อดีตเลขาธิการแนวร่วมอาชีวะฯ ชี้เป็นบุคลิกส่วนตัว “สมัคร”กล้าบิดเบือนความจริง เชื่อรู้ดีเกิดอะไรขึ้นเมื่อ 6 ตุลาฯ เหน็บ “หมอเลี้ยบ” อำนาจ ผลประโยชน์ ทำให้ต้องนิ่งเฉย “หัวหน้าหมัก”บิดเบือนอย่างไรก็ยอมรับได้ เผยยังชื่นชมวีรภาพคนเดือนตุลาฯ บางคนในอดีต แต่ปัจจุบันไม่อยากนึกถึงแล้ว
นายโอริสสา โอราวัณวัฒน์ อดีตเลขาธิการแนวร่วมอาชีวะศึกษาเพื่อประชาชนแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์รายการ “NEWSHOUR : ชั่วโมงข่าวบ่าย3” ทาง เอเอสทีวี 1 เมื่อวันที่ 13 ก.พ. กรณีนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่าในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีผู้เสียชีวิตเพียงคนเดียว ว่า ในวันที่เกิดเหตุล้อมปราบนักศึกษาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้น ตนอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อตรวจตราตามจุดต่างๆ ตามระบบการรักษาความปลอดภัยที่วางเอาไว้ และในขณะที่มีการบุกเข้ามานั้น ตนอยู่ที่บริเวณหอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นจุดที่มีการบุกเข้ามาอย่างรุนแรงที่สุดเช่นเดียวกับทางด้านพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
กรณีที่นายสมัครพูดว่าในเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตเพียง 1 คน นั้น นายโอริสสากล่าวว่า หากนายสมัครตั้งใจที่จะพูดเช่นนั้น ก็แสดงว่านายสมัครตั้งใจจะบิดเบือนความจริงทางประวัติศาสตร์ เพราะไม่เชื่อว่าคนอย่างนายสมัครจะไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น ตนคิดว่านายสมัครทราบดีว่าเหตุการณ์จริงๆ เป็นอย่างไร ในอีกด้านหนึ่งเชื่อว่านายสมัครต้องการจะให้นักข่าวเข้าใจว่าเหตุการณ์นั้นไม่ได้รุนแรงอะไร มีคนตายแค่คนเดียวเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม นายโอริสสา กล่าวต่อว่า ที่นายสมัครกล้าพูดอย่างนั้น ก็เพราะความเป็นนายสมัคร มีอะไรหลายอย่างที่กล้าพูดในลักษณะนี้มาหลายครั้ง ถ้าเราดูบุคลิกส่วนตัวของนายสมัครจะเห็นว่ากล้าพูดอะไรที่ค้านจากความเป็นจริงในประวัติศาสตร์หลายครั้ง
“นายสมัครในฐานะตอนนี้ไม่ใช่นายสมัครธรรมดา แต่เป็นนายรัฐมนตรีของประเทศไทย เป็นเรื่องที่สำคุญอย่างยิ่ง ที่คนระดับนายกฯ ถ้าพูดอะไรออกมาในลักษณะเช่นนี้ มันหมายถึงว่า 1.คุณไม่รู้อะไรเลยในทางประวัติศาสตร์ หรือ 2.คุณตั้งใจจะบิดเบือนทางประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้นตรงนี้แล้ว น่าจะทำอะไรให้มันกระจ่างขึ้นในตัวเขาเอง ไม่เช่นนั้นแล้ว ถ้ามองจากมุมของคนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่รู้เรื่องนี้ดี เขาจะหมดความเชื่อถือไปทันที”
นายโอริสสา กล่าวต่อว่า ตนไม่ได้หนักใจกับการที่นายสมัครยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิตเพียงคนเดียว เพราะไม่ว่านายสมัครจะพูดอย่างไร คนที่จะตัดสินเรื่องนี้ไม่ใช่นายสมัคร แต่เป็นประชาชนหรือคนทั้งหมด ที่มองว่าทำไมนายสมัครจึงพูดอย่างนี้ และจะตัดสินได้ว่าเขาควรจะเชื่อถือคนอย่างนี้หรือไม่
ต่อคำถามที่ว่า ขณะนี้คนเดือนตุลายังเหนียวแน่นกันแค่ไหน เพราะหลายคนไปอยู่กับฝ่ายการเมืองและสามารถจับมือกับนายสมัครได้ นายโอริสสากล่าวว่า พวกเราส่วนหนึ่งยังคงติดต่อกันอยู่ แต่อาจจะมีบางคน ตนไม่อยากจะใช้คำว่าเปลี่ยนไป แต่สถานะทางสังคมของเขาเปลี่ยนไป เขาจึงไม่ได้พบเจอพวกเราบ่อยนัก แต่ตนก็ยังนึกถึงวีรภาพของพวกเขาในอดีต ตนชื่นชมสิ่งที่พวกเขาทำในอดีต แต่ในปัจจุบันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
สำหรับนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั้น ในฐานะที่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงของสังคม และเป็นบุคคลที่เห็นว่าความจริงเป็นอย่างไร เขาควรจะออกมาพูดความจริง ไม่ควรนิ่งเฉย แต่บางครั้งเรื่องของอำนาจ เรื่องของผลประโยชน์ หรืออะไรก็ตาม ทำให้หลายคนคิดว่านิ่งเฉยน่าจะดีกว่า แต่ถ้าสำนึกของเขาเป็นสำนึกของคนเดือนตุลาฯ ที่ยังมีจิตวิญญาณของนักสู้ เขาไม่ควรจะนิ่งเฉย
ทั้งนี้ นายโอริสสา กล่าวอีกว่า ความนิ่งเฉยของ นพ.สุรพงษ์นั้นมีมานานแล้ว ตนไม่อยากจะพูดว่าที่เขาเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์เป็นเพราะความบังเอิญ เพราะดูจะเป็นการหยามกันเกินไป แต่ก็ยังนึกถึงวีรภาพของพวกเขาในอดีต เขาจะเข้าไปด้วยสาเหตุอะไรก็แล้วแต่ เรายังนึกถึงสิ่งที่เขาทำไว้ในอดีต ไม่พยายามนึกถึงเรื่องปัจจุบันของเขา เพราะถ้านึกถึงแล้ว ความรู้สึกรังเกียจมันจะเกิดขึ้นในใจ
กรณีที่นายสมัครไปพูดกับนักเรียนไทยที่ฝรั่งเศสเมื่อปี 2520 ว่า ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หลังเกิดเหตุมีการพบหมาย่าง หมาตุ๋น และมีภาพโฮจิมินห์อยู่ในศพที่ถูกเผา ทำให้ดูเหมือนว่ามีคนเวียดนามแทรกซึมเข้ามานั้น นายโอริสสากล่าวว่า ในข้อเท็จจริงตนเชื่อว่านายสมัครไม่พบสิ่งเหล่านั้น เพราะมันไม่มี ตนตรวจตราอยู่ทุกจุดในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ที่นายสมัครพูดอย่างนั้นเป็นสิ่งที่ฝ่ายผู้ปกครองต้องการจะป้ายสีให้พวกเราเป็นคอมมิวนิสต์ จึงพูดอย่างนั้นเพื่อทำให้ดูเลวร้าย ให้พวกเราเป็นคอมมิวนิสต์จริงๆ เพื่อทำให้มีเหตุผล สร้างความเป็นธรรมในการเข้าปราบ ซึ่งไม่ว่าจะทำยังไงๆ ก็ไม่เป็นธรรม
ต่อคำถามที่ว่า คนเดือนตุลาที่ทำงานร่วมกับนายสมัครทำใจกับเรื่องนี้ได้อย่างไร นายโอริสสา กล่าวว่า การที่พวกเขาอยู่กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรได้ ก็น่าจะทำใจได้ระดับหนึ่งแล้ว เพราะฉะนั้นการที่พวกเขามาอยู่กับนายสมัคร พวกเขาก็น่าจะทำใจได้แล้ว เพราะว่าถ้าทำใจไม่ได้ ก็ควรที่จะปลีกตัวออกมา มนุษย์ไม่ควรที่จะอยู่กับอะไรที่ตนทนไม่ได้
สำหรับบทบาทของนายสมัคร ตอนเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ นั้น นายโอริสสา กล่าวว่า อาจจะไม่ชัดเจนว่านายสมัครมีส่วนมากน้อยแค่ไหน แต่สิ่งที่เราเห็นจากการพูดจาของนายสมัครคือนายสมัครเห็นด้วยกับการปราบปรามนักศึกษา แต่จะมีส่วนในการปราบปรามด้วยแค่ไหน นายสมัครน่าจะรู้อยู่แก่ใจตัวเอง
นายโอริสสา กล่าวต่อว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาคม ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของคนทั้งประเทศ ถ้าจะเรียกร้องให้นายสมัครพูดความจริง เขาไม่พูดหรอก เขาก็จะยืนยันอย่างที่เขาพูดว่ามีคนตายแค่ 1 คน อ้างว่าเขาเห็นอย่างนั้น เป็นลักษณะส่วนตัวของเขา
“แต่ถึงอย่างไรก็ตาม คน 6 ตุลาฯ ควรจะนิ่งเฉยหรือเปล่า ปล่อยให้นายสมัครอยากจะพูดอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็พูดไป หรือจะมีปฏิกิริยาอะไรออกมาบ้างกรณีที่นายสมัครบิดเบือนประวัติศาสตร์ในส่วนนี้ แล้วเขาจะบิดเบือนประวัติศาสตร์ส่วนอื่นๆ อีกหรือไม่ในอนาคต ก็น่าคิด ที่สำคัญที่สุด คน 6 ตุลาฯ ที่ทำงานกับนายสมัครจะสะกิดอะไรนายสมัครได้หรือเปล่า”นายโอริสสากล่าวทิ้งท้าย