xs
xsm
sm
md
lg

อดีต ผอ.กองกฎหมาย กรมโรงงานฯ เห็นด้วยควรแยก “โรงงานรีไซเคิล” อยู่ใต้ พ.ร.บ.จัดการกากอุตสาหกรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานพิเศษ

อ่านประกอบ : ทนายสายสิ่งแวดล้อมหนุน กม.ใหม่เข้ม รง.รีไซเคิลกากอุตสาหกรรม แต่ต้องเพิ่มตรวจสอบถ่วงดุล จนท.อุตฯ 

เตรียมเสนอกฎหมายใหม่ แยกโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมออกจากโรงงานทั่วไป ตรวจสอบเข้มกว่าเดิม 


“กลุ่มโรงงานที่มีปัญหาทำให้เกิดการปนเปื้อนของกากอุตสาหกรรมในสิ่งแวดล้อม จะถูกแยกออกไปอยู่ภายใต้กฎหมายใหม่ ที่มีชื่อเรียกเบื้องต้นว่า ร่าง พ.ร.บ.จัดการกากอุตสาหกรรม เพื่อให้กระทรวงอุตสาหกรรม สามารถวางมาตรการตามกฎหมายกับโรงงานกลุ่มนี้ให้เข้มข้นได้มากกว่าเดิม ตั้งแต่ขั้นตอนการออกใบอนุญาต การกำกับดูแลตรวจสอบโรงงาน ไปจนถึงการกำหนดบทลงโทษ”

นั่นเป็นหลักการเบื้องต้นที่กระทรวงอุตสาหกรรมโดย อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ประธานคณะที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศต่อสาธารณะไว้แล้วว่า กระทรวงอุตสาหกรรม กำลังจะเสนอร่างกฎหมายใหม่ เพื่อนำมาบังคับใช้กับโรงงานในกลุ่มรับกำจัดและบำบัดกากอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ โดยจะแยกออกมาจากกฎหมายที่มีอยู่เดิม คือ พ.ร.บ.โรงงานฯ ซึ่งมีมาตรการในกระบวนการกำกับดูแลทุกขั้นตอนเบาเกินไป เมื่อเทียบกับความเสียหายร้ายแรงจากการลักลอบทิ้งและฝังกลบกากอุตสาหกรรมด้วยวิธีการนอกระบบที่เกิดขึ้นจากโรงงานกลุ่มนี้มาตลอดในช่วงกว่า 10 ปีหลัง


จินดา เตชะศรินทร์ อดีตผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมโรงงานอุตสาหกรรม หนึ่งในข้าราชการที่ทำงานต่อสู้กับปัญหากากอุตสาหกรรมมาตลอด เปิดเผยว่า หลักการที่จะแยกโรงงานกลุ่มรับกำจัดและบำบัดของเสีย โดยเฉพาะโรงงานรีไซเคิล ให้ออกมาจากโรงงานทั่วไป เพื่อให้สามารถใช้มาตรการทางกฎหมายที่เข้มงวดกว่าใน พ.ร.บ.โรงงานฯ ปัจจุบัน เป็นเรื่องที่เคยถูกนำเสนอมาในช่วงประมาณ 1 ปีแล้ว ซึ่งแต่เดิมจะไปปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.โรงงาน แต่เมื่อมีข้อเสนอใหม่ที่ออกกฎหมายอีก 1 ฉบับ ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ ก็ยิ่งจะทำให้สามารถดำเนินการได้ชัดเจนมากขึ้น จึงเห็นด้วยที่กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมจะขับเคลื่อนเพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.จัดการกากอุตสาหกรรม รวมทั้งเห็นด้วยกับการตั้งกองทุนอุตสาหกรรมยั่งยืนขึ้นมาเพื่อนำเงินมาใช้ฟื้นฟูเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบและสิ่งแวดล้อม

“การกำกับดูแลโรงงานกำจัดกากบางกลุ่มในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีปัญหามาโดยตลอด เพราะ พ.ร.บ.โรงงานฯ ที่ใช้อยู่เดิม มีมาตรการที่เบาเกินไป แต่ถ้าจะไปแก้ไข พ.ร.บ.โรงงานให้เข้มงวดขึ้นกับทุกโรงงาน ก็จะไปทำให้โรงงานทั่วไปที่ไม่ได้สร้างปัญหาต้องได้รับความยุ่งยากไปด้วยจนอาจส่งผลกระทบกับการตัดสินใจลงทุน”

“จากการติดตามความคืบหน้าในการยกร่างกฎหมายจัดการกากอุตสาหกรรมมาโดยตลอด เราจะพบการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญนอกจากการแยกโรงงานกลุ่มรับกำจัดหรือบำบัดออกมาอยู่ภายใต้กฎหมายใหม่แล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงการจัดกลุ่ม “โรงงานรับกำจัดหรือบำบัด” ที่จะไปขึ้นตรงกับกฎหมายใหม่ โดยจะไม่ได้กำหนดตาม “ประเภทของโรงงาน” เท่านั้น แต่จะไปกำหนดว่าโรงงานใดต้องเข้ามาอยู่ภายใต้กฎหมายใหม่ด้วยหรือไม่ โดยดูจากลักษณะการประกอบกิจการของโรงงานมากกว่า” จินดา อธิบายสิ่งที่จะเปลี่ยนเปลงไปมากอย่างมีนัยสำคัญ






ถ้าดูเฉพาะใน พ.ร.บ.โรงงานเดิม จะมีประเภทของโรงงานที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มรับกำจัดหรือบำบัดของเสียรวมประมาณ 2,500 แห่ง คือ โรงงานลำดับที่ 101 รับกำจัดของเสียอันตราย ,โรงงานลำดับที่ 105 คัดแยกขยะหรือฝังกลยของเสียไม่อันตราย และโรงงานลำดับที่ 106 รีไซเคิล รวมไปถึงกลุ่มโรงไฟฟ้าขยะ แต่ใน ร่าง พ.ร.บ.จัดการกากอุตสาหกรรม ที่จะเสนอขึ้นมาใหม่ ไม่ได้ระบุว่า โรงงานกลุ่มนี้ คือ โรงงานลำดับที่ 101 105 หรือ 106 เท่านั้น

“จากที่ติดตามมาตลอด จะเห็นว่า ในตัวร่างกฎหมายใหม่ได้เขียนกำหนดคำนิยามของคำว่า กากอุตสาหกรรม สถานประกอบการอุตสาหกรรม กากอุตสาหกรรมอันตราย ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซากรถยนต์ การกำจัด (รวมไปถึงรีไซเคิล) ... และกำหนดนิยามของผู้มีบทบาทในวงจรของกากอุตสาหกรรม เพิ่มจาก 3 เป็น 4 บทบาท คือ ผู้ก่อกำเนิด (Waste Generator) ผู้รับส่ง (Waste Transporter) ผู้กำจัด (Waste Processor) และเพิ่มตัวละครใหม่ คือ “ผู้รวบรวมของเสีย” เข้ามาอยู่ในวงจรนี้ด้วย เพราะที่ผ่านมา มีรูปแบบการกระทำความผิดของโรงงานหลายแห่ง ใช้พื้นที่โรงงานหรือโกดังสินค้าทั่วไปเป็นแหล่งจัดเก็บหรือลักลอบทิ้งของเสียอันตรายจำนวนมาก โดยไม่นำเข้าระบบโรงงานกำจัดหรือบำบัดอย่างแท้จริงเลย”

“ถ้าเราดูจากนิยามเหล่านี้ ก็จะเห็นว่า ใน ร่าง พ.ร.บ.จัดการกากอุตสาหกรรม ไม่ได้กำหนดให้โรงงานรับกำจัดกาก ต้องหมายถึง 101 105 106 เท่านั้น แต่จะไปดูจากลักษณะกิจกรรมของโรงงาน ไม่ว่าจะเป็นโรงงานประเภทใด ขนาดใหญ่ หรือเล็ก ถ้ารับของเสียเข้าไปและมีกิจกรรมที่ดำเนินการของเสีย ก็จะต้องถูกบังคับใช้กฎหมายภายใต้กฎหมายใหม่ทั้งหมด เช่น หากโรงงานหลอมโลหะ (ลำดับที่ 60) รับกากของเสียเข้ามาเป็นวัตถุดิบร่วม หรือไม่ส่งของเสียที่เหลือจากการหลอมออกไปกำจัด ก็จะหมายถึงมีกากของเสียเหลืออยู่ในโรงงานและโรงงานดำเนินการเอง ก็จะนับว่า เป็นกิจกรรมที่ต้องมาอยู่ใต้กฎหมายใหม่”

“หรืออาจอธิบายเพิ่มได้ว่า โรงงานทุกแห่ง ทุกประเภท ยังคงต้องถูกบังคับใช้ภายใต้กฎหมายเดิม คือ พ.ร.บ.โรงงาน .... แต่โรงงานใดก็ตามที่มีกิจกรรมเกี่ยวข้องกับการจัดการกากของเสียไม่ว่าจะอันตรายหรือไม่อันตราย ไม่ว่าด้วยวิธี กำจัด ฝังกลบ เตาเผา คัดแยก หรือรีไซเคิล จะถูกนับเข้าไปให้ถูกบังคับใช้ภายใต้กฎหมายใหม่ คือ ร่าง พ.ร.บ.จัดการกากอุตสาหกรรมอีกหนึ่งฉบับด้วยทันที” อดีตผู้บริหาร กรมโรงงานอุตสาหกรรม อธิบายโดยละเอียด






ส่วนแนวทางการฟื้นฟูเยียวยาให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ที่เป็นปัญหาใหญ่อยู่ในในหลายพื้นที่เพราะแต่ละพื้นที่มีของเสียอันตรายที่ต้องนำไปกำจัดอย่างถูกต้องคิดเป็นเงินหลายร้อยล้านบาท ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมเสนอตั้ง “กองทุนปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืน” ไว้ในกฎหมายใหม่ด้วย โดยจะแปรรูปมาจากกองทุน SME ประชารัฐเดิมที่มีเงินตั้งต้นอยู่แล้วประมาณ 2 หมื่นล้านบาท และจะนำเงินมาใส่กองทุนเพิ่มจากการกำหนดให้โรงงานกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสูงกลุ่มนี้ต้องวางหลักประกันเข้ากองทุน รวมทั้งจะนำเงินค่าปรับจากโรงงานที่ทำผิดกฎหมายซึ่งมีอยู่กว่าร้อยล้านบาทต่อปีมาเติมเข้าไปด้วย

อดีต ผอ.กองกฎหมาย กรมโรงงานอุตสาหกรรม เห็นว่า เป็นแนวทางที่ดูแล้วมีความเป็นไปได้มากที่สุดในขณะนี้แล้ว เพราะเป็นการตั้งต้นด้วยการแปรสภาพจากกองทุนอื่นที่มีอยู่แล้ว และจะถูกเขียนไว้ในกฎหมาย ... เพราะเดิมที นายจุลพงษ์ ทวีศรี อดีตอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เตรียมจะนำเสนอตั้งกองทุนอุตสาหกรรม โดยไปเจรจากับกรมบัญชีกลางว่าจะนำ รายได้ที่เกิดขึ้นจาก พ.ร.บ.โรงงานฯ และเงินค่าปรับ มาใส่ในกองทุนแทนการส่งคืนคลัง แต่ก็ได้รับข้อมูลว่าการตั้งกองทุนใหม่ในปัจจุบันเป็นไปได้ยากมาก ซึ่งโดยส่วนตัวต้องการให้นำเงินค่าปรับมาใส่ในกองทุนให้ได้ เนื่องจากเงินค่าปรับในระบบเดิม นอกจากจะถูกส่งคืนคลังแล้วยังมีการแบ่งสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงมาให้เจ้าหน้าที่ที่ตรวจโรงงานรวมถึงผู้เกี่ยวข้องด้วย






กำลังโหลดความคิดเห็น