจจำไม่ได้ ก็ถูก แต่ผมศึกษาประวัติศาสตร์อยู่ตลอด ถ้าคิดอย่างนี้ก็ไม่ต้องศึกษาประวัติศาสตร์กันพอดี ถ้าเรื่องอะไรที่มีอายุมากกว่าเราก็คงจะไม่มีสิทธิ์จะรู้ได้” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

เมื่อถามว่า อาจถูกมองว่าก้าวร้าวผู้ใหญ่ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า คงไม่ใช่การก้าวร้าว ไปเปิดเทปดูได้ ว่าการวางตัวการใช้ถ้อยคำที่เหมาะสมเป็นอย่างไร ที่สำคัญ เป็นการพูดเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมว่าอันตราย หรือความล่อแหลมในทางการเมืองยังมีอยู่และจะแก้ไขอย่างไร ถ้าเราไม่พูดกันเรื่องนี้วันข้างหน้าหากเกิดวิกฤตการเมืองคนที่เดือดร้อน คือ ประชาชน นักการเมืองจะไม่เดือดร้อนเท่าประชาชน เราพยายามให้สภาที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เราต้องทบทวนบทเรียนและจำเป็นต้องเอาความจริงมาพูดถ้าเราไม่กล้าเอาความจริงมาพูด สังคมจะมีปัญหา

ส่วนที่มีเสียงกล่าวหาว่านายอภิสิทธิ์และประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์รุมนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มันไม่มีเรื่องรุม แต่บังเอิญนายสมัครตอบโต้ตนว่าคงอายุน้อยเกินไปที่จะรู้ ตนจึงบอกว่าได้ศึกษาจากประวัติศาสตร์ ท่านก็ได้ไปพาดพิงนายชวนเองว่าให้ไปถามประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้นทำให้นายชวนต้องออกมาชี้แจงในสิ่งที่นายกฯได้พาดพิง อย่างไรก็ตามตนเชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นปัญหาต่อการทำงานระหว่างตนและนายกฯ เพราะเป็นลักษณะเฉพาะตัวของนายกรัฐมนตรีในการที่จะใช้อารมณ์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่อย่างน้อยท่านก็ฟังและชี้แจง ซึ่งถ้ากระบวนการทำงานเป็นอย่างนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร และไม่ยืดเยื้อ ไม่มีการประท้วงยืดยาวเหมือนก่อน

นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการกฤษฏีกาตีความให้ ส.ส.สามารถเป็นเลขานุการและที่ปรึกษารัฐมนตรีได้ว่า ในอดีตการเป็นเลขานุการรมต.หรือที่ปรึกษามักจะใช้ส.ส. ในระบบรัฐสภาทั่วไปก็จะเป็นเช่นนี้ แตนไม่แน่ใจเจตนารมรณ์ของผู้เขียนรัฐธรรมนูญและหากใครติดใจสงสัยในเรื่องรัฐธรรมนูญจะไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามตนยังไม่ได้อ่านคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฏีกาว่าเป็นอย่างไร ฟังเพียงแต่ความเห็นเท่านั้น ความจริงแล้วถ้าดูเฉพาะถ้อยคำอาจตีความได้ทั้งสองทาง บังเอิญว่าหากไปเทียบเคียงกับวิธีการเขียนในอดีตอาจทำให้เข้าใจได้ว่าผู้เขียนตั้งใจที่จะไมให้ ส.ส.ไปเป็นเลขาฯ หรือที่ปรึกษา แต่ถ้าถามตนในระบบรัฐสภา เห็นว่า ส.ส.ควรจะเป็นเลขาฯและที่ปรึกษา รมต.ได้

/0110
กำลังโหลดความคิดเห็น