xs
xsm
sm
md
lg

เปิดนโยบายรัฐบาล “หมัก 1”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เปิดโผนโยบายรัฐบาล “หมัก 1” เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและเอกชน พร้อมยืนยันจะทำงานใกล้ชิดกับภาคเอกชน เพื่อรับฟังปัญหาและผลักดันการทำงานร่วมกัน อีกทั้งจะสร้างเสถียรภาพความปรองดอง และความมั่นคงของประเทศ และทางในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบยั่งยืน ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

รายงานข่าวจากแกนนำพรรคพลังประชาชน เปิดเผยว่า นโยบายรัฐบาลผสม 6 พรรค โดยใช้นโยบายพรรคพลังประชาชนเป็นหลักนั้น เบื้องต้นคณะทำงานด้านนโยบายฯให้รายละเอียดเบื้องต้นของร่างนโยบายรัฐบาลสมัคร 1 ดังนี้

นโยบายรัฐบาลในภาพรวม

รัฐบาลมีแนวนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินโดยยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมในระบบรัฐสภา อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยครอบคลุม ถึงแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามบทบัญญัติในหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

โดยเจตนารมณ์ยุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งมั่น จะสร้างเสถียรภาพ สร้างความปรองดองและความมั่นคงของประเทศ และทางในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบยั่งยืน ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้ประเทศเพิ่มความเข้มแข็งในทุกภาคส่วน รวมถึงการพัฒนาภาคสังคม และการเมืองของประเทศ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยทุกคน

โดยกำหนดเป้าหมายและทิศทางของการพัฒนาให้สอดคล้อง เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการพัฒนาและการบริหารประเทศ รัฐบาล ดังนี้

1.สร้างความปรองดองสมานฉันท์ ให้เป็นวาระแห่งชาติ

2.กระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มทุนหมุนเวียน เตรียมความพร้อม รองรับการลงทุน โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจเพื่อประชาชน โดยใช้มาตรการเพิ่มรายได้ลดรายจ่ายขยายโอกาสให้แก่ประชาชน โดย
- การเร่งรัดการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีผลต่อรายได้ของประชาชน
- ส่งเสริมการจัดตั้งฟาร์มโคที่มีคุณภาพ พร้อมสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตโคคุณภาพ โคล้านตัว วัวแสนฟาร์ม
- ยกเลิกมาตรการกันเงินทุนสำรอง 30% ของธนาคารแห่งประเทศไทย สร้างความมั่นใจและส่งเสริมให้มีการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อเร่งกระตุ้นภาวการณ์ลงทุนในระบบเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง
- พักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรรายย่อยเป็นเวลา 3 ปี เพื่อเปิดโอกาสให้สร้างรายได้ใหม่
- จัดสรรงบ เอส เอ็ม แอล หมู่บ้านขนาดเล็ก 3 แสนบาท หมู่บ้านขนาดกลาง 5 แสน บาท และหมู่บ้านขนาดใหญ่ 7 แสนบาท
- ประกาศปีท่องเที่ยวไทย ประทับใจไทยแลนด์ ประกาศให้ปี 2551-2552 เป็นปีการท่องเที่ยวไทย เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และประกาศความพร้อมของประเทศไทยในการต้อนรับนักท่องเที่ยว จากทั่วทุกมุมโลก เพื่อนำรายได้จากการท่องเที่ยวมากระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มนักท่องเที่ยวจาก 14 ล้านคน เป็น 20 ล้านคน
- บริหารการคลังอย่างมีเสถียรภาพ เรื่องการรักษาวินัยการคลัง การจัดทำแผนบริหารทรัพย์สินและหนี้สาธารณะ
- เร่งพัฒนาและฟื้นฟูระบบสถาบันการเงินให้สามารถทำหน้าที่เกื้อกูลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจได้ตามปกติ
- ส่งเสริมการพัฒนาและต่อยอดภายใต้แนวทาง “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ระยะที่ 2” ภายใต้การส่งเสริมให้เกิดกลไกทางการตลาดของสินค้า
- ส่งเสริมให้มีการลงทุนจากต่างประเทศ สร้างความมั่นใจแก่ผู้ลงทุน
- ปรับปรุงระบบภาษีให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ
- สนับสนุนการใช้หลักคุณธรรม จริยธรรม และหลักธรรมาภิบาล
- รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท

3.เร่งผลักดันให้เริ่มดำเนินการลงทุนภาครัฐในโครงการขนาดใหญ่ กระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มทุนหมุนเวียน เตรียมความพร้อม วางโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจเพื่อประชาชน โดยการอัดฉีดเงินลงทุนหมุนเวียนกระตุ้นเศรษฐกิจ ในโครงการขนาดใหญ่ เพื่อสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และเตรียมพร้อมรองรับการขยายตัวของการค้าการลงทุน
- วางโครงข่ายคมนาคม และระบบขนส่งสินค้าครบวงจร (โลจิสติกส์) เพื่อลดต้นทุนการขนส่งสินค้าและการเดินทางที่รวดเร็ว ปลอดภัย
- การส่งเสริมให้เกิดโครงข่ายคมนาคมทางรถไฟ รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง และขยายรางให้ได้มาตรฐานเชื่อมประเทศเพื่อนบ้าน
- พัฒนากองเรือพาณิชย์นาวี เพื่อเพิ่มศักยภาพ อำนวยความสะดวก รวดเร็วและลดต้นทุนค่าขนส่งขนส่งสินค้าทางทะเล ของไทย
- การส่งเสริมการสร้างถนนเพื่อการขนส่งสินค้าทางการเกษตร เชื่อมโยงระหว่างหมู่บ้าน และตำบล เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรในการขนส่งผลผลิตทางการเกษตรมายังตลาดหรือแหล่งรับซื้อ
- ปรับสร้างระบบโครงข่ายรถไฟฟ้าเพื่อแก้ไขปัญหาจราจร

4.นโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย พัฒนา ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากพลังงานทดแทนจากธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพให้เกิดความสมดุลกับสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติในประเทศ อันก่อให้เกิดคุณประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และเป็นระบบ โดย
- การสนับสนุนให้เกิดการใช้พลังงานแบบผสมผสาน ปรับสัดส่วนการใช้พลังงานในการขนส่ง จากน้ำมัน เป็นก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นทรัพยากรภายในประเทศอันเป็นแหล่งพลังงานหลักของประเทศอย่างจริงจัง เพื่อลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และมลภาวะอากาศ อันเป็นการส่งเสริมให้เกิดสุขภาพที่ดีของประชาชน และเป็นการลดค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยมุ่งส่งเสริมการขยายสถานีบริการแก๊สให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวแก่ประชาชน
- การส่งเสริมการใช้พลังงานแสงแดด (โซลาร์เซลล์ ) พลังงานลม ทดแทนการใช้พลังงานจากน้ำมันเชื้อเพลิง
- การส่งเสริมการปลูกอ้อย และมันสำปะหลัง ทั้งเพื่อเป็นอาหาร และเพื่อเป็นการผลิตเอทานอล ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการขยายการตั้งโรงงานผลิตเอธานอล ให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ รวมทั้งยังส่งเสริมการปลูกพืชชนิดอื่นเพื่อผลิตพลังงานไบโอดีเซล เช่น ปาล์มน้ำมัน สบู่ดำ ข้าวฟ่างหวาน ข้าวโพด ไม้โตเร็ว รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานจากชีวมวลอื่น เช่น แกลบ เป็นต้น
- ส่งเสริมการจัดหาและการใช้พลังงานทดแทนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเร่งสำรวจพัฒนา และจัดหาแหล่งพลังงานทดแทน รวมทั้งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแนวใหม่เพื่อการประหยัดพลังงาน

5.การศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สร้างยุทธศาสตร์การแสวงหาองค์ความรู้เพื่อสร้างโอกาสให้ชีวิต โดยการปฏิรูประบบการศึกษา หลักสูตรการศึกษา เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ โดย
- ปฏิรูปการเรียนรู้ โดยยึดหลักผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง หลักการเรียนรู้ด้วยตนเองและหลักการเรียนรู้ตลอดชีวิต เน้นพลังความคิดสร้างสรรค์ การสร้างนิสัยรักการอ่าน การจัดให้มีห้องสมุด ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน และสื่อการเรียนรู้ประเภทต่างๆ อย่างทั่วถึง
- ให้โอกาสการเรียนรู้แก่นักเรียน เรียนฟรี อย่างมีคุณภาพ มีงานทำระหว่างเรียน ให้นักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานได้เรียนฟรี
- โครงการเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา เรียนก่อนผ่อนทีหลัง ให้นักเรียนนักศึกษา มีเงินยืมเรียน ในระดับการศึกษาที่สูงกว่าขั้นพื้นฐาน สานต่อโครงการเงินกู้ยืมเรียนที่ผูกพันกับรายได้ในอนาคต เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาทางสังคมที่อาจเกิดขึ้นกับเยาวชน จากการหารายได้ในทางที่ไม่ถูกต้อง และเป็นการเปิดโอกาสทางการศึกษาและสร้างอนาคตที่ดีให้แก่เยาวชน
- พัฒนาครูของชาติ สรรหาบุคคลากรที่มีศักยภาพ (ครูช้างเผือก) เพื่อรองรับยุทธศาสตร์การศึกษาของชาติ ตลอดจนนวัตกรรมการศึกษาจากในและนอกระบบการศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชน
- ส่งเสริมวิชาชีพครูให้มีศักดิ์ศรี เป็นที่ยอมรับนับถือ และไว้วางใจจากสาธารณชนรวมทั้งพัฒนาและผลิตครูที่มีคุณภาพและคุณธรรม
- ปรับโครงสร้างหนี้สินครู และบุคคลากรทางการศึกษา ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปรับโครงสร้างหนี้สินครู และบุคคลากรทางการศึกษาอย่างจริงจัง
- สนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งความรู้ ข่าวสารข้อมูล และสร้างรายได้ เพื่อแสวงหาความรู้ในการพัฒนาตนเอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียน และการทำงาน เพื่อให้ประเทศมีขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น
- โครงการสื่อการศึกษา “ครูเสมือนจริง” ในพื้นที่ที่ขาดแคลนครู โดย พัฒนาสื่อการศึกษาทั้งระบบ เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาให้สูงขึ้นโดยการสร้างสื่อการศึกษาเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ยากให้ผู้เรียนเข้าใจง่าย กระจายผ่านสื่อที่มีประสิทธิภาพ
- ขยายอุทยานการเรียนรู้ในรูปแบบ “ห้องสมุดมีชีวิต - TK Park” ให้ทั่วถึง เพื่อเพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัยให้ทั่วถึงทุกภูมิภาค
- การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ “อัจฉริยะสร้างได้” เปิดโอกาสให้ประชาชนค้นหาความถนัดของตนเอง และพัฒนาศักยภาพในทักษะด้านนั้น
- วิทยาลัยชุมชน เพื่อพัฒนาศักยภาพจังหวัด พัฒนาวิทยาลัยชุมชนให้เป็นองค์กรถ่ายทอดองค์ความรู้ตามศักยภาพจังหวัดแก่ OTOP และ SMEs ในระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
- จัดให้มีโครงการมหาวิทยาลัยวิจัย ขยายขีดความสามารถของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ให้เป็นสถาบันหลัก ในการศึกษาวิเคราะห์ศักยภาพ ของทรัพยากรพื้นที่ของแต่ละจังหวัด
- โรงเรียนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนา เพิ่มโรงเรียน เพื่อส่งเสริมการเรียนการสอน การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนา ทั่วทุกภูมิภาค

6.รัฐบาลมีแนวทางบริหารเพื่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศเป็นหลัก มีนโยบายที่จะพัฒนาการเมืองของประเทศไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถปกครองตนเอง และพิทักษ์สิทธิของตนได้ รวมทั้งจะมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างความโปร่งใส และขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่นในการบริหารราชการแผ่นดิน และการให้บริการประชาชน ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม และเอื้อต่อการพัฒนาประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต มีเป้าหมายและทิศทางที่ชัดเจน โดยจะยึดปฏิบัติตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

7.ด้านการบริหารราชการ โดยจัดระบบงบประมาณของแต่ละกระทรวง ทบวง กรม ให้สอดคล้องและต่อเนื่องไปในทิศทางเดียวกับการพัฒนาของประเทศ และมีการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของการใช้งบประมาณของแต่ละกระทรวง ทบวง กรม จังหวัดและท้องถิ่น รวมถึงการปรับปรุงระเบียบและกฎหมายด้านงบประมาณให้มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวและแก้ไขปัญหาคอรัปชั่น ให้มีระบบควบคุมตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใส
กำลังโหลดความคิดเห็น