อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน
กำลังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอย่างมากในหมู่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรค พปช.ว่า “ส.ส.” สามารถดำรงตำแหน่ง “ที่ปรึกษาหรือเลขานุการ รมต.” ได้หรือไม่? เป็นที่ปรึกษานายกฯ ได้หรือไม่? ถ้าเป็นได้ จะมีอันต้องหลุดจากตำแหน่งในภายหลังเพราะถือว่าขัดต่อ รธน.มาตรา 265 หรือไม่? นอกจากมาตราดังกล่าวแล้ว ความสงสัยของ ส.ส.ยังลามเลยไปถึงมาตรา 266 ด้วยว่า การห้าม ส.ส.ก้าวก่าย-แทรกแซงการทำงานของ ขรก.หรือลูกจ้างหน่วยงานของรัฐนั้น พฤติกรรมแบบไหนถึงจะเรียกว่าก้าวก่าย-แทรกแซง? ลองมาไขข้อข้องใจเรื่องเหล่านี้กัน
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ
ขณะนี้เริ่มมีข้อสงสัย-ไม่แน่ใจในหมู่ ส.ส.ซีกรัฐบาล ว่า บุคคลที่เป็น ส.ส.สามารถดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาหรือเลขานุการรัฐมนตรีได้หรือไม่? เหตุเพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 265 ระบุว่า “ส.ส.และ ส.ว.ต้องไม่ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ...” ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคพลังประชาชน มองว่า มีความไม่ชัดเจนในข้อความดังกล่าว เพราะหากกระทรวงต่างๆ ถือว่าเป็นหน่วยงานราชการ แล้วตำแหน่งที่ปรึกษาหรือเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ นั้น ส.ส.จะสามารถดำรงตำแหน่งได้หรือไม่?
เมื่อไม่แน่ใจ พรรคพลังประชาชน จึงได้พยายามเซฟตัวเองด้วยการวางตัวผู้ที่ไม่ได้เป็น ส.ส.และ ส.ส.สอบตกทั้งหลาย ให้มาเป็นที่ปรึกษาและเลขานุการรัฐมนตรีแทน เพื่อป้องกันปัญหากระทำการขัดรัฐธรรมนูญจนต้องหลุดจากตำแหน่งในภายหลัง เช่น วางตัว นางศุภมาศ อิศรภักดี อดีต ส.ส.กทม.เป็นเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข,นายเฉลิมชัย จีนะวิจารณะ อดีต ส.ส.กทม.เป็นเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือแม้แต่การหาที่ลงให้ พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน และอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่พลาดตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม ด้วยการวางตัวให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายความมั่นคงแทน ด้าน พล.อ.อุดมชัย องคสิงห์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 3 ถูกวางตัวให้เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีกลาโหม ขณะที่ นายจักรภพ เพ็ญแข อดีต ส.ส.สอบตก และแกนนำ นปก.ที่มีชื่ออยู่ในโผ ครม.เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ก็อาจจะได้คั่วตำแหน่งโฆษกรัฐบาลอีก 1 ตำแหน่ง เป็นต้น
นอกจากการวางตัว (ที่ปรึกษา-เลขานุการรัฐมนตรี) ให้ปลอดภัยไว้ก่อนแล้ว ส.ส.พรรคพลังประชาชน ก็พยายามขับเคลื่อนให้เกิดความชัดเจนในรัฐธรรมนูญมาตรา 265 ว่าตกลง ส.ส.ดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้หรือไม่ โดยมีการถกเถียงเรื่องนี้กันมากในที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญยกร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวานนี้ (4 ก.พ.)
ซึ่ง นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ และโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญยกร่างข้อบังคับการประชุมสภา เล่าให้ฟังว่า ส.ส.ซีกรัฐบาลกังวลกันมากเรื่องความไม่ชัดเจนว่า ถ้า ส.ส.เป็นที่ปรึกษา-เลขานุการรัฐมนตรี จะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 265 หรือไม่ รวมทั้งมาตรา 266 ที่ห้าม ส.ส.-ส.ว.แทรกแซง หรือก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ....นั้น จะส่งผลให้ ส.ส.ไม่สามารถตั้งกระทู้ถามการทำงานของข้าราชการได้เลยใช่หรือไม่?
“ตาม รธน.ห้ามมิให้ ส.ส.-ส.ว.ไปดำรงตำแหน่งตามที่ระบุไว้ในมาตรา 265-266 ปัญหาที่ถกเถียงกันเยอะ ส่วนมากจะเป็นฝ่ายรัฐบาล ที่สงสัยก็คือ เขาเนี่ย ตัว ส.ส.เองจะไปเป็นเลขานุการรัฐมนตรีได้มั้ย? จะเป็นที่ปรึกษานายกฯ ได้มั้ย? เป็นผู้ช่วยเลขาฯ ได้มั้ย? เขากังวลเรื่องนี้มาก สมมติว่า เกิดว่า ส.ส.ไปเป็นเลขานุการรัฐมนตรีแล้ว เกิดมีคนส่งให้ตีความว่าขัด รธน.ไปดำรงตำแหน่ง ตรงนี้ก็จะหลุดจากความเป็นผู้แทนราษฎร ก็กังวล ก็เลยอยากจะให้ตรงนี้ชัด …อีกเรื่องหนึ่งที่เขาสงสัยมาก ก็คือ ห้ามมิให้ผู้แทนราษฎรไปก้าวก้าวการทำงานของข้าราชการประจำ แทรกแซงก้าวก่ายการทำงานของข้าราชการประจำ เขาก็สงสัยว่า สมมติเราตั้งกระทู้ถามข้าราชการว่า ข้าราชการคนนี้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มันเป็นการแทรกแซงก้าวก่ายเขามั้ย ถ้าเป็นการแทรกแซงก้าวก่ายการทำงานของข้าราชการประจำ เราก็อาจจะถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ อันนี้ก็ต้องเชิญผู้ร่าง รธน.มาชี้แจงว่า ลักษณะเช่นไหนที่ถือว่า ผู้แทนฯ กับ ส.ว.ไปก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ”
ทั้งนี้ เพื่อความชัดเจนในข้อกังวลดังกล่าว ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญยกร่างข้อบังคับการประชุมสภา จึงมีมติจะเชิญ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มาอธิบายว่า เจตนารมณ์ในการร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 265-266 เป็นอย่างไร ให้ ส.ส.เป็นที่ปรึกษา-เลขานุการรัฐมนตรีได้หรือไม่ และพฤติกรรมแบบไหนถึงจะเข้าข่ายก้าวก่าย หรือแทรกแซงการทำงานของข้าราชการ รวมทั้งจะเชิญ นายอัชพร จารุจินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกามาให้ข้อคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวด้วย โดยจะเชิญบุคคลทั้งสองมาชี้แจงในวันที่ 12 ก.พ.นี้
นายนิพิฏฐ์ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การให้ ส.ส.ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา-เลขานุการรัฐมนตรีได้ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งส่วนตัวแล้วคิดว่า น่าจะให้ ส.ส.ดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้ แต่คิดว่าเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ต้องการ ส.ส.ดำรงตำแหน่งดังกล่าว
“ผมไปดูเจตนาของผู้ร่างฯ (รธน.) เขาไม่ต้องการให้ดำรงตำแหน่ง เพราะการไปดำรงตำแหน่ง มันจะทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของผู้แทนลดน้อยลง เช่น ไปเป็นเลขานุการรัฐมนตรี หรือเป็นที่ปรึกษาเนี่ย ไม่มาประชุมสภาแล้ว เวลาในการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติก็น้อยลง เจตนาเขาไม่ต้องการให้ดำรงตำแหน่งจริงๆ แต่มันก็มีปัญหาจริงๆ นะว่า สมมติผู้แทนราษฎรไปเป็นเลขานุการรัฐมนตรีไม่ได้ เวลาเขาเป็นรัฐมนตรี มันก็มีปัญหาว่าเขาไม่เคยผ่านงานมา คล้ายๆ ว่าให้เขาไปดูงานก่อนมั้ย วันที่เขาเป็นรัฐมนตรีเขาจะได้สามารถเป็นรัฐมนตรีได้ ถ้าเขาไม่เคยผ่านงานมาเลย อยู่ๆ ให้เขาเป็นรัฐมนตรีเลย มันก็มีปัญหาว่า มันไม่มีความเหมาะสม ไม่มีประสบการณ์ มันก็มองได้หลายแง่ ส่วนตัวผม ถ้าผู้แทนราษฎรไปดำรงตำแหน่งในทางการเมือง เช่น เป็นเลขานุการรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรี ผมคิดว่าน่าจะให้เขาดำรงตำแหน่งได้”
ลองไปฟังมุมมองของผู้ร่างรัฐธรรมนูญกันบ้างว่าจะตรงกับที่ ส.ส.คิดหรือไม่? นายเดโช สวนานนท์ อดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่า ส.ส.ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา-เลขานุการรัฐมนตรีได้ เพราะตำแหน่งดังกล่าวเป็นตำแหน่งทางการเมือง เป็นข้าราชการการเมืองเช่นเดียวกับตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งไม่เข้ามาตรา 265 ที่ห้ามดำรงตำแหน่งข้าราชการประจำ
“ความจริง ส.ส.เป็นรัฐมนตรี รัฐมนตรีเป็นตำแหน่งข้าราชการการเมืองอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเป็นรัฐมนตรีได้ เขาบังคับด้วยซ้ำไปว่า ไม่ต้องลาออกจาก ส.ส.เมื่อก่อน 2540 เราต้องลาออกจากการเป็น ส.ส.แต่ รธน.ปี 50 นี่ไม่ใช่ เป็นรัฐมนตรี และเป็น ส.ส.ก็ไม่ต้องลาออกแต่อย่างใด นั่นก็ชี้ชัดเลยว่า ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ เพราะว่าตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีก็ดี ตำแหน่งรัฐมนตรีก็ดี เป็นตำแหน่งทางการเมือง เป็นได้แน่นอน แต่ดำรงตำแหน่งเป็น ผอ.(หน่วยงาน) รัฐวิสาหกิจไม่ได้ เป็นข้าราชการประจำไม่ได้ แต่เป็นข้าราชการการเมืองได้”
ส่วนกรณีที่ ส.ส.กังวลว่า จะไม่สามารถตั้งกระทู้ถามการทำงานของข้าราชการกระทรวงต่างๆ เพราะอาจขัดต่อมาตรา 266 ของรัฐธรรมนูญที่ห้าม ส.ส.ก้าวก่าย หรือแทรกแซงการทำงานของข้าราชการหรือพนักงานหน่วยงานของรัฐ ซึ่งอาจส่งผลให้ ส.ส.ต้องหลุดจากตำแหน่งนั้น นายเดโช แนะว่า ให้ ส.ส.ดูว่า สิ่งที่กระทำนั้น เป็นการทำงานในหน้าที่ของตนหรืออยู่ในสายการบังคับบัญชาของตนหรือไม่ ถ้าใช่ ก็ไม่ขัดรัฐธรรมนูญดังกล่าว แต่ถ้าไม่ใช่หน้าที่ เช่น ไปวิ่งเต้นโยกย้าย ฝากเด็ก หรือให้ขึ้นเงินเดือนให้เด็กตน ต้องถือว่าเข้าข่ายแทรกแซง
ด้าน รศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เห็นสอดคล้องกับนายเดโชเช่นกันว่า ส.ส.สามารถดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา-เลขานุการรัฐมนตรีได้ เพราะเป็นตำแหน่งข้าราชการการเมือง ไม่ใช่ข้าราชการประจำ แต่รัฐธรรมนูญจะห้าม ส.ส.ไปมีตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจ เพราะตำแหน่งดังกล่าวเป็นการ “ปูนบำเหน็จ”ให้พรรคพวกตัวเอง โดยหวังจะเอาเงินหลวงมาจ่ายเป็นเงินเดือนให้คนเหล่านั้น
“ตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจเราต้องเข้าใจภูมิหลังว่า ที่เขาพูดตรงนี้เพราะว่าตำแหน่งเหล่านี้มันเหมือนกับปูนบำเหน็จ คือพวกของตัวเขาไม่ได้มีความรู้ความสามารถ แล้วพวกการเมืองก็เข้าไปอยู่ในรัฐวิสาหกิจ เพื่อจะเอาเงินหลวงจ่ายเงินเดือนให้พวกนี้ มันไม่ได้เกิดจากความเป็นธรรม เพราะฉะนั้นเขาถึงได้ห้ามตรงนี้ไว้ ไม่งั้นมันก็หาประโยชน์ คนที่อยู่ในรัฐวิสาหกิจก็จะไปหาประโยชน์กับพรรคการเมือง ไปลงมติไปอะไร มันเป็นคอร์รัปชั่นทางอ้อม”
ส่วนข้อกังวลของ ส.ส.ที่ไม่แน่ใจว่าพฤติกรรมแบบไหนจึงจะเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการทำงานของข้าราชการประจำนั้น ซึ่งเป็นข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 266 นั้น อ.ทวีเกียรติ บอกว่า ถ้า ส.ส.ทำงานในหน้าที่ของตน ก็ไม่เห็นต้องกังวล คนที่จะรู้สึกเดือดร้อนกับมาตราดังกล่าวก็คือคนที่มักจะมีพฤติกรรมก้าวก่ายหรือแทรกแซงเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว
“ก้าวก่ายหมายความว่าอย่างนี้ เวลาที่รัฐมนตรีสั่งอะไร บางทีฝากคนอย่างนี้ พวกลิ่วล้อพวกนี้ก็จะเข้าไปเบียดเบียนเจ้าหน้าที่ไง คือ ที่เขาต้องเขียนอย่างนี้ โดยหลักการมันไม่ควรจะมีอะไรหรอกนะ ควรจะปล่อยให้เขาทำได้ แต่เนื่องจากว่าโดยธรรมชาติของพวกนี้ใช้แบบนี้ซะเคย เขาถึงเขียนเป็นกฎหมายไง มันทำให้อึดอัดเหมือนกัน นึกออกมั้ย อธิบดีหรือแม้แต่เลขานุการกรมๆ หนึ่งเนี่ย เวลารัฐมนตรีจะฝาก เฮ้ย! ประมูล คนนี้ได้นะ เอาใบสั่งมา เขียนมา โทร.มาบอก บอก เฮ้ย! คุณให้คนนี้ นี่คือการแทรกแซงโดยตรง ทีนี้เขาก็ไม่อยากให้เป็นแบบนี้ ถ้ามองในแง่โครงสร้างเนี่ย มันไม่ควรจะมีแบบนี้หรอก แต่ในแง่ปฏิบัติ ต้องคุมเข้ม เพราะฉะนั้นคนที่คิดจะหาผลประโยชน์จากตรงนี้ ก็จะเดือดร้อนหน่อย ผมไม่ประหลาดใจนะที่ฝ่ายรัฐบาลพรรคพลังประชาชนเขาห่วงเรื่องนี้ หรือให้ตีความ เพราะเขาทำอย่างนี้มาตลอด”
แม้จะได้ความชัดเจนพอสมควรจากอดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญและนักวิชาการด้านกฎหมายเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญมาตรา 265-266 ว่า ส.ส.สามารถดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา-เลขานุการรัฐมนตรีได้ รวมทั้งพฤติกรรมแบบไหนของ ส.ส.ที่เข้าข่าย-ไม่เข้าข่ายก้าวก่ายหรือแทรกแซงการทำงานของข้าราชการประจำ แต่คงต้องดูปฏิกิริยาของ ส.ส.ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญยกร่างข้อบังคับการประชุมสภาฯ วันที่ 12 ก.พ.นี้อีกครั้งว่า จะพอใจความเห็น-คำอธิบายของอดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (สมคิด เลิศไพฑูรย์) และรองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา (อัชพร จารุจินดา) หรือไม่?
ดี-ไม่ดีคำชี้แจงที่ได้อาจไม่ใช่ข้อยุติ เพราะขณะนี้ ส.ส.ซีกรัฐบาลก็ร่ำๆ ล่าชื่อเพื่อยื่นตุลาการรัฐธรรมนูญให้ตีความรัฐธรรมนูญ 2 มาตราดังกล่าวแล้ว ทั้งที่ยังไม่ทันได้ฟังคำชี้แจงจากผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญและกฤษฎีกาเลยด้วยซ้ำ!!