สกสว.ระดมสมองทบทวนแผน ววน. เพื่อแก้ไขปัญหาท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะการรับมือวิกฤติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมเดินหน้าแก้ปัญหาท้าทายของประเทศ รวมถึงการร่วมหารือปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมในระดับพื้นที่ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย โดยมีมหาวิทยาลัยในพื้นที่ร่วมทำงานแบบบูรณาการ
นายขจร ศรีชวโนทัย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง เป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับ รศ. ดร.สุจริต ธนกุลวงศ์ ผู้อำนวยการแผนงานเป้าหมายสำคัญตามยุทธศาสตร์ ววน. "น้ำมั่นคง ไม่ท่วม ไม่แล้ง” และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ณ ห้องประชุมราชบพิธ อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย เพื่อเตรียมพร้อมในการประชุมคณะทำงานการขับเคลื่อนการดำเนินการความร่วมมือแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมในระดับพื้นที่ ระหว่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ สกสว.
รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า งบประมาณของกระทรวงกระจายอยู่หลายส่วน แต่จะพยายามให้อยู่ในแผนเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพ การแก้ปัญหาค่อนข้างมีความซับซ้อนโดยจะต้องจัดลำดับความสำคัญของปัญหาในแต่ละพื้นที่ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน นอกจากนี้ยังมีกระทรวงอื่น ๆ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องด้วย ทั้งนี้แผนงานน้ำจะสำเร็จหรือไม่ต้องดูอุปสรรคหน้างานด้วย โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหลักในการรวบรวมข้อมูลจากท้องถิ่นและภาคเอกชน โดยทุกหน่วยงานในกระทรวงมหาดไทยยินดีสนับสนุนข้อมูลและทำงานร่วมกับ อว. และ สกสว.
ด้าน รศ. ดร.สุจริต ระบุว่า สกสว.ได้รับโจทย์จากข้อสั่งการของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในการนำ ววน. มาเป็นเครื่องมือแก้จน บริหารจัดการน้ำ บนฐานองค์ความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อส่งมอบผลลัพธ์ผลกระทบที่เป็นรูปธรรมแก่ฝ่ายนโยบาย เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจึงมีประกาศแต่งตั้งคณะทำงานฯ โดยมี สกสว. เป็นโซ่ข้อกลาง และมหาวิทยาลัยในพื้นที่ร่วมทำงานแบบบูรณาการ ปรับตัวเรียนรู้ร่วมกับชุมชน ภายใต้เครือข่ายการทำงานร่วมกันของทั้งสองกระทรวง เพื่อขับเคลื่อนโครงการสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาในพื้นที่
ทั้งนี้ แผนงานเป้าหมายสำคัญตามยุทธศาสตร์ ววน. "น้ำมั่นคง ไม่ท่วม ไม่แล้ง” มีเป้าหมายน้ำไม่ท่วมไม่แล้งใน 100 ตำบลเป้าหมายใน 8 จังหวัดเป้าหมาย คือ เชียงใหม่-ลำพูน พะเยา-เชียงราย ชัยภูมิ-ขอนแก่น สงขลา-พัทลุง โดยมีจังหวัดน่านและกำแพงเพชรเป็นพื้นที่ต้นแบบ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ทดลองในลุ่มน้ำแม่กลองและเขื่อนใหญ่ ประกอบด้วย กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร โดยประชาชนได้รับความเดือดร้อนลดลง 1.2 แสนครัวเรือน และมีรายได้เพิ่มขึ้นหรือลดค่าใช้จ่ายจากภาครัฐ 900 ล้านบาท ในปี 2569
ในวันเดียวกัน ศ. ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การทบทวนแผนด้าน ววน. ของประเทศ พ.ศ.2566-2570” ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ บางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แอทเซ็นทรัลเวิลด์ ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุน ในประเด็นยุทธศาสตร์การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งจัดโดยสำนักยุทธศาสตร์แผน ติดตามและประเมินผล สกสว. และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยมี ศ. ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ และ ผศ. ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ รองผู้อำนวยการ สกสว. พร้อมด้วย ดร.สิริพร พิทยโสภณ รองผู้อำนวยการ สอวช. และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 140 คน ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
การทบแทนแผนด้าน ววน. ดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงหรือความจำเป็นของประเทศและโลก รวมถึงสอดคล้องกับแผนระดับชาติและนโยบายประเทศที่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ตลอดจนการปรับปรุงแผนงานสำคัญตามจุดมุ่งเน้นนโยบาย และแผนงานย่อยให้มีความครอบคลุม เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายตามแผนได้ นอกจากนี้ยังต้องปรับปรุงผลสัมฤทธิ์สำคัญให้มีความชัดเจน สามารถจัดเก็บข้อมูลและประเมินผลการดำเนินงานได้อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการเพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการติดตามและทบทวนแผนด้าน ววน. ของประเทศ เพื่อให้ได้ข้อมูลสำหรับการจัดทำกรอบ ยุทธศาสตร์ และแผนด้าน ววน. ของประเทศ พ.ศ. 2571-2575
“เราต้องทำงานทั้งเชิงรุกและเชิงรับ โดยมีเป้าหมายเดียวกันในการใช้ ววน. เปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมในทางที่ดีขึ้น การทบทวนแผนในครั้งนี้จึงเป็นการระดมสมองของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้อีกสองปีที่เหลือแผนด้าน ววน.เป็นผู้ชนะ ทำให้ประเทศหลุดจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางภายในปี 2580 มีรายได้สูงขึ้น ร่วมกันยืนหยัดเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และสร้างตัวชี้วัดใหม่ร่วมกัน ภายใต้ความคาดหวังของทุกภาคส่วน” ผู้อำนวยการ สกสว.ระบุ
ขณะที่รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า จากวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ววน.ต้องช่วยกันสร้างความสมดุล รวมถึงความเข้มแข็งของประเทศและคนในชุมชน การประชุมเชิงปฏิบัติการจึงเป็นก้าวสำคัญที่ สอวช. สกสว. และหน่วยบริหารและจัดการทุน จะร่วมกันสร้างความเข้าใจและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างกัน เพื่อให้เกิดการพัฒนาแผน ววน. ที่ใช้อยู่ปัจจุบัน โดยการลงทุนวิจัยที่ผ่านมาของประเทศมีความจำเป็นที่จะต้องสะท้อนภาพความสำเร็จของระบบ ววน. ผ่านการทำงานของทุกหน่วยงาน ตลอดจนทบทวนประเด็นที่มีความสำคัญในภาวะการเปลี่ยนแปลงของประเทศที่จะเดินหน้าต่อไป