อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ยังคงไม่ลาออกจากตำแหน่งตามที่ผู้ชุมนุมนับหมื่นกดดันกลางจตุรัสเมอร์เดกาเมื่อวันเสาร์ (26 ก.ค.) พร้อมเรียกร้องให้ใช้เวทีรัฐสภาแก้ปัญหา ขณะที่อดีตนายกฯ มหาเธร์ วัย 100 ปี ชี้ชาวมาเลเซียเบื่อหน่าย 2 ปีที่ผ่านมาประชาชนทุกข์ทรมาน
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (26 ก.ค.) ผู้ชุมนุมนับหมื่นคนรวมตัวกันที่จตุรัสเมอร์เดกา หรือดาตารัน เมอร์เดกา (Dataran Merdeka) กรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยใช้ชื่อแคมเปญว่า ตูรุน อันวาร์ (Turun Anwar) เรียกร้องให้นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ลาออกจากตำแหน่ง ด้วยข้อกล่าวหาบริหารประเทศล้มเหลว ทั้งการปฏิรูปการเมือง การปิดกั้นเสรีภาพ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ล่าสุดขยายกรอบภาษีการขายและบริการ (SST) ทำให้ประชาชนต้องซื้อสินค้าและบริการที่แพงขึ้น ถือเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่อีกครั้งในประเทศ นับตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มเบอร์ซิห์ (Bersih) หรือม็อบเสื้อเหลืองมาเลเซีย เพื่อเรียกร้องความโปร่งใสทางการเมือง เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2559 และการชุมนุมต่อต้านการเข้าร่วมสัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติทุกรูปแบบระหว่างประเทศ (ICERD) เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2561 อีกทั้งเป็นการชุมนุมขับไล่นายอันวาร์ครั้งแรก นับตั้งแต่นายอันวาร์เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2565
การชุมนุมครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน นำโดยพรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย หรือพรรคพาส (PAS) ซึ่งเป็นพรรคเก่าแก่ที่สุดในมาเลเซีย และมีเครือข่ายโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามทั่วประเทศ โดยผู้ชุมนุมสวมเสื้อสีดำเป็นสัญลักษณ์ แม้ว่ากลุ่มผู้จัดการชุมนุมจะไม่สามารถตั้งเวทีได้ เนื่องจากหน่วยงานปกครองจากศาลาว่าการกรุงกัวลาลัมเปอร์ (DKBL) เข้าตรวจยึดเวทีปราศรัยออกไป แต่ก็ยังมีการรวมตัวกัน 5 แห่ง ได้แก่ มัสยิดเนการา ตลาดปาร์ซาเซนี มัสยิดจาเมกสุลต่านอับดุลซามาด มัสยิดจาเมกกัมปุงบารู และห้างสรรพสินค้าโซโก ก่อนเดินขบวนไปยังจตุรัสเมอร์เดกาในเวลา 14.00 น. ท่ามกลางการดูแลจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบัญชาการตำรวจกรุงกัวลาลัมเปอร์ ที่พยายามบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการห้ามผู้ปกครองนำเด็กและเยาวชนเข้าร่วมชุมนุม ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมของมาเลเซียก็ตาม
ด้านนายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้กล่าวเสียดสีกลุ่มผู้ชุมนุมระหว่างให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวที่เมืองปุตราจายา ว่า "ผมไม่ได้รับเชิญ"
ขณะที่ โมฮาเหม็ด อูซุฟ ยัน โมฮาหมัด รักษาการผู้บัญชาการตำรวจกรุงกัวลาลัมเปอร์ กล่าวว่า ผู้จัดการชุมนุมไม่ได้ขออนุญาตใดๆ เพื่อจัดตั้งเวทีชั่วคราว โดยอ้างว่ามีความกังวลเรื่องความปลอดภัยของโครงสร้างเวที เพราะผู้จัดการชุมนุมไม่ได้ระบุว่าจะมีแกนนำและผู้ปราศรัยกี่คนอยู่บนเวทีในแต่ละครั้ง และอ้างว่าข้อตกลงก่อนหน้านี้ระหว่างตำรวจและผู้จัดการชุมนุม คือจะใช้รถกระบะโตโยต้า ไฮลักซ์ สองคันเป็นเวทีเท่านั้น
การปราศรัยเริ่มต้นขึ้นในช่วงบ่ายท่ามกลางสายฝน โดยมีนายอิชาม จาลิล อดีตแกนนำพรรคอัมโน (UMNO) และนายไซด์ อิบราฮิม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกฎหมายของมาเลเซีย เริ่มต้นปราศรัย ขณะที่นายอาหมัด ฟาดลี ชาอารี หัวหน้าฝ่ายข้อมูลของพรรคพาส อ้างว่ามีผู้คนมากกว่า 500,000 คนมารวมตัวกันเพื่อร่วมชุมนุมขับไล่นายอันวาร์ โดยเรียกร้องให้ผู้ที่มาร่วมชุมนุมอย่าเชื่อการประมาณการที่สื่อกระแสหลักรายงาน และจะไม่ขยับไปไหนแม้ว่าฝนจะตกก็ตาม นาย พี. ปูนิธาน ประธานพรรคประชาชนอินเดียแห่งมาเลเซีย กล่าวปราศรัย และนายหว่อง เจีย เจิน เลขาธิการพรรคเกอรากัน ที่มีรากฐานมาจากชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน ขึ้นไปบนเวทีและนำฝูงชนตะโกนเป็นภาษาจีนกลาง ทั้งสองยืนยันว่าการชุมนุมครั้งนี้ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่กลุ่มเชื้อชาติหรือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่ทำเพื่อชาวมาเลเซียโดยส่วนรวม
ขณะที่นายอัซมิน อาลี เลขาธิการพรรคเบอร์ซาตู ออกมาโจมตีนายอันวาร์ว่า ล้มเหลวในการดำเนินงานของพรรคการเมือง ธุรกิจขนาดเล็ก และคนขับแท็กซี่ ซึ่งการชุมนุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อชาวมาเลเซีย ไม่ใช่เพราะความแค้นใดๆ ส่วนนายโดมินิก เลา ประธานพรรคเกอรากัน อ้างว่าการชุมนุมครั้งนี้กดดันให้รัฐบาลแจกเงิน 100 ริงกิต และลดราคาน้ำมัน RON95 เหลือ 1.99 ริงกิตต่อลิตรในปีนี้ มาตรการเหล่านี้จะไม่ได้รับการประกาศออกมา หากไม่มีประชาชนสนับสนุนการชุมนุม ส่วนนายฮัมซาห์ ไซนูดิน ผู้นำฝ่ายค้าน และรองประธานพรรคเบอร์ซาตู เรียกร้องให้นายอันวาร์ลาออก เพราะประชาชนกำลังทุกข์ทรมาน และเบื่อหน่ายกับการถูกนำโดยรัฐบาลเอกภาพ สิ่งที่ประชาชนต้องการไม่ใช่เงินช่วยเหลือ 100 ริงกิต แต่ต้องการให้นายอันวาร์ลาออก
นายมูฮิดดิน ยาสซิน อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และประธานกลุ่มพันธมิตรทางการเมือง เปริกาตัน นาซิโอนัล (PN) กล่าวหารัฐบาลผสมว่าไม่ใส่ใจประชาชนมากพอ โดยอ้างถึงการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าจำเป็นพื้นฐานต่างๆ สิ่งที่ชาวมาเลเซียต้องการคือให้ราคาสินค้าเหล่านี้ลดลง พร้อมกับที่นายอันวาร์ลาออก และยังตั้งคำถามว่าเหตุใดรัฐบาลจึงมอบเงินช่วยเหลือ 100 ริงกิตให้กับผู้ใหญ่ชาวมาเลเซียทุกคน ทั้งที่ควรจัดสรรเงินช่วยเหลือไปที่กลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อย (กลุ่ม Bottom 40% หรือ B40) เพื่อให้สามารถแจกจ่ายเงินให้กับพวกเขาได้มากขึ้น
ไฮไลต์การปราศรัยอยู่ที่ นายมหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย วัย 100 ปี กล่าวล้อเลียนนายอันวาร์อีกครั้งที่ปฏิเสธจะดำเนินคดีใดๆ กับเขา เนื่องจากบทบาทของเขาในประเด็นบาตูปูเตห์ (Batu Puteh) เพียงเพราะอายุของเขา แม้นายอันวาร์ตัดสินใจแล้วว่าจะกล่าวหาเขาเป็นผู้กระทำความผิด แต่ย้ำว่านายกรัฐมนตรีจะไม่เป็นผู้ตัดสินใจเช่นนั้น ถ้านายอันวาร์ตั้งใจจะสืบหาความจริงอย่างแท้จริง ก็ควรลากตนขึ้นสู่ศาล แต่กลับใช้เรื่องอายุของตนเป็นข้ออ้าง ขณะเดียวกัน ชาวมาเลเซียเบื่อหน่ายกับการที่มีนายอันวาร์เป็นนายกรัฐมนตรี สองปีที่ผ่านมาประชาชนได้อะไร นายอันวาร์มีความสุข แต่ประชาชนทุกข์ทรมาน นอกจากนี้ยังกล่าวเสียดสีนายอันวาร์บ่อยครั้ง ท่ามกลางผู้ชุมนุมส่งเสียงหัวเราะออกมาจากลีลาการปราศรัยของเขา
จากนั้นเวลาประมาณ 17.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น กลุ่มผู้ชุมนุมได้ทำพิธีละหมาดและร้องเพลงชาติมาเลเซีย ก่อนยุติการชุมนุมแยกย้ายกลับบ้าน
เวลาประมาณ 20.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น นายอันวาร์โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Anwar Ibrahim ขอบคุณเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ทั้งตำรวจ เจ้าหน้าที่ดับเพลิง ทีมแพทย์ และอาสาสมัครดูแลความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเพื่อให้การชุมนุมเป็นไปอย่างราบรื่น พร้อมอวยพรให้ผู้ชุมนุมจากพื้นที่ห่างไกลเดินทางปลอดภัย ในฐานะนายกรัฐมนตรี ยังคงยึดมั่นหลักการประชาธิปไตย เสรีภาพในการพูดและวิพากษ์วิจารณ์ แต่ไม่ควรมองด้วยความเป็นปรปักษ์ ควรปลูกฝังและสร้างการเติบโตให้เป็นพลังขับเคลื่อนประเทศอย่างก้าวหน้าและมีอำนาจอธิปไตย ที่สำคัญ ประเทศชาติต้องเดินหน้าอย่างมีระเบียบ สันติ และรักชาติ ซึ่งตนได้ส่งเสริมหลักการเดียวกันช่วงถาม-ตอบนายกรัฐมนตรี (PMQT) ในรัฐสภา สมาชิกรัฐสภามีอิสระที่จะซักถามข้อสงสัยและคัดค้านได้โดยตรง เรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภามีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในทุกการประชุม
พร้อมกันนี้ยังเรียกร้องชาวมาเลเซียทุกคนร่วมพูดคุยและอภิปราย แสวงหาจุดร่วม ออกแบบและร่วมกันสร้างประเทศ ไม่ใช่แค่บนท้องถนน แต่ร่วมกันศึกษา พัฒนา และสร้างความเชี่ยวชาญในสาขาใหม่ๆ เพื่อให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและมีพลัง หากผู้ชุมนุมมีโอกาสอีกครั้งในอนาคต อย่าลืมกลับมาที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์รอบเมืองหลวง รวมถึงอาคารสุลต่านอับดุลซามัด ณ ดาตารัน เมอร์เดกา กำลังอยู่ระหว่างแผนการอนุรักษ์ขนาดใหญ่ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและสนับสนุนเศรษฐกิจรอบเมืองหลวง ซึ่งเต็มไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ความหวัง และจิตวิญญาณของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควบคู่ไปกับปีการท่องเที่ยวมาเลเซีย ปี 2569 (Visit Malaysia 2026) และกิจกรรมที่น่าสนใจมากมายรออยู่