“ยามเฝ้าแผ่นดิน” ชี้รัฐบาล “สมัคร 1” เจอวิกฤตขาดบุคลากร เพราะคนมีความรู้ความสามารถไม่อยากเข้าร่วม ติง “จักรภพ” ไม่เหมาะคุมสื่อ ส่อแทรกแซง “ไทยพีบีเอส” แถมเคยสร้างปัญหากรณีพีทีวี สอนเชิง “นพดล” เข้ากระทรวงวันแรกพูดเรื่อง“เช็กบิล”สะท้อนไม่เป็นผู้ใหญ่ เสียดาย “บิ๊กบัง” ไม่ร่วมปิดฉาก คมช.
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ ยามเฝ้าแผ่นดิน โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และสโรชา พรอุดมศักดิ์ ช่วงที่ 1
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ ยามเฝ้าแผ่นดิน โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และสโรชา พรอุดมศักดิ์ ช่วงที่ 2
รายการ “ยามเฝ้าแผ่นดิน” ออกอากาศทางเอเอสทีวี คืนวันที่ 7 กุมภาพันธ์ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ นักวิชาการอิสระ และนางสาวสโรชา พรอุดมศักดิ์ ร่วมดำเนินรายการ ในช่วงแรกได้กล่าวถึงถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ความไม่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งของรัฐมนตรีหลายกระทรวง โดเฉพาะกระทรวงการคลัง ที่มี ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ ถูกจับตามองมากที่สุด
ทั้งนี้ เพราะกระทรวงการคลังเป็นกระทรวงใหญ่ เป็นหัวใจทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของประเทศ จึงเชื่อกันว่าหน้าของรัฐมนตรีสามารถเรียกความเชื่อมั่นได้ แต่กระทรวงนี้กลับมีรัฐมนตรีว่าการเป็นหมอ รัฐมนตรีช่วยว่าการเป็นพยาบาล จึงถูกตั้งคำถามว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้หรือไม่ โดยเฉพาะนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หลังพ้นจากตำแหน่ง รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็หันไปโปรโมตสินค้าและผลิตภัณฑ์ของบริษัทตัวเอง ไม่ได้มาเกี่ยวข้องกับงานด้านเศรษฐกิจแม้แต่นิดเดียว
ส่วน ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ นั้น หากได้ฟัง นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน ออกมาการันตี พร้อมทั้งยืนยันนั้น ถือเป็นการพูดแบบนักการเมือง โดยเฉพาะคำพูดที่ว่า “นพ.สุรพงษ์ เป็นหมอ ยังเป็น รมว.คลังได้ ร.ต.หญิงระนองรักษ์ เป็นพยาบาลแต่ก็มีความสนใจก็สามารถที่จะทำงานร่วมกันได้”
อย่างไรก็ตามชื่อว่า พรรคพลังประชาชนรู้สึกอึดอัดกับ ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ มาก แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เนื่องจากเป็นโควตาตอบแทน นอกจากนี้หากมองรายชื่อคณะรัฐมนตรีทั้งหมด จะเห็นทั้งญาติพี่น้องต่างพากันมานั่งอยู่ในตำแหน่งสำคัญมากมาย โดยไม่สนใจว่าจะมีความสามารถในการบริหารหรือไม่ สะท้อนให้เห็นถึงวิกฤติการณ์ความรู้ความสามารถที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ที่รัฐมนตรีอาจจะเป็นใครก็ได้ ไม่ต้องสนใจถึงความรู้ความสามารถ
นอกจากนี้ผู้ดำเนินรายการยังรู้สึกแปลกใจที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ออกมายอมรับว่าหาคนที่เหมาะสมมารับตำแหน่งรัฐมนตรียาก เพราะกฎหมาย 7 ชั่วโคตร และอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน ถูกตัดสิทธิ นายสมัครกำลังแก้ไขปัญหาของพรรคการเมือง ไม่ได้เข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ ขณะเดียวหากสาเหตุการขาดบุคลากรจะนำไปสู่การนิรโทษกรรม 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ประเทศไทยมีประชากรมากว่า 63 ล้านคน ดังนั้นความคิดที่จะนำ 111 คนกลับมาด้วยสาเหตุขาดบุคลากรอาจไม่ถูกต้อง เพราะยังมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถอีกมาก เพียงแต่คนเหล่านั้นไม่กล้าเข้าสู่การเมืองเท่านั้นเอง
**จวก “เพ็ญ” ไม่ได้รับเลือกตั้งยังมีหน้ามาคุมสื่อ
ผู้ดำเนินรายการ กล่าวถึงกรณีที่นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งคาดหมายจะได้กำกับดูแลหน่วยงานสื่อของรัฐ ประกาศจะเข้ามาควบคุมทิศทางของกรมประชาสัมพันธ์ อสมท.และทีวีสาธารณะไทยพีบีเอส ว่า กรณีไทยพีบีเอสนั้น เป็นทีวีสาธารณะอยู่แล้ว และการดำเนินงานขณะนี้อยู่ภายใต้การดูแลของกรรมการชั่วคราว 5 คน ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน จึงต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งต่อการถูกการเมืองครอบงำ เพราะกรรมการทั้ง 5 คนนี้ แต่งตั้งโดยมติ ครม.ก็สามารถเปลี่ยนแปลงโดยมติ ครม.ได้
ผู้ดำเนินรายการ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับคำพูดของนายจักรภพที่ว่า สื่อมวลชนเอียงข้าง เพราะที่ผ่านมา สื่อมวลชนจำนวนมากเอนเอียงไปทางฝ่ายพ.ต.ท.ทักษิณบ่อยครั้ง แค่การเอาข้อมูลความไม่ชอบมาพากลของ พ.ต.ท.ทักษิณออกมาเปิดเผยในช่วงหลังการรัฐประหารยังทำไม่ได้เลย
ขณะเดียวกัน การที่นายจักรภพยังมีปัญหาเรื่องความเหมาะสม เพราะนายจักรภพชอบอ้างประชาธิปไตยแบบต่างประเทศ ซึ่งเน้นผลการเลือกตั้ง ใครจะได้รับตำแหน่งหรือไม่ก็ดูที่ผลการเลือกตั้ง แต่นายจักรภพแพ้การเลือกตั้งเมื่อปี 2548 ต่อมาในปี 2549 ก็แพ้โนโหวต และครั้งนี้ก็ไม่ได้รับเลือกตั้ง ก็ยังได้มาเป็นรัฐมนตรีที่ควบคุมดูแลสื่อ
นอกจากนี้ นายจักรภพยังมีปัญหาเรื่องการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์พีทีวี เคยเอาเทปเสียงพูดคุยทางโทรศัพท์ของศาลมาเปิดเผยจนถูกดำเนินคดี ดังนั้นหากนายจักรภพ เข้ามาดูแลสื่อของรัฐ เราจะคาดหวังถึงประสิทธิภาพและเสรีภาพของสื่อสารมวลชนได้อย่างไร อดไม่ได้ที่เริ่มมีความรู้สึกว่า จะทำเพื่อคนทั้งประเทศหรือเพียงเพื่อล้างแค้นคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่
**อัด “นพดล” พูดไม่เป็นผู้ใหญ่
ผู้ดำเนินรายการ ยังตำหนินายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ที่เข้ากระทรวงวันแรกก็พูดต่อหน้าข้าราชการว่า จะไม่มีการเช็กบิล ซึ่งแสดงถึงความไม่เป็นผู้ใหญ่ เพราะการจะเช็กบิลหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของการเมือง ถ้าคนที่เป็นผู้ใหญ่เข้ามาวันแรกจะไม่พูดเรื่องนี้ แต่จะพูดเรื่องอนาคตข้างหน้ามากกว่า ที่นายนพดลพูดนั้นเป็นการเอาการเมืองเป็นตัวนำ สะท้อนให้เห็นความไม่เป็นผู้ใหญ่ เป็นการพูดเพื่อข่มขู่
ขณะเดียวกัน ยังไม่เข้าใจเหตุใด รมว.ต่างประเทศ ถึงพูดเรื่องการคืนพาสปอร์ตเล่มแดงของ พล.ต.ท.ทักษิณ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เรื่องสำคัญหรือเรื่องใหญ่โตอะไรสำหรับประเทศในขณะนี้ ประเทศชาติยังมีเรื่องใหญ่อื่นๆ อีกมากมาย ทำไมไม่ไปดำเนินการ มัวแต่พูดในเรื่องการแก้แค้นหรือไม่แก้แค้น ถือเป็นบทบาทที่เริ่มต้นไม่สวยเอามากๆ
นอกจากนี้ ผู้ดำเนินรายการยังกล่าวถึงกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย ประกาศขอโทษประชาชนต่อเรื่องส่วนตัวและครอบครัวที่ผ่านมา ว่า ร.ต.อ.เฉลิม รอตำแหน่ง รมว.มหาดไทยมานาน แน่นอนว่าการดำรงตำแหน่งอาจจะมีผลต่อภาพลักษณ์ แต่ก็มีข้อแนะนำให้ ร.ต.อ.เฉลิม นำไปปฏิบัติ หากคิดจะอยู่ให้ครบ 4 ปี คือ ต้องชะลออย่าให้ 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยพ้นมลทินเร็ว เนื่องจากใน 111 คนนั้นมีคนที่เหมาะสมกว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่อีกมากนอกจากนี้ต้องไม่ให้เกิดกระแสข่าวในทางลบเกี่ยวกับบุตรชายในช่วงอยู่ในตำแหน่งอีกด้วย
** 19 ก.ย. ยึดอำนาจเพื่อ “ทักษิณ”?
ในช่วงที่ 2 ของรายการ ผู้ดำเนินรายการกล่าวถึงการแถลงข่าวการยุติบทบาทของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ว่า ในช่วงแถลงข่าวนั้น ผู้สื่อข่าวได้ถาม พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะรักษาการประธาน คมช.ว่า ตามเหตุผล 4 ข้อของการยึดอำนาจมาจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้น จนถึงขณะนี้ยังมีจุดยืนเหมือนเดิมอยู่หรือไม่ ซึ่งถือเป็นคำถามที่ดีมาก แต่ พล.อ.อ.ชลิตไม่ขอตอบ เช่นเดียวกับคำถามที่ว่า ได้คุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณแล้วหรือไม่ พล.อ.อ.ชลิตก็ไม่ขอตอบเช่นกัน
ผู้ดำเนินรายการกล่าวต่อว่า น่าเห็นใจ พล.อ.อ.ชลิต เพราะไม่ได้เป็นคนคุมกำลังตอนที่ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. ซึ่งวันนั้นเป็นการเคลื่อนกำลังของกองทัพบก อย่างไรก็ตาม ในเมื่อวันนี้เป็นวันปิดฉากประชาชนก็อยากจะเห็นคนที่เปิดฉากมาเป็นคนปิดฉากด้วย
ทั้งนี้ พล.อ.อ.ชลิต มาทำหน้าที่ประธาน คมช.หลังจากที่ประธานตัวจริงคือ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ลาออกไปรับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นเมื่อถูกถาม พล.อ.อ.ชลิตจึงไม่รู้จะตอบอย่างไร
สำหรับคนที่ไม่มาปรากฏตัวในการแถลงปิดภารกิจของ คมช. นอกจาก พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน แล้ว พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นสมาชิก คมช.อีกคนหนึ่ง ก็ไม่ได้มาร่วมงานเช่นกัน โดย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ส่งเพียงตัวแทนมา อ้างว่าติดราชการ อย่างไรก็ตาม ราชการดังกล่าวเป็นเพียงการตรวจเยี่ยมหน่วยงาน เมือเทียบกับการปิดฉาก คมช.แล้วน่าจะสำคัญกว่า แต่ทั้งนี้ ก็เข้าใจ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ที่จะต้องยืนอยู่ให้ได้ในช่วงของรัฐบาลชุดใหม่
ผู้ดำเนินรายการ กล่าวต่อว่า เมื่อมองย้อนไปถึงวันที่ทำการรัฐประหาร ซึ่งอ้างว่ามีความจำเป็นจริงๆ ไม่ทำไม่ได้นั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนมาถึงวันนี้ ทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิม ระบอบทักษิณกลับมาอย่างอหังการกว่าเดิม ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า เป็นการรัฐประหารเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบทักษิณหรือไม่ เพราะหลังจากรัฐประหารแล้วรัฐบาลที่เข้ามาไม่ยอมทำอะไร ขณะที่พ.ต.ท.ทักษิณมีความชอบธรรมมากขึ้นในเวทีสากล
หากวันที่ 19 ก.ย.49 ไม่มีการรัฐประหาร แล้วให้ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวเอง ถ้ามีเหตุร้ายเกิดขึ้น พ.ต.ท.ทักษิณจะอยู่ในประเทศไทยไม่ได้ เพราะหากมีความรุนแรงที่เกิดขึ้น พ.ต.ท.ทักษิณต้องเป็นคนรับผิดชอบ และจะไม่ได้รับความเห็นใจจากเวทีสากลเลย การที่ คมช.บางคนออกมาพูดว่า ถ้ารู้อย่างนี้แล้วจะไม่ทำอย่างนั้น ถือว่าสายไปเสียแล้ว