xs
xsm
sm
md
lg

กกต.มึนตึ้บลูกเล่น “ทั่นยุทธ” เพิ่มพยานยื้อคดีซื้อเสียง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กกต.มึนลูกเล่น “ทั่นยุทธตู้เย็น” เพิ่มพยานเข้ามาเรื่อยๆ ยื้อคดีทุจริตการเลือกตั้ง “ประพันธ์” จี้ กรรมการสอบสวนเร่งให้เสร็จภายในกลางเดือนนี้ ขณะเดียวกัน คลอดระเบียบการหาเสียง ส.ว.ชุดใหม่แล้ว

วันนี้ (4 ก.พ.) นายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารการเลือกตั้ง กล่าวถึงความคืบหน้าการสอบสวนคำร้องคัดค้านผลการเลือกตั้งของ นายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่า เท่าที่ทราบคณะกรรมการสอบสวน ที่มี นายสุวิทย์ ธีรพงษ์ ยังสอบสวนพยานไม่เสร็จ เบื้องต้นสอบปากคำพยานฝ่ายผู้ร้องเสร็จสิ้นแล้ว อย่างไรก็ตาม การที่นายยงยุทธ อ้างขอเพิ่มเติมพยานเข้ามาอีกเรื่อยๆ จนขณะนี้มีพยานฝ่าย นายยงยุทธ ที่ต้องสอบสวนอีกจำนวน 10 ปาก ซึ่งคณะกรรมการสืบสวนกำลังสอบสวนเพิ่มเติมอยู่

อย่างไรก็ตาม เรื่องการอ้างพยานถือเป็นสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา เพราะ นายยงยุทธ คงคิดว่ายังมีพยานหลักฐานอยู่ จึงอยากให้สอบสวนอย่างครบถ้วน แต่การอ้างพยานเพิ่มเติมอยู่เรื่อยๆ จะทำให้การพิจารณาสำนวนล่าช้า หรือไม่เป็นดุลพินิจของคณะกรรมการสืบสวนสอบที่จะพิจารณา ว่า พยานที่ นายยงยุทธ อ้างเพิ่มเติมมีความฟุ่มเฟือยหรือไม่ และสามารถจะตัดพยานออกได้หรือไม่ สวนเรื่องที่ นายยงยุทธ ขอให้ส่งซีดีหลักฐานการทุจริตให้กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้น อยู่ที่คณะกรรมการสอบสวนจะพิจารณาว่าสมควรส่งไปหรือไม่ ตอนนี้ยังไม่ได้รับรายงานจากอนุสอบสวนแต่อย่างใด

“คิดว่าหากไม่มีอะไรเพิ่มเติมเข้ามาอีก สำนวนน่าจะเสร็จภายในกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ ซึ่ง กกต.ได้กำชับให้คณะกรรมการสืบสวนสอบทำงานอย่างรวดเร็วแล้ว ส่วนสำนวนร้องคัดค้านอื่นๆ ที่ยังค้างอยู่ประมาณ 21 เรื่องนั้น คาดว่า จะทยอยส่งกลับมา กกต.เป็นลำดับ โดยบางเรื่อง กกต.มีความเห็นให้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม หรือบางเรื่องกกต.มีความเห็นให้ไปสอบพยานเพิ่ม

ด้าน นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต.กล่าวว่า กกต.ได้ออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการหาเสียง ข้อควรปฏิบัติ และข้อห้ามมิให้ปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาและการดำเนินการใดๆ ของผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พ.ศ.2551 โดยยึดหลักการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ว.สามารถหาเสียงได้ก็แต่เฉพาะที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ของวุฒิสภา เช่น อำนาจในด้านนิติบัญญัติ อำนาจในการควบคุมการตรากฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ การควบคุม การบริหารราชการแผ่นดิน การให้ความเห็นชอบในเรื่องสำคัญๆที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของแผ่นดิน การพิจารณาเลือกตั้ง แต่งตั้งให้คำแนะนำ ให้ความเห็นชอบบุคคลในองค์กรต่างๆ อำนาจในการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

สำหรับวิธีการในการหาเสียงนั้น สามารถแจกเอกสาร หรือเทป หรือวัสดุโทรทัศน์ที่เกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งสามารถมีชื่อ รูปถ่าย หมายเลขประจำตัวผู้สมัคร ข้อมูลประวัติเฉพาะที่เกี่ยวกับตัวผู้สมัครและข้อความหาเสียงที่เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ ส.ว.ในเขตชุมชน รวมทั้งใช้ยานพาหนะ เครื่องขยายเสียง และจัดทำประกาศหรือโปสเตอร์ที่จะปิดได้ต้องมีขนาดกว้างไม่เกิน 30 เซนติเมตร และมีขนาดยาวไม่เกิน 42 เซนติเมตร (ขนาดกระดาษประมาณ A3)

ส่วนป้าย หรือคัตเอาต์ ต้องมีขนาดกว้างไม่เกิน 130 เซนติเมตร และมีขนาดยาวไม่เกิน 245 เซนติเมตร สามารถติดในสถานที่เอกชนได้ โดยห้ามแจกจ่ายเอกสารด้วยวิธีการวาง หรือโปรยในที่สาธารณะ

นอกจากนี้ ยังสามารถโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งทางวิทยุ โทรทัศน์ เว็บไซต์ จดหมาย สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งสามารถจัดทำเอกสารที่มีการกากบาทในช่องลงคะแนนเลือกตั้งให้กับตนเอง เพื่อใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งให้กับตนเองได้ แต่ต้องไม่มีขนาด ลักษณะ หรือสีที่คล้ายกับบัตรเลือกตั้ง และต้องไม่ปรากฏหมายเลขประจำตัวของผู้สมัครอื่นด้วย

เลขาธิการ กกต.กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้สมัครควรหาเสียงโดยปฏิบัติดังต่อไปนี้ คือ จัดฝึกอบรมให้กับบุคคลผู้ช่วยในการหาเสียงเลือกตั้ง โดยให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายเลือกตั้ง หลีกเลี่ยงการใช้วิชาชีพหรือการประกอบอาชีพเกี่ยวกับรายการวิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง สื่อสารมวลชน สื่อโฆษณา เช่น นักแสดง นักร้อง นักดนตรี พิธีกร สื่อมวลชน และต้องหาเสียงโดยใช้ถ้อยคำที่สุภาพ

/0110
กำลังโหลดความคิดเห็น