“ประพันธ์” เตือน ส.ส.รับตำแหน่งเลขาฯ รมต.ขัด รธน.มาตรา 265 อาจเสี่ยงพ้นสมาชิกสภาพความเป็น ส.ส. ส่วนการลงพื้นที่ร่วม รมต.ถือเป็นเรื่องปกติ พร้อมระบุ ปชช.ขอลงทะเบียนใช้สิทธิล่วงหน้าเลือกตั้ง ส.ว.เยอะกว่าเลือก ส.ส
วันนี้ (8 ก.พ.) นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารการเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีที่ขณะนี้บรรดา ส.ส.กำลังจะดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีและตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรี และผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีในแต่ละกระทรวงที่พรรคตนเองได้รับมอบหมายว่า อาจจะเสี่ยงต่อการหมดสมาชิกภาพความเป็นผู้แทนราษฎรได้ เนื่องจากในรัฐธรรมนูญมาตรา 265 (1) ระบุชัดเจนว่า ส.ส.และ ส.ว. จะต้องไม่ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือข้าราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวที่เกี่ยวกับข้าราชการการเมือง ซึ่งเรื่องนี้รัฐธรรมนูญ 50 เขียนไว้ต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ยกเว้นตำแหน่งข้าราชการทางการเมืองไว้ชัดเจน
นายประพันธ์ กล่าวว่า ที่รัฐธรรมนูญห้ามไว้เพราะว่าเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่าในอดีต ส.ส.ไม่ค่อยให้ความสำคัญต่องานในสภา ดังนั้นจึงได้ห้ามไว้อย่างชัดเจน ตรงนี้พรรคการเมือง และฝ่ายการเมืองต้องใช้ดุลพินิจ เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาทางข้อกฎหมาย หากมีคนสงสัยในเรื่องข้อห้ามแล้วไปส่งศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ และถ้าตีความออกมาว่าดำรงตำแหน่งไม่ได้ ก็จะส่งผลให้ผู้นั้นหมดสมาชิกภาพความเป็น ส.ส.ทันที เพราะฉะนั้นก็ต้องเสี่ยงเอา
“เจตนารมณ์ของผู้ร่างต้องการให้ ส.ส.ทำงานในด้านนิติบัญญัติให้เยอะ แต่กฏหมายเขียนยกเว้นตำแหน่งรัฐมนตรีไว้ เพื่อที่จะได้ทำงานได้เต็มที่เนื่องจากขณะนี้มีปัญหาว่ารัฐมนตรีในรัฐบาลบางครั้งไม่กล้าตัดสินใจในการที่จะคัดค้านนายกรัฐมนตรี หรือทำงานอย่างเกรงใจ ที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ตีนลอย ฉะนั้นจึงยกเว้นตำแหน่งนี้เท่านั้นเพื่อจะได้ปฏิบัติหน้าที่ยึดโยงกับสภาตามระบบสากล แต่กรณี ส.ส.กฎหมายห้ามไว้ ส่วนการที่จะไปเดินตามรัฐมนตรีในการลงพื้นที่ระหว่างตรวจงานราชการในแต่ละพื้นที่ สามารถทำได้เพราะถือว่า ส.ส.ก็ต้องดูแลประชาชนอยู่แล้ว แต่จะมีตำแหน่งไม่ได้ ซึ่งหากใครที่ยังจะเป็นก็ต้องไปเสี่ยงเอา”
ส่วนใครจะเป็นผู้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้นมีหลายช่องทางที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น ใช้เสียง 1 ใน 10 ของสภาฯยื่นหนังสือให้ประธานสภาฯ ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ หรือให้ กกต.ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธนรรมนูญพิจารณา และตรงนี้ก็จะส่งผลกระทบต่อปัญหาการเลือกตั้ง เพราะหากบุคคลผู้นั้นสิ้นสภาพ กกต.ก็จะต้องจัดเลือกตั้งใหม่ ซึ่งงบประมาณในการจัดเลือกตั้งด้วยเหตุดังกล่าว กกต.จะเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งก็เป็นภาษีของประชาชน ทั้งนี้เราไม่สามารถเรียกร้องเอาจาก ส.ส.ที่สิ้นสภาพเนื่องจากกฎหมายเขียนไว้เพียงว่าบุคคลนั้นจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเมื่อถูก กกต.ส่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องใช้ดุลพินิจในเรื่องนี้ให้มาก
เมื่อถามว่าสุดท้ายใครจะชี้ขาดในเรื่องดังกล่าว นายประพันธ์ กล่าวว่า ทุกฝ่ายก็ต้องช่วยกันพิจารณาเพราะเป็นการตีความกฎหมายตามตัวอักษร แต่หากมีความเห็นที่ขัดกันสุดท้ายก็ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่ กกต.ขณะนี้ไม่มีอำนาจส่งตีความเพราะเรื่องยังไม่เกิด และเราก็ไม่มีอำนาจไปแนะนำใคร
นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารการเลือกตั้ง กล่าวว่า ยังไม่ทราบว่าคณะอนุกรรมการสอบสวนกรณีนายยงยุทธ ติยะไพรัช ทุจริตการเลือกตั้งจะมีมติในเรื่องการส่งซีดีไปให้กองพิสูจน์หลักฐานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตรวจสอบตามที่ผู้ถูกร้องร้องขอหรือไม่ เนื่องจาก กต.มอบอำนาจสอบสวนให้ กก.แล้ว เพราะฉะนั้น กกต.ไม่มีอำนาจไปแทรกแซง แต่อย่างใด
นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารการเลือกตั้งกล่าวถึงการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 มี.ค.2551 ว่า ขอเชิญชวนประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ว.ให้มาก เพราะตำแหน่ง ส.ว.ถือว่าเป็นหน้าที่สำคัญและภารกิจแรกที่ ส.ว.ชุดนี้ต้องทำคือการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จะต้องเข้ามาพิจารณาคดีที่สำคัญหลายเรื่องโดยเฉพาะคดียุบพรรคต่างๆ ที่ กกต.จะต้องส่งไปให้พิจารณาตัดสิน เพราะฉะนั้น ขอให้ประชาชนใช้ดุลพินิจเลือกคนดีมาช่วยถ่วงดุลอำนาจรัฐ อย่างไรก็ตาม ยอดคนลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าจำนวน 2.1 ล้านคน และเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร จาก 8 หมื่นคนเป็น 9 หมื่นคน ได้มีการขอลงทะเบียนมากกว่าการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งที่ผ่านมา