วันนี้ (9 ก.ค.) เวลา 10.00 น. นายกฤษฎา อินทามระ หรือทนายปราบโกง พร้อมด้วย พนักงานและอดีตพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทยเกือบ 100 คน ได้เดินทางไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด ถนนแจ้งวัฒนะ กทม. เพื่อยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด สืบเนื่องจากคดีมหากาพย์ค่าล่วงเวลาของการท่าเรือฯ ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 8 ปี และสร้างความทุกข์ทรมานให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาอย่างแสนสาหัส
ทนายกฤษฎากล่าวว่า คดีนี้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2557 เมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับเป็นคดีพิเศษ โดยตั้งข้อกล่าวหาว่าพนักงานการท่าเรือฯ โกงค่าล่วงเวลา ทำให้รัฐเสียหายกว่า 3,000 ล้านบาท การท่าเรือฯ ได้ดำเนินการติดป้ายไวนิลขนาดใหญ่ประจานพนักงานบริเวณสะพานลอยหน้าสำนักงาน และในปี 2560 ได้แจ้งข้อกล่าวหาพนักงานรวม 560 คนว่ากระทำความผิดในคดีพิเศษดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 การท่าเรือฯ กลับต้องจ่ายเงินประมาณ 50 ล้านบาท ให้แก่พนักงานเกือบ 100 คนที่เคยถูกกล่าวหาว่าทุจริต ซึ่งชี้ว่าเป็นการตอกย้ำว่าคดีพิเศษนี้การท่าเรือฯ มีเจตนาจะกลั่นแกล้งและใส่ร้ายพนักงานผู้บริสุทธิ์ ต่อมาในปี 2566 ดีเอสไอสามารถสั่งฟ้องพนักงานได้เพียง 34 คน จาก 560 คน โดยส่งสำนวนให้อัยการคดีพิเศษดำเนินการ แต่อัยการไม่สามารถฟ้องคดีได้ทันที จนเวลาล่วงเลยไปกว่า 17 เดือน กระทั่งในเดือน ก.ย.2567 อัยการจึงยื่นฟ้องจำเลย 34 คนต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง
ศาลใช้เวลาพิจารณาคดีเพียง 5 เดือนเศษ และในวันที่ 18 มี.ค.2568 ได้มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 34 คน พ้นจากข้อกล่าวหา รวมถึงจำเลย 6 คนที่รับสารภาพด้วย
หลังศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง อัยการได้ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์รวม 3 ครั้ง ครั้งละ 30 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 18 ก.ค.นี้ ทนายกฤษฎามองว่าการขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ทั้ง 3 ครั้งนี้เป็นการประวิงคดี ทำให้จำเลยทั้ง 34 คน ต้องทนทุกข์ทรมานกับคดีนี้อย่างไม่สิ้นสุด เห็นได้จากกรณีจำเลย 6 คนที่รับสารภาพแต่ศาลก็พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากอัยการไม่สามารถนำสืบพยานหลักฐานและพยานบุคคลให้ศาลเห็นเป็นที่ประจักษ์ว่าจำเลยทั้ง 34 คนมีการกระทำความผิดตามฟ้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัยการไม่ได้ซักค้านพยานจำเลย 28 คนแม้แต่คำถามเดียว
ที่น่าเศร้าคือ เมื่อปลายเดือน มิ.ย. 2568 จำเลยที่ 23 ได้มีอาการช็อกและเสียชีวิตอย่างกะทันหัน ซึ่งทนายกฤษฎาเชื่อว่าเป็นผลโดยตรงจากความเครียดในคดีนี้
ด้วยเหตุนี้ วันนี้ตนในฐานะทนายจำเลย จึงต้องนำจำเลยและอดีตพนักงานที่รอดพ้นจากการถูกฟ้องมาร่วมยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด เพื่อขอให้กำชับอัยการผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีนี้ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นธรรม และเห็นแก่ความเดือดร้อนของพนักงานหลายร้อยคน ซึ่งถูกการท่าเรือฯ กลั่นแกล้งใส่ร้ายมานานกว่าเจ็ดปี ทั้งที่พนักงานเหล่านั้นเป็นผู้บริสุทธิ์