“ฮุนเซน” ถือโอกาสพูดกับทูตฝรั่งเศสที่เข้าพบเพื่ออำลาตำแหน่ง กล่าวหาไทยเป็นฝ่ายรุกราน ลอบยิงทหารเขมรตายเมื่อ 28 พ.ค. 68 แล้วกดดันกัมพูชาทางเศรษฐกิจ ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดขึ้น ตอกย้ำความจำเป็นต้องฟ้องศาลโลก พร้อมทวงเอกสารแผนที่ตามที่ “มาครง” เคยรับปาก “ฮุนมาเนต” ว่าจะจัดเตรียมให้ตอนไปประชุมที่ฝรั่งเศศ
วันที่ 10 ก.ค. เว็บไซต์ข่าว Kampuchea Thmey Daily รายงานว่า นายฌาคส์ เปลเลต์ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกัมพูชา ได้เข้าพบนายฮุนเซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา ณ ทำเนียบวุฒิสภา กรุงพนมเปญ เพื่อกล่าวคำอำลาในโอกาสพ้นจากหน้าที่ ซึ่งนายฮุนเซนได้ถือโอาสหารือเกี่ยวกับข้อพิพาทชายแดนระหว่างกัมพูชากับไทย
นายฮุนเซนได้บอกกับเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสว่า ความตึงเครียดบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา เกิดจากฝ่ายไทยที่เริ่มก่อเหตุขึ้นด้วยการรุกรานกัมพูชา โดยไทยได้อ้างแผนที่ที่เขียนขึ้นเองและยิงถล่มสนามเพลาะของกองทัพกัมพูชาที่สามเหลี่ยมมรกตเพียงฝ่ายเดียวเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2568 ส่งผลให้ทหารกัมพูชาเสียชีวิต 1 นาย หลังจากนั้นฝ่ายไทยได้ใช้มาตรการคุกคามทางเศรษฐกิจต่อกัมพูชา เช่น ขู่ว่าจะตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต ไฟฟ้า และงดส่งเชื้อเพลิง รวมถึงปิดพรมแดนฝ่ายเดียว ซึ่งทำให้สถานการณ์ชายแดนระหว่างสองประเทศตึงเครียดยิ่งขึ้นดังเช่นในปัจจุบัน
เช่นเดียวกับการพบปะกับผู้นำและนักการทูตต่างประเทศคนอื่นๆ นายฮุนเซนได้กล่าวถึงจุดยืนของกัมพูชาในการแก้ไขปัญหาชายแดนโดยสันติวิธีและการใช้กลไกทางกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกเขตอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ณ กรุงเฮก เพื่อนำข้อพิพาทชายแดนที่ละเอียดอ่อน 4 พื้นที่ ได้แก่ ปราสาทตาเมือนโต๊ด ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาควาย และพื้นที่สามเหลี่ยมมรกต ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลระหว่างประเทศ
เนื่องจากฝรั่งเศสเป็นประเทศผู้ร่างแผนที่เขตแดนระหว่างกัมพูชา-ไทย นายฮุนเซนได้ขอให้รัฐบาลฝรั่งเศสสนับสนุนและจัดหาเอกสารให้แก่กัมพูชาในการยื่นร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ตามที่ประธานาธิบดีฝรั่งเศสเคยให้สัญญาไว้กับนายกรัฐมนตรีฮุนเซนแล้ว
ทั้งนี้ ในระหว่างการประชุมที่เมืองนีซ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครง ได้กล่าวกับนายกรัฐมนตรีฮุนมาเนตว่า ฝรั่งเศสสามารถอำนวยความสะดวกในการจัดเตรียมเอกสารให้แก่กัมพูชาและไทย เพื่อแก้ไขข้อพิพาทชายแดนระหว่างสองประเทศในกรณีที่จำเป็น
ฌาคส์ เปลเลต์ ได้กล่าวตอบนายฮุนเซนว่า ฝรั่งเศสพร้อมเสมอที่จะมอบเอกสารเกี่ยวกับพรมแดนกัมพูชา-ไทย รวมถึงแผนที่เพื่อแก้ไขปัญหานี้โดยสันติตามกฎหมายระหว่างประเทศ และยืนยันการสนับสนุนของรัฐบาลฝรั่งเศสต่อจุดยืนของกัมพูชาในการแก้ไขปัญหานี้ตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
Kampuchea Thmey Daily อ้างว่า ในช่วง 90 ปีแห่งการเป็นเจ้าอาณานิคมของกัมพูชา (ค.ศ. 1853-1953) ฝรั่งเศสได้จัดทำแผนที่กำหนดเขตแดนระหว่างกัมพูชากับไทย เพื่อยุติความขัดแย้งอันยาวนาน ตามสนธิสัญญาฝรั่งเศส-สยาม ค.ศ. 1904-1907 นั้น ดินแดนของกัมพูชาจำนวนมากที่เคยถูกสยามยึดครองอย่างผิดกฎหมายได้กลับมาเป็นของกัมพูชา และสนธิสัญญาดังกล่าวพระมหากษัตริย์ไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1907 โดยมิได้มีคำคัดค้านใดๆ
ในวันเดียวกัน นายมาร์ติน วาฟรา เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเช็กประจำกัมพูชา ได้เข้าพบนายฮุนเซนเพื่อกล่าวคำอำลาก่อนพ้นหน้าที่ นายฮุนเซนก็ถือโอกาสพูดถึงปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชากับเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเช็ก โดยกล่าวว่ากัมพูชาไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากฟ้องต่อ ICJ เพื่อหาทางยุติข้อพิพาทใน 4 พื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากกลไกทวิภาคีไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ICJ จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด และการแย่งชิงดินแดนจะนำมาซึ่งการทำลายล้างและความเสียหาย กัมพูชาไม่ต้องการทำสงคราม แต่กัมพูชาต้องเตรียมพร้อมที่จะใช้สิทธิในการป้องกันตนเองและสิทธิในการตอบโต้
ทั้งนี้ นับตั้งแต่เกิดความขัดแย้งตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาจากเหตุปะทะที่ช่องบกเมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา นายฮุนเซนได้พยายามสร้างความได้เปรียบในเวทีการเมืองระหว่างประเทศทุกวิถีทาง โดยเมื่อผู้นำต่างประเทศหรือนักการทูตมาเยือนกัมพูชานายฮุนเซนจะถือโอกาสนำปัญหาพรมแดนกับไทยมาพูดคุย โดยให้ข้อมูลฝ่ายเดียวเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายไทยทุกครั้ง เช่น
- เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ในโอกาสที่นายบพิตร มารเฆริตา (Pabitra Margherita) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเข้าพบ
- วันที่ 2 ก.ค. นายลอว์เรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์ ที่มาเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 25 มิ.ย. พล.อ.โมริชิตะ ยาสุโนริ ผู้บัญชาการกองกำลังป้องกันตนเองทางบกของญี่ปุ่น เข้าพบที่ทำเนียบวุฒิสภาในกรุงพนมเปญ