กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดเวทีประชุมวิชาการ “เวทีสานพลังวิจัย สู่การปฏิบัติจริง: เมื่อสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ออกแบบอนาคตประเทศไทย” ในวันอังคารที่ 8 กรกฎาคม 2568 เวลา 09.00-16.30 น. ณ ห้องอินฟินิตี้ 2 โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพฯ
เวทีครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้าน SHA (Social Sciences, Humanities, and Arts) สู่การใช้ประโยชน์จริง ทั้งเชิงนโยบาย เชิงพื้นที่ และเชิงสังคม โดยสอดคล้องกับแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ. 2566-2570 ซึ่งมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิต ความสามารถในการแข่งขัน และการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ ผ่านการบูรณาการพลังความรู้จากทุกภาคส่วน หนึ่งในไฮไลต์ของงานคือ ปาฐกถาพิเศษ โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในหัวข้อ “สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เพื่อการขับเคลื่อนประเทศไทย ให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว” ซึ่งกล่าวถึงมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์จะนำประเทศของเราก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้อย่างไร” โดยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาแบบสมดุลระหว่างความรู้ “สองขา” - ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ที่ควรเดินควบคู่กัน “STEM สอนเรา วิธีการสร้าง แต่มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์สอนเรา สร้างอะไร สร้างเพื่อใคร และสร้างทำไม”
- ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนกย้ำว่า ประเทศไทยต้องไม่มองมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เป็นเพียงศาสตร์เสริม แต่ต้องถือเป็นแกนกลางของการกำหนดทิศทางการพัฒนา โดยเฉพาะในยุคที่การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีรวดเร็ว หากไม่มี “พวงมาลัย” ที่ชี้ทางจากศาสตร์แห่งจริยธรรม ประวัติศาสตร์ และอัตลักษณ์ไทย เทคโนโลยีอาจกลายเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนผิดทิศได้
“ประเทศที่เจริญที่สุด ไม่ใช่ประเทศที่มีแต่วิศวกร แต่เป็นประเทศที่วิศวกรและนักประวัติศาสตร์เดินไปด้วยกัน” พร้อมเสนอ 6 แนวทางเชิงนโยบาย ได้แก่ การเพิ่มทุนวิจัยด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ การบูรณาการปรัชญาในหลักสูตร STEM การฟื้นฟูวัฒนธรรมอย่างมีอัตลักษณ์ และการเปลี่ยนมายด์เซตของสังคมให้เห็นว่างานวิชาการก็สนุกและมีจินตนาการได้
ศ.พิเศษ ดร.เอนกให้โจทย์ท้าทายว่า อยากจะเห็นแผนงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ สำเร็จภายในปี 2580 คืออยากให้งานด้านนี้สำเร็จลุล่วงและนำพาประเทศไทยให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่สำคัญ เราต้องทำงานอย่างมียุทธศาสตร์ และขับเคลื่อนงานอย่างมีกลยุทธ์ และต้องมองบริบทอย่างรอบด้านมองทั้งบริบทไทยและต่างประเทศ ทำงานต้องทำให้เร็ว ต้องมีความรับผิดชอบต่อภารกิจที่เราทำอยู่และมีความรับผิดชอบต่องบประมาณที่เราได้รับ
อยากให้นักวิจัยไทยและนักวิชาการไทยเชื่อมั่นในความเก่งของตัวเอง เชื่อมั่นในความรู้และต้องเอาความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ และที่สำคัญคือ งานทั้งสามด้านต้องบูรณาการไปด้วยกัน ต้องไม่คิดแยกส่วนเพราะถ้าแยกส่วนจะไม่เกิดพลัง
รวมถึงการมองปัญหาให้เป็นโอกาสที่สำคัญ อยากให้นักวิชาการไทยส่งออกความรู้ใหม่ๆ ไปให้ทั่วโลกได้รับรู้ และอยากให้สื่อสารถึงความงดงามตลอดจนคุณค่าความเป็นไทย ไปให้สากลโลกได้เห็นศักยภาพของประเทศไทย
ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวถึงแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ. 2566-2570 ว่าเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว พร้อมรับมือกับอนาคต โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างเศรษฐกิจบนฐานคุณค่าและคุณภาพ ด้วยพลังจากวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวว่า ประเทศไทยจะพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ ต้องผสาน “ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” เข้ากับ “ความเข้าใจมนุษย์ผ่านศาสตร์ด้าน SHA” เพื่อสร้างสังคมที่มีทั้งขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ และความงอกงามทางอารยธรรม
ศ.ดร.สมปองกล่าวเสริมว่า หนึ่งในความสำเร็จเชิงรูปธรรมของงานวิจัยทางสังคมไทย ภายใต้โครงการ “มีดี พลังเกษียณสร้างชาติ” ที่พิสูจน์ว่างานวิจัยสามารถเปลี่ยนชีวิตคนได้จริง โดยเฉพาะในสังคมสูงวัยที่กำลังทวีความสำคัญในประเทศไทย โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของ ยุทธศาสตร์ที่ 2 ของแผนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (ววน.) ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผ่านกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ที่มุ่งเปลี่ยน “ผู้สูงอายุ” ให้กลายเป็นพลังของชาติ “เกษียณมีดี” เทคโนโลยีที่เข้าใจผู้สูงวัย หนึ่งในหัวใจของความสำเร็จคือการพัฒนา แพลตฟอร์มการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับผู้สูงอายุ ผ่านแอปพลิเคชัน “เกษียณมีดี” บน Line และ Facebook ที่ออกแบบอย่างเข้าใจพฤติกรรมการใช้งานของผู้สูงวัย ช่วยให้พวกเขาเข้าถึงความรู้ ทักษะ และตลาดออนไลน์ได้ง่ายดายโดยไม่ต้องมีพื้นฐานด้านเทคโนโลยีมาก่อน
Impact ที่สัมผัสได้จริง: ผู้สูงอายุไม่ใช่ภาระ แต่คือโอกาส
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจาก “มีดี” ไม่เพียงเป็นตัวเลข แต่คือการยกระดับชีวิต
• ผู้สูงวัย เข้าร่วมโครงการกว่า 12,782 คน
• สร้างรายได้เฉลี่ย 7,987.50 บาท/เดือน ผ่านตลาดออนไลน์ “มีดี: ตลาดคนมีดี”
• ผู้เข้าร่วมบางรายมีรายได้สูงสุดถึง 30,000 บาท/เดือน
• มีเครือข่าย โรงเรียนและชมรมผู้สูงอายุ 42 แห่ง
• เชื่อมโยงกับหน่วยงานราชการท้องถิ่น 58 แห่ง
• ผู้ได้รับประโยชน์ทางอ้อมกว่า 19,886 คน
ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวในการบรรยายพิเศษเรื่อง “นโยบายและการขับเคลื่อนงานด้าน SHA” “มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ (SHA) ไม่ใช่แค่ศาสตร์แห่งความงามหรือความเข้าใจมนุษย์ แต่เป็นเครื่องมือสำคัญในการออกแบบอนาคตของประเทศไทย”
โดยในช่วงบ่ายมีกิจกรรม Workshop และการระดมสมอง ในหัวข้อ “ปัจจุบันและอนาคตในการขับเคลื่อนงานวิจัยด้าน SHA” ซึ่งจะเปิดพื้นที่ให้นักวิจัยภาคนโยบาย และภาคปฏิบัติ ได้ร่วมกันเสนอแนวทางการนำงานวิจัยไปใช้จริง
อย่างไรก็ดี เวทีนี้จึงเป็นมากกว่างานสัมมนา แต่คือ “พื้นที่แห่งการเปลี่ยนแปลง” ที่สะท้อนให้เห็นว่างานวิจัยด้าน SHA มีพลังในการยกระดับชีวิตคนไทยทุกช่วงวัย, เพิ่มรายได้, สร้างโอกาส, และพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในการเข้าสู่สังคมอนาคตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ดร.สุรชัยกล่าวทิ้งท้าย โดยได้ฉายภาพบริบทเชิงนโยบาย และทิศทางที่ สอวช. และ สกสว.จะดำเนินการร่วมกันในแง่ของการพัฒนางานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ ซึ่งสอวช.ก็กำลังอยู่ในช่วงบูรณาการความรู้ต่างๆ ให้เข้ากันกับบริบททางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยที่ สอวช.จะพยายามพัฒนาอีโคซิสเต็มส์หรือระบบนิเวศที่เอื้อต่อการขับเคลื่อนงานทั้งสามด้านดังกล่าวให้มากยิ่งขึ้นต่อไป