มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ประสบความสำเร็จในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 1,135 ตัน ผ่านการจัดการพื้นที่สีเขียวด้วยข้อมูลเชิงลึก ซึ่งทำให้มีอัตราสูงกว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาอย่างชัดเจน ติดอันดับ Top 3 มหาวิทยาลัยเอกชนไทยใน UI Green Metric World University Ranking ต่อเนื่อง 9 ปีซ้อน พร้อมขับเคลื่อนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero emissions) ภายในปี 2608 ของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม
จากผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Current Science and Technology ปี 2025 ชี้ว่า DPU มีอัตราการดูดซับ CO₂ เฉลี่ย 4.29 ตันต่อเฮกตาร์ต่อปี แม้มีพื้นที่เพียง 13.23 เฮกตาร์ แต่มีการปลูกต้นไม้ถึง 2,577 ต้น ครอบคลุม 191 ชนิดพันธุ์ และผลิตออกซิเจนได้มากถึง 825 ตันต่อปี
ในย่านถนนประชาชื่นของกรุงเทพฯ เส้นทางสัญจรที่คึกคักถูกขนาบข้างด้วยแนวต้นไม้สูงตระหง่านภายในรั้วมหาวิทยาลัย เสียงลมที่พัดผ่านใบไม้เบาๆ ค่อยๆ กลบเสียงรถราจากภายนอก พื้นที่สีเขียวเหล่านี้ไม่ได้มีไว้แค่เพื่อความร่มรื่นหรือสวยงาม แต่เป็นปอดที่สำคัญของเมือง และเป็นห้องปฏิบัติการธรรมชาติที่อุดมด้วยองค์ความรู้ ซึ่งถูกพลิกข้อจำกัดให้เป็นโอกาสในการสร้างสรรค์ “Smart Green Campus” ที่ไม่เพียงเป็นกลไกบูรณาการหลักสูตร งานวิจัย และจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่คนรุ่นใหม่ แต่ยังพิสูจน์ว่า “มหาวิทยาลัยกลางเมือง” ก็สามารถสร้างผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อมได้จริง หากลงมือทำอย่างมีข้อมูล
‘เล็กแต่ทรงพลัง’ ป่าขนาดย่อมในใจกลางมหานคร
แม้จะเป็นมหาวิทยาลัยในเขตเมืองขนาดเล็กเมื่อเทียบกับต่างประเทศ DPU กลับแสดงศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนได้อย่างโดดเด่น โดยสามารถกักเก็บคาร์บอนรวมกว่า 309.54 ตันคาร์บอน หรือเทียบเท่าการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 1,135 ตัน CO₂ (tCO₂) ซึ่งคิดเป็นอัตราเฉลี่ย 4.29 ตันต่อเฮกตาร์ต่อปี ซึ่งสูงกว่าหลายมหาวิทยาลัยในอเมริกาและแคนาดาอย่างมีนัยสำคัญ
โดยมหาวิทยาลัย Dalhousie University มีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 1.6 ตันต่อเฮกตาร์ต่อปี และมีความหนาแน่นต้นไม้เพียง 40.45 ต้นต่อเฮกตาร์ ขณะที่มหาวิทยาลัย California State University มีอัตราเฉลี่ยเพียง 1.085 ตันต่อเฮกตาร์ต่อปี และความหนาแน่นต้นไม้เพียง 27.47 ต้นต่อเฮกตาร์
ตัวเลขเหล่านี้ไม่เพียงเน้นย้ำถึงประสิทธิภาพของระบบนิเวศภายในมหาวิทยาลัย แต่ยังสะท้อนแนวคิดการจัดการพื้นที่อย่างมีกลยุทธ์ที่ไม่ได้วัดผลด้วยขนาดพื้นที่ หากแต่ด้วยศักยภาพการใช้ทุกตารางเมตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด บนพื้นที่สีเขียวทั้งหมด 13.23 เฮกตาร์ DPU ปลูกต้นไม้รวม 2,577 ต้น ครอบคลุม 191 ชนิดพันธุ์ โดยมีความหนาแน่นต้นไม้สูงถึง 194.79 ต้นต่อเฮกตาร์
ต้นไม้ในมหาวิทยาลัยไม่ได้ทำหน้าที่แค่สร้างความร่มรื่นหรือความสวยงามเชิงภูมิสถาปัตย์ หากแต่เป็น “เครื่องมือกักเก็บคาร์บอน” ที่ทำงานเงียบๆ ตลอดทั้งปี และเป็นฟันเฟืองสำคัญของเมืองสีเขียวในแบบฉบับที่ลงมือทำจริง
ประดู่และไทรเกาหลี ต้นไม้ฮีโร่
จากการเก็บข้อมูลเชิงประจักษ์ภายในมหาวิทยาลัย พบชนิดพันธุ์ไม้เด่นสองชนิดที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศของ DPU โดย “ไทรเกาหลี” (Ficus annulata) เป็นชนิดพันธุ์ที่พบมากที่สุด ด้วยจำนวน 588 ต้น คิดเป็น 22.82% ของต้นไม้ทั้งหมด แม้ไม่ใช่ต้นไม้ขนาดใหญ่ที่โดดเด่น แต่เปรียบเสมือน "ผู้เฝ้าระวังพื้นที่สีเขียว" กระจายตัวอยู่ทั่วทุกตารางเมตร พร้อมสร้างดัชนีค่าความสำคัญ (IVI) สูงถึง 47.3091
ในขณะที่ “ประดู่” (Pterocarpus indicus) คือ "พระเอก" ตัวจริงในการกักเก็บคาร์บอน ต้นไม้ประจำชาติไทยที่สะสม CO₂ สูงสุดถึง 123,459 กิโลกรัม จาก 109 ต้น ซึ่งแสดงถึงศักยภาพล้นเหลือในการลดคาร์บอน และผลิตออกซิเจนได้มากที่สุด
แม้ว่าค่าการกักเก็บ CO₂ เฉลี่ยต่อต้นของ DPU (0.022 ตันคาร์บอนไดออกไซด์/ต้น/ปี) จะต่ำกว่าค่าอ้างอิงของ IPCC (0.0521 ตันคาร์บอนไดออกไซด์/ต้น/ปี) ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ DPU มีสัดส่วนของชนิดพันธุ์ไม้ที่มีลำต้นบางจำนวนมาก เช่น ไทรเกาหลี (Ficus annulata) และอโศกอินเดีย (Polyalthia longifolia) ที่มักปลูกตามแนวรั้วและขอบถนน ในขณะที่ต้นไม้ขนาดใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่สีเขียวส่วนกลางของมหาวิทยาลัย แต่เมื่อพิจารณาแบบองค์รวมของระบบนิเวศ ความหนาแน่นของต้นไม้ ชนิดพันธุ์ที่หลากหลาย และการจัดการเชิงกลยุทธ์ กลับช่วยชดเชยและส่งเสริมให้พื้นที่สีเขียวของมหาวิทยาลัยสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ ผลการศึกษายังชี้ให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพในระดับสูง โดยดัชนีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ Shannon-Weiner Species Diversity (SWSD) Index อยู่ที่ 3.7730 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่บันทึกไว้ใน ‘ป่าโคกทุ่งบะ’ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด ที่มีค่าอยู่ที่ 3.73
บทเรียนจากการลงมือทำ
การศึกษาวิจัยนี้จัดทำโดยทีมคณาจารย์และนักวิจัยของ DPU ประกอบด้วย ผศ. ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายงานวิชาการ, รศ.ดร.นิตย์ เพ็ชรรักษ์ นักวิจัยอาวุโส และ อาจารย์นุชา สถิตพงษ์ ผู้จัดการหน่วยงาน General Support & Services ซึ่งมีประสบการณ์อันหลากหลายในการออกแบบจัดสวนในประเทศบรูไนและสวีเดน การสร้างแหล่งเรียนรู้พืชสมุนไพร ไปจนถึงการวิจัยหญ้าแฝกและการเขียนคู่มือสิ่งแวดล้อม ได้นำความรู้เชิงปฏิบัติมาเสริมสร้างให้งานวิจัยนี้มีความแข็งแกร่งและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
การสำรวจภาคสนามอย่างละเอียดจัดขึ้นระหว่างเดือนกันยายนจนถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ซึ่งในระหว่างนั้น มีการจัดเก็บข้อมูลต้นไม้รายต้นด้วยเครื่องมือวัดความสูง, เลเซอร์วัดระยะรุ่น GLM 50C (Bosch) และเทปวัด เพื่อสำรวจ นับ และวัดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่ระดับอก (DBH ที่ความสูง 1.3 เมตร) ของต้นไม้ที่มีลำต้นขนาดเส้นรอบวงอย่างน้อย 12 ซม.
โดยมีวัตถุประสงค์หลักของการวิจัยคือ เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลต้นไม้ที่สมบูรณ์สำหรับ DPU และประเมินศักยภาพการกักเก็บ CO₂ โดยใช้สมการอัลโลเมตริก (Allometric Equations) เฉพาะชนิดพันธุ์ รวมถึงประเมินความหลากหลายของชนิดพันธุ์ด้วยดัชนีค่าความสำคัญ (IVI) และดัชนีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ Shannon-Weiner Species Diversity (SWSD) Index อนึ่ง ผลการศึกษาภายใต้ชื่อ 'Assessing Carbon Sequestration and Biodiversity: A Comprehensive Study of Trees at Dhurakij Pundit University' นี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Current Science and Technology (Volume 15, No. 2, 2025)
จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าโซน Z3 (เหนือ) และโซน Z2 (ใต้) ซึ่งเป็นโซนเก่าแก่ของมหาวิทยาลัยที่มีต้นไม้ปลูกมาตั้งแต่ปี 2522 มีสัดส่วนการกักเก็บคาร์บอนสูงสุดคิดเป็น 40.54% และ 38.42% ตามลำดับ โดยทั้งสองโซนนี้รวมกันครอบคลุมราว 70% ของพื้นที่ทั้งหมด และมีบทบาทสำคัญในการกักเก็บ CO₂ ถึง 80% รวมถึงเป็นที่ตั้งของต้นไม้กว่า 60% ของมหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็น “เขตสีเขียวหัวใจหลัก” ที่ทำหน้าที่เสมือนปอดของ DPU
จิตสำนึกที่งอกงามไปพร้อมกับใบไม้
ข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้คือเครื่องมือเชิงกลยุทธ์ของ DPU ในการออกแบบและพัฒนาพื้นที่สีเขียว โดยมหาวิทยาลัยได้ใช้ฐานข้อมูลต้นไม้เพื่อวางแผนพัฒนาโซน Z1 (ตะวันตก) และโซน Z4 (ตะวันออก) ซึ่งยังมีศักยภาพกักเก็บ CO₂ ที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับสองโซนเก่าแก่ ด้วยเหตุนี้แผนการในอนาคตจึงมุ่งเน้นนโยบายการปลูกต้นไม้ที่มองไปข้างหน้า โดยจะเน้นชนิดพันธุ์ไม้ที่มีประสิทธิภาพสูงในการกักเก็บคาร์บอน และทนทานต่อสภาพภูมิอากาศ รวมถึงประเมินค่าใช้จ่ายและบำรุงรักษาในระยะยาว เพื่อให้มั่นใจว่าพื้นที่สีเขียวจะยังคงเป็นปอดสำคัญและห้องปฏิบัติการธรรมชาติที่ยั่งยืนต่อไป
ความมุ่งมั่นของ DPU ในด้านความยั่งยืนนี้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยที่ว่า “DPU จะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการเปลี่ยนแปลงธุรกิจใหม่ เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน” โดยวิสัยทัศน์นี้ยังถูกบูรณาการเข้ากับหลักสูตรการเรียนการสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการ Capstone Projects ที่มุ่งตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และเน้นด้านการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ
ด้วยความสำเร็จเหล่านี้ทำให้ DPU ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยได้รับการจัดอันดับอยู่ใน Top 3 ของมหาวิทยาลัยเอกชนไทยที่มีคะแนนสูงสุดใน UI Green Metric World University Ranking ติดต่อกันถึง 9 ปี ตอกย้ำบทบาทของมหาวิทยาลัยในการเป็นผู้นำด้านความยั่งยืน ซึ่ง DPU ยังคงเดินหน้าส่งเสริมโครงการด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการของเสีย และการพัฒนาพื้นที่สีเขียวอย่างต่อเนื่อง
การศึกษาครั้งนี้วางรากฐานสำคัญให้ DPU ประเมินแนวโน้มการเติบโตของต้นไม้และศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนในอนาคต แม้จะมีชนิดพันธุ์ไม้ลำต้นเล็กจำนวนมากที่อาจจำกัดการกักเก็บคาร์บอนต่อต้น แต่ผลวิจัยนี้ก็เสนอแนวทางสำคัญ เช่น การประเมินอัตราการเติบโต การวิเคราะห์ต้นทุนจัดการและบำรุงรักษาในระยะยาว รวมถึงการระบุชนิดพันธุ์ไม้เศรษฐกิจ ไม้พื้นถิ่น ที่มีประสิทธิภาพดูดซับคาร์บอนสูงและปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศได้ดี ดังนั้นการปลูกต้นไม้ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ดิน และความชื้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับ DPU และจะยังคงดำเนินต่อไป
แนวทางของ DPU สามารถเป็นต้นแบบให้มหาวิทยาลัยในเมืองอื่นๆ นำไปประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของพื้นที่สีเขียวในแบบที่สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่น โดยใช้ฐานข้อมูลต้นไม้เป็นเครื่องมือวางแผน เลือกชนิดพันธุ์ที่ดูดซับคาร์บอนได้ดี ทนทาน ดูแลง่าย และเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมของสถาบันในระยะยาว ไม่ใช่เพียงเพื่อ “ลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เท่านั้น แต่เพื่อสร้างเมืองที่น่าอยู่และยั่งยืนอย่างแท้จริง เพราะ DPU ไม่ได้เป็นแค่ “มหาวิทยาลัยสีเขียว” ในความหมายทางกายภาพ หากแต่เป็นต้นแบบของสถาบันอุดมศึกษายุคใหม่ที่บูรณาการงานวิจัย การจัดการ และเป้าหมายด้านความยั่งยืนเข้าไว้ใน DNA ขององค์กรอย่างเป็นรูปธรรม