xs
xsm
sm
md
lg

“หมอเลี๊ยบ”ฟุ้งสานต่อประชานิยม โบ้ยปัญหาการเมืองทำ ศก.ฟุบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“หมอเลี้ยบ”มั่นใจ ไม่มี”เกาเหลา”ในทีมเศรษฐกิจรัฐบาล ชี้ใช้”หัวหน้าทีมคนเดียว”ไม่ทันกิน เตรียมฟื้นเวิร์คช็อป ระบุแก้ ศก.ปี 51หนักกว่าวิกฤติปี 44 เพราะปัจจัยต่างกัน เผย ครม.ขี้เหร่ อ้างมีข้อจำกัดข้อกฎหมายบล็อคไว้ ระบุไม่หวั่นเสียงวิจารณ์”นโยบายประชานิยม“ แนะให้ ส.ส.ส่งตีความดำรงตำแหน่งทางการเมือง

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรคพลังประชาชน กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส.อีสานเข้าพบนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เพราะไม่พอใจการจัดวางบุคคลดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นธรรม ว่า เนื่องจากส.ส.ที่มาพบอยากให้พิจารณาจัดสรรตำแหน่งจากความอาวุโส ซึ่งทุกคนก็รอมานาน อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้ ส.ส.ก็เข้าใจแล้วว่าพรรคใช้หลักเกณฑ์หลายอย่างในการพิจารณา ซึ่งส่วนใหญ่ส.ส.ก็มีความรู้ไม่แตกต่างกันมาก แต่ต้องมีผู้ผิดหวัง เพราะตำแหน่งต่างๆไม่เพียงพอ ส่วนจะมีการสลับวาระการดำรงตำแหน่งหรือไม่ ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะเป็นเรื่องของอนาคต

นพ.สุรพงษ์ กล่าวถึง กรณีที่นักวิชาการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายประชานิยมของพรรคร่วมรัฐบาลว่า หากพรรคร่วมฯเน้นการใช้นโยบายที่ในอดีตได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และมอบโอกาสให้ประชาชน นโยบายเหล่านี้จึงต้องได้รับการสานต่อให้เกิดผลสำเร็จ โดยเฉพาะขณะนี้จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนของรากหญ้าทั้งในแง่การบริโภคภายในประเทศ โครงการเอสเอ็มแอล การจ้างงาน การสร้างสาธารณูปโภคในหมู่บ้าน

ผู้สื่อข่าวถามว่าใครจะเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจในรัฐบาลชุดนี้ นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า การบริหารยุคใหม่จะต้องมีทีมเศรษฐกิจที่มีทั้งซีเอฟโอ ซีอีโอ ซีโอโอ และซีเอ็มโอ ดังนั้นการบริหารประเทศจะใช้คนคนเดียวไม่ทันกิน และยืนยันว่า จะไม่เกิดเกาเหลาเกิดขึ้นในทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล เพราะแต่ละคนต้องรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมายมา เช่น ในสมัยของรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี ก็มีทีมงานด้านเศรษฐกิจหลายคน ไม่ว่าจะเป็นนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และนายสุวิทย์ คุณกิตติ โดยแต่ละคนบริหารงานเศรษฐกิจคนละด้าน

“ที่เขาบอกว่าเกาเหลา เพราะไม่มีงานให้ทำ แต่ตอนนี้มีงานทำกันไม่หวาดไม่ไหว ที่ผ่านมาเกาเหลา คืองานที่ทับซ้อนกัน แต่ตอนนี้โลกยุคใหม่ ทุกคนจะสำคัญที่สุดในฟีล์ดของตัวเอง นายกฯก็จะสบายไป ดูเพียงในภาพรวม” นพ.สุรพงษ์ กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีที่นายสมัครมอบหมายงานด้านคมนาคมให้ กับนายสหัส บัณฑิตกุล อดีตรองผู้ว่ากทม. ซึ่งมีรายชื่อเป็นรองนายกฯ ที่ดูแลการคมนาคม จะทำให้เกิดความทับซ้อนกับการทำหน้าที่ของรมว.คมนาคม หรือไม่ นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ระบบคมนาคมเป็นความถนัดและความชอบของนายสมัคร ซึ่งจะใช้อำนาจผ่านรัฐมนตรี โดยมีรองนายกฯ มีบทบาทเป็นจิ๊กซอว์ ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เมื่อถามว่าวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้หนักกว่าวิกฤติที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า วิกฤติแตกต่างกัน เช่น ในปี 2544 เงินบาทอ่อนค่า การส่งออกรุ่งเรือง ราคาน้ำมันถูก แต่ในปี 2551 ทุกอย่างกลับตรงกันข้าม และปัญหาสำคัญคือปี 2551 ประชาชนไม่มีความเชื่อมั่น อันเนื่องมาจากปัญหาทางการเมืองและความแตกแยกทางความคิด ทำให้แก้ไขปัญหาได้ยากขึ้น

เมื่อถามว่ามีแรงกดดันในการฝ่าวิกฤติหรือไม่ นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า เป็นแรงกดดันที่ทำให้รัฐบาลต้องทำงานหนักขึ้น และต้องไปเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา เรื่องนี้เป็นสถานการณ์ที่รัฐบาลไม่สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเราเอง

ผู้สื่อข่าวถามว่ารัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลผสมจะมีความขัดแย้งในพรรคร่วมเกิดขึ้นหรือไม่ นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า ถ้าหากมีเรื่องอะไรที่ไม่เข้าใจกัน ก็ต้องขอโทษกัน ตรงไหนมีความผิดพลาดก็พร้อมที่จะขอโทษ ส่วนคนที่ทำงานด้วยกันก็ต้องพร้อมที่จะให้อภัย พรรคพลังประชาชนจะไปทำอะไรพรรคเดียวโดยไม่อาศัยพรรคร่วมรัฐบาล คงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

เมื่อถามว่านายกฯ ออกมายอมรับว่า ครม.ชุดนี้เป็น ครม.ขี้เหร่ เป็นเพราะไม่สามารถเชิญคนนอกมาเป็นรัฐมนตรีใช่หรือไม่ นพ.สุรพงษ์กล่าวว่าต้องยอมรับว่าเป็นปัญหา เพราะมีข้อจำกัดเรื่องระเบียบต่างๆ ที่ทำให้คนที่ต้องการทำงาน ไม่อยากทุ่มเท ภายใต้ข้อจำกัด โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนตัว ที่คนนอกบางคนต้องการทำงาน แต่ไม่อยากประกาศทรัพย์สินให้สาธารณชนรับรู้เพราะเป็นเรื่องส่วนตัว ซึ่งจากการที่ตนทาบทามบุคคลภายนอกให้มาดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี มีหลายคนบอกว่ายินดีที่จะช่วย แต่ขอเป็นเพียงที่ปรึกษาเท่านั้น

นพ.สุรพงษ์ กล่าวถึง กรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ตั้ง”ครม.เงา”ว่า หากติดตามสถานการณ์การเมืองมาตลอด จะทราบว่าในสมัยรัฐบาลทักษิณก็เคยมีการจัดครม.เงาขึ้น และตนก็เคยเป็นรมว.เงาของกระทรวงสาธารณสุข อย่างไรก็ตามหากดูเจตนาของพรรคประชาธิปัตย์คงจะเป็นการนำเสนอให้สังคมได้เห็นหน้าตาของรัฐมนตรีในกระทรวงต่างๆ หากพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาลในอนาคต

เมื่อถามว่ารัฐบาลจะผลักดันนโยบายต่างๆ ให้เห็นเป็นรูปธรรมภายในกี่เดือน นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า โดยปกติ ประชาชนจะเฝ้ารอดูการทำงานของรัฐบาลช่วงหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ตั้งแต่วันแรก ส่วนจะใช้เวลาในการผลักดันให้ประสบความสำเร็จนานหรือไม่นั้น คิดว่าใช้ระยะเวลาประมาณ 3-6 เดือน เพราะมีหลายสิ่งที่จะกระตุ้นให้รัฐบาลทำงานโดยเร่งด่วน

เมื่อถามว่ารัฐบาลชุดนี้จะนำบทเรียนที่ผ่านมามาปรับปรุงด้านไหนบ้าง นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า รัฐบาลใหม่จะพยายามสร้างการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ในอดีตไม่มีโอกาสให้ทุกฝ่ายแสดงความเห็นทำให้การรับรู้ร่วมกันไม่มากเพียงพอ โดยรัฐบาลอาจจะนำการประชุมเชิงปฏิบัติการ(เวริ์ค ช็อป)มาใช้สร้างการมีส่วนร่วมให้มากขึ้น

“เราจะจัดเวทีให้ทุกฝ่ายมีบทบาทในการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย ซึ่งจากการที่ผมได้ทำงานกับนายสมัครมา ท่านก็รับฟัง หลายอย่างในวันนี้ก็ต้องถามว่าท่านเปลี่ยนไปใช่หรือไม่ บางครั้งภาพแรกที่เราเห็น แต่พบทำงานร่วมกันไปอาจจะไม่เหมือนกับที่เราคิดก็ได้”นพ.สุรพงษ์กล่าว

นพ.สุรพงษ์ ยังกล่าวถึงการตีความเกี่ยวในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญ เรื่องส.ส.จะสามารถดำรงตำแหน่งทางการเมือง อาทิ เลขานุการรัฐมนตรี ผู้ช่วยรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี ได้หรือไม่ ว่าขณะนี้ยังไม่มีการยื่นตีความใดๆคิดว่าในส่วนรัฐบาล คงไม่ดำเนินการใดๆ ควรเป็นเรื่องของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงก็คือ ส.ส.อาจเข้ารายชื่อ เพื่อส่งเรื่องไปให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติต่อไป ดังนั้น คงไม่จำเป็นต้องส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกา เพราะเป็นเพียงที่ปรึกษาข้อกฎหมายของรัฐบาลเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น