รัฐบาลมาเลเซียประกาศแผนการสอนภาษาไทย เขมร และเวียดนามเป็นวิชาเลือกในโรงเรียนทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ในภูมิภาคอาเซียน อย่างไรก็ตามแผนดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ปกครองและนักวิชาการบางส่วนที่ตั้งคำถามถึงความสำคัญและความเหมาะสม
แผนดังกล่าวให้มีการสอนภาษาไทย ภาษาเขมรและภาษาเวียดนาม ในโรงเรียนต่างๆของมาเลเซีย ก่อให้เกิดคำถามจากพวกผู้ปกครองว่าทำไมรัฐบาลถึงมองข้ามภาษาชนกลุ่มน้อยที่ใช้กันอย่างกว้างขวางมากกว่าอย่างเช่นภาษาจีนกลางและภาษาทมิฬ ตามรายงานข่าวของเซาต์ไชนามอร์นิงโพสต์
มาเลเซีย เป็นชาติที่มีประชากร 34 ล้านคนและมีความหลากหลายของประชากร ในนั้นรวมถึงคนส่วนใหญ่ชาวมาเลย์ และชนกลุ่มน้อยชาวจีนและอินเดียที่มีอยู่จำนวนมาก ในนั้นจำนวนมากของชนกลุ่มน้อยชาวอินเดีย มีรากเหง้าจากภูมิภาคต่างๆที่พูดภาษาทมิฬในอินเดีย
ควมคิดริเริ่มนำเสนอภาษาไทย ภาษาเขมรและภาษาเวียดนาม ในฐานะวิชาเลือก มีขึ้นในขณะที่มาเลเซียดำรงตำแหน่งประธาน 10 ชาติ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ฟัดห์ลินา ไซเด็ก รัฐมนตรีศึกษาธิการแถลงความเคลื่อนไหวนี้เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ โดยชี้ว่าความแข็งแกร่งของประชาคมอาเซียนขึ้นอยู่กับความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภาษาศาสตร์และขนบธรรมเนียมประเพณี "เพื่อใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ เราต้องเตรียมพร้อมเยาวชนของเราให้พูดได้หลายภาษา ปรับตัวได้ง่าย มีความสามารถในการเข้าใจและตระหนักถึงวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน"
อย่างไรก็ตามความทะเยอทะยานด้านภูมิรัฐศาสตร์ของมาเลเซีย ถูกกัดเซาะจากความเป็นจริงในระดับท้องถิ่น ที่ว่าประเด็นเกี่ยวภาษายังคงเป็นจุดที่มีความคิดเห็นแตกแยกกันในหมู่ชุมชนเชื้อสายต่างๆในประเทศ
ในสื่อสังคมออนไลน์ ผู้ปกครองหลายคนตั้งคำามเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวครั้งนี้ โดยชี้ว่าควรให้ความสำคัญกับภาษาจีนกลางและภาษาทมิฬ ที่ใช้พูดกันอย่างกว้างขวางในมาเลเซีย เหนือภาษาอื่นๆในภูมิภาค ที่ไม่ค่อยมีความเกี่ยวข้องกับชาวมาเลเซีย
แม้ภาษามาเลย์ถูกระบุในรัฐธรรมนูญในฐานะภาษาประจำชาติ แต่มาเลเซียเปิดทางมาช้านานสำหรับความหลากหลายทางภาษา ในนั้นรวมถึงอนุญาตให้มีโรงเรียนนานาชาติที่ใช้ภาษาจีนกลางและภาษาแมนดาริน ในฐานะเป็นสื่อกลางในการสอน ทั้งนี้หากไม่คำนึงถึงสื่อกลางในการเรียนการสอนแล้ว ทุกโรงเรียนถูกกำหนดให้สอนภาษามาเลย์และภาษาอังกฤษ เป็นวิชาบังคับ
แม้ผู้คนจำนวนมากขานรับด้วยความยินดีกับความคิดทางเลือกทางภาษาเพิ่มเติม แต่พวกเขาก็ตั้งคำถามเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ที่อยู่เบื้องหลังความคิดริเริ่มนี้เช่นกัน "อะไรคือตลาดของภาษานี้ และอะไรคือขีดความสามารถที่ได้จากการใช้ภาษาเหล่านี้" ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์รายหนึ่งระบุ
ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์คนอื่นๆก็แสดงความคิดเห็นในทิศทางเดียวกัน โดยชี้ว่าภาษาอื่นๆอย่างเช่น ภาษาจีนกลาง ภาษารัสเซีย หรือแม้กระทั่งภาษาเนเธอร์แลนด์ ยังมอบมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่าภาษาเวียดนามและภาษาเขมรด้วยซ้ำ
ซาฟิก อับดุล มาจิด วัย 35 ปี ซึ่งส่งลูกๆวัย 10 ขวบและ 8 ขวบ ไปเรียนโรงเรียนที่ใช้ภาษามาเลย์เป็นสื่อกลาง บอกว่าชั้นเรียนภาษาเพิ่มเติม รังแต่จะก่อภาระแก่นักเรียนมากขึ้นไปอีก "โรงเรียนต่างๆโยนภาระหนักหน่วงใส่เด็กนักเรียนอยู่ก่อนแล้ว ด้วยภาษาอาหรับ นอกเหนือจากภาษามาเลย์และภาษาอังกฤษ" เขากล่าว
ก่อนหน้านี้ มาเลเซีย เคยเสนอให้ภาษามาเลย์ เป็นภาษาอย่างเป็นทางการที่ 2 ของอาเซียน รองจากอังกฤษ อ้างว่ามันเป็นภาษาที่พูดกันอย่างกว้างขวางมากที่สุดของกลุ่ม ทั้งในมาเลเซีย, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์ และทางภาคใต้ของไทย เช่นเดียวกับในชนกลุ่มน้อยในกัมพูชาและฟิลิปปินส์
อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซีย ตีกลับข้อเสนอดังกล่าว อ้างว่าอินโดนีเซียมีภาษาที่ต่างจากมาเลเซีย แม้มีความเข้าใจร่วมกันระหว่างภาษาในระดับสูงก็ตาม
(ที่มา:เซาต์ไชนามอร์นิงโพสต์)