xs
xsm
sm
md
lg

“ยุทธ” ติดแหงกยอมรับตั้งวิปมีปัญหา ซ้ำรอยกฎเหล็กห้าม ส.ส.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปธ.สภาฯ ยอมรับ รธน.ส่งผลให้การแต่งตั้งวิปรัฐบาลมีปัญหา เช่นเดียวกับการห้าม ส.ส.ไปดำรงตำแหน่งทางการเมือง พร้อมผุดไอเดีย เตรียมจับ รปภ.ฝึกฮัลโหล และพัฒนาระบบไอทีในเชิงรุก หวังอวดแขกต่างชาติ


วันนี้ (11 ก.พ.) นายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการสัมมนา “บทบาทหน้าที่ของ ส.ส.กับการใช้บริการของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร” ว่า การให้บริการของหน่วยงานในสังกัดสำนักงานเลขาธิการสภาฯ จะรุกเข้าถึงผู้ใช้บริการ โดยมุ่งเน้นการให้บริการร่วมกันของข้อมูลสารสนเทศ และระบบไอทีของรัฐสภา แต่จากการตรวจเยี่ยมหน่วยงานในสังกัด พบว่า จะต้องมีการแก้ไข ปรับปุง และพัฒนาระบบข้อมูลให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลให้สมาชิกสามารถใช้บริการได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดปรับปรุงฝ่ายรักษาความปลอดภัยของรัฐสภาให้มีความเป็นสากล เมื่อมีแขกต่างประเทศเดินทางมาเยี่ยมจะไม่เห็นความแตกต่าง แต่จะรู้สึกถึงความเป็นสากลเหมือนในต่างประเทศ จึงอาจจะมีการปรับเปลี่ยนเครื่องแบบของฝ่ายรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ให้มีความทันสมัย รวมถึงการฝึกการใช้ภาษาอังกฤษให้สามารถสื่อสารกับชาวต่างประเทศได้

นายยงยุทธ กล่าวถึงปัญหาที่รัฐธรรมนูญบัญญัติห้ามมิให้ ส.ส.ไปเป็นที่ปรึกษา หรือเลขานุการรัฐมนตรี ว่า เรื่องนี้ยังเป็นปัญหา รวมไปถึงการตั้งคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล ซึ่งเป็นการแต่งตั้งโดยใช้ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ทำให้ยังมีข้อสงสัยว่าเป็นตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ ทั้งนี้ หากเป็นตำแหน่งทางการเมืองอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญได้

“ตอนร่างรัฐธรรมนูญอาจลืมคิดถึงประเด็นนี้ไป เห็นว่า การตั้งวิปเป็นเรื่องของงานสภาฯ ไม่เกี่ยวกับงานบริหารตามที่หลักการของการทำรัฐธรรมนูญคิด การตั้งวิปเป็นการส่งเสริมให้กิจการสภาฯ บรรลุวัตถุประสงค์ ให้กิจการลุล่วงไปด้วยดี แต่ถ้าเกิดปัญหาจะหาทางออกอย่างไร คงต้องปรึกษากัน มันมีหลายเรื่องที่ต้องตีความ” นายยงยุทธ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีปัญหาถึงการตั้งวิปฝ่ายค้านหรือไม่ นายยงยุทธ กล่าวว่า ปัญหาคงมีเฉพาะการตั้งวิปรัฐบาล เพราะตั้งโดย พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ส่วนการตั้งวิปฝ่ายค้านคงไม่มีปัญหา เมื่อถามว่า การเขียนรัฐธรรมนูญหยุมหยิมเกินไปใช่หรือไม่ นายยงยุทธ กล่าวว่า ไม่ขอแสดงความคิดเห็น

“ถ้าออกความเห็น เดี๋ยวไปทะเลาะกัน ให้ประชาชนเป็นผู้คิด แล้วให้ตกผลึก ผมไม่ออกความเห็น ไม่ใช่เพราะไม่เป็นผู้นำ แต่การร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย และประชาชนต้องมีส่วนร่วม สภาฯ จะเป็นเวทีสำหรับการปรึกษาหารือมากกว่าการตัดสินโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สภาฯ เป็นสถานที่กลางให้ทุกฝ่ายมาประชุมกัน มาแสดงความคิดเห็น จากนั้นจะได้เดินหน้าร่วมกัน” นายยงยุทธ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น