ประชาธิปัตย์ปัดวิจารณ์นายกฯ หมัก ระบุต้องให้เวลาทำงานไปก่อน แต่น่าจะรู้ว่ามีประสบการณ์ทำงานมามากคงรู้ว่าชาวบ้านต้องการแบบไหน ขณะที่ “สุเทพ” ยันทำหน้าที่ฝ่ายค้านเข้มแข็ง ฟิตจัดเสนอตั้งกรรมาธิการศึกษาคุ้มครองสิทธิสื่อ
วันนี้ (30 ม.ค.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่พรรคพลังประชาชนจะนำรายชื่อว่าคณะรัฐมนตรีเข้าสู่การหารือในที่ประชุมพรรคว่า ตนไม่ทราบว่าวิธีของพรรคพลังประชาชนดำเนินการเป็นอย่างไร แต่คิดว่าเป็นอำนาจหรือสิทธิของผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรีที่จะดำเนินการด้วยตัวเองหรือปรึกษาผู้อื่นก็ได้
เมื่อถามถึงการจัดวางตัวคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดใหม่ นายสุเทพ กล่าวว่า อย่าเพิ่งไปรีบวิจารณ์ ควรรอให้ออกมาชัดเจนก่อน เมื่อถามต่อว่านายกฯ และ ครม.ชุดใหม่จะเป็นความหวังให้กับประชาชนได้หรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า เราได้วิพากษ์วิจารณ์นายสมัครมามากแล้ว วันนี้เมื่อเขาชนะเลือกตั้งและได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ แล้วก็ให้เขาทำงานของเขาไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า อยากฝากอะไรถึง ครม.ชุดใหม่หรือไม่ เลขาธิการพรรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นายสมัครบอกว่าเป็นนักการเมืองอาชีพและมีประสบการณ์มามาก ก็ต้องรู้ว่าประชาชนต้องการอะไร นอกจากนี้ คนเป็นนายกฯ ต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี เพราะประชาชนติดตามอยู่ ทั้งนี้ ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาการทำงานรัฐบาลชุดใหม่ ต่างคนต่างก็ทำหน้าที่ ครม.ก็ทำหน้าที่บริหารราชการบ้านเมือง ส่วนพวกตนก็ทำหน้าที่แทนประชาชนในการติดตามและให้คำเสนอแนะแก่รัฐบาล โดยเราจะทำหน้าที่ของเราให้เข้มแข็งที่สุดเพื่อให้ประชาชนพึ่งได้
ด้าน นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พร้อมด้วย นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกันแถลงข่าวเพื่อเสนอญัตติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน และการส่งเสริมจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ
โดย นายอภิชาต กล่าวว่า ในปัจจุบันผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนยังคงไม่มีหลักประกันในการทำหน้าที่อย่างอิสระอย่างแท้จริง เนื่องจากยังคงถูกครอบงำ แทรกแซง และบีบบังคับด้วยวิธีการต่างๆ อยู่เสมอ ทั้งจากอำนาจรัฐและอำนาจทุน ทำให้สื่อมวลชนเหล่านั้นไม่อาจทำหน้าที่ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ตามหลักจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพได้
“ท่าทีที่ค่อนข้างหมางเมินของผู้นำรัฐบาลใหม่ที่มีต่อสื่อมวลชน ทำให้รู้สึกห่วงใยว่าจะเกิดปัญหาเรื่องการคุกคามและการแทรกแซง ซึ่งอาจจะเลวร้ายลงอีกได้ในอนาคต ทั้งนี้ มีปรากฏการณ์ให้เห็นตัวอย่างว่ามีการใช้วาจาที่ไม่เหมาะสมตอบโต้กับผู้สื่อข่าว แสดงอารมณ์ไม่พอใจเมื่อสื่อตั้งคำถามที่ไม่ถูกใจ รวมทั้งอาจมีการใช้สื่อของรัฐในการเผยแพร่ข่าวสารของรัฐบาล ซึ่งเป็นการจัดรายการข้างเดียว และอาจก่อให้เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรมในการใช้สื่อในอนาคตต่อไปได้”
ด้าน นายบุญยอด กล่าวว่า ในขณะนี้มีสื่อมวลชนบางส่วนถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานว่าขาดความรับผิดชอบ ขาดความเป็นกลาง รวมถึงมีการเข้าไปแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบในรูปแบบต่างๆ จนมีการฟ้องร้องดำเนินคดีเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้ภาพลักษณ์ของสื่อต้องเสื่อมเสียและขาดความน่าเชื่อถือ รวมถึงทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรมในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่มีคณะกรรมาธิการฯของสภาผู้แทนชุดใดที่ทำหน้าที่ดูแลปัญหาดังกล่าว
ทั้งนี้ มี ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ อีก 3 คนที่ร่วมเสนอญัตติในครั้งนี้ ประกอบด้วย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ และนายอลงกรณ์ พลบุตร
/0110