xs
xsm
sm
md
lg

ทนายสายสิ่งแวดล้อมหนุน กม.ใหม่เข้ม รง.รีไซเคิลกากอุตสาหกรรม แต่ต้องเพิ่มตรวจสอบถ่วงดุล จนท.อุตฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทนายสายสิ่งแวดล้อม เห็นด้วย ใช้กฎหมายใหม่ “เข้ม” กับโรงงานรีไซเคิลกากอุตฯ แต่ต้องเพิ่มกลไกตรวจสอบถ่วงดุล จนท.อุตฯ


รายงานพิเศษ

อ่านประกอบ : เตรียมเสนอกฎหมายใหม่ แยกโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมออกจากโรงงานทั่วไป ตรวจสอบเข้มกว่าเดิม 

จากการเปิดเผยของ อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ประธานคณะที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ว่ากำลังเตรียมจะเสนอร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่เรียกว่า “ร่าง พ.ร.บ.จัดการกากอุตสาหกรรม” ต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจะแก้ปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในประเทศไทย ซึ่งมีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตลอดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากโรงงานกลุ่มที่เรียกว่า “โรงงานรับกำจัดหรือบำบัดของเสีย” หรือ Waste Processor

สาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.จัดการกากอุตสาหกรรม คือการแบ่งโรงงานออกเป็น 2 กลุ่ม โดยโรงงานทั่วไปที่ทำสายการผลิตและทำให้เกิดของเสียจากการผลิต หรือ Waste Generator จะยังคงขึ้นกับกฎหมายฉบับเดิม คือ พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม ส่วน โรงงานกลุ่มรับกำจัดหรือบำบัดของเสีย หรือ Waste Processor คือ โรงงานรับกำจัดของเสียอันตราย (ลำดับที่ 101) โรงงานคัดแยกขยะและรับฝังกลบของเสียไม่อันตราย (105) โรงงานกลุ่มรีไซเคิล (106) รวมประมาณกว่า 2,500 แห่ง จะถูกโอนมาอยู่ภายใต้กฎหมายใหม่ คือ ร่าง พ.ร.บ.จัดการกากอุตสาหกรรม เพื่อให้กระทรวงอุตสาหกรรม สามารถใช้มาตรการทางกฎหมายที่ต่างกันไประหว่าง กลุ่มโรงงานปกติทั่วไป ที่ต้องไม่มีกฎระเบียบที่เข้มงวดมากจนเกินไปจนไปขัดกับหลักการส่งเสริมการลงทุน กับกลุ่มโรงงานกลุ่มรับกำจัดของเสียที่มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดการปนเปื้อนมลพิษจากการลักลอบทิ้งหรือฝังกลบกากอุตสาหกรรม เพราะต้องการลดต้นทุนค่ากำจัด เนื่องจากโรงงานกลุ่มนี้บางบริษัทมักจะไปรับของเสียอันตรายมาในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง และนำมาลักลอบทิ้งโดยไม่ส่งไปกำจัดหลังการรีไซเคิล

นอกจากนี้ ในร่าง พ.ร.บ.กากอุตสาหกรรม ยังระบุถึงมาตรการที่จะถูกนำมาบังคับใช้กับโรงงานกลุ่มรับกำจัดหรือบำบัดของเสียให้เข้มข้นขึ้นด้วย เช่น


- ห้ามนำเข้ากากอุตสาหกรรม เว้นแต่เป็นวัตถุดิบ และหากฝ่าฝืนจะเพิ่มบทลงโทษจากจำคุก 5 ปี เป็นจำคุก 10 ปี พร้อมเพิ่มค่าปรับจาก 5 แสน เป็น 1 ล้านบาทกรณีเป็นของเสียไม่อันตราย และปรับ 2 ล้านบาท กรณีเป็นของเสียอันตราย


- โรงงานที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.จัดการกากอุตสาหกรรม จะต้องมาต่อใบอนุญาตทุกๆ 1 ปี ซึ่งต่างจากใน พ.ร.บ.โรงงานฯเดิม ที่ใบอนุญาตไม่มีวันหมดอายุ เพื่อเพิ่มช่องทางให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปตรวจสอบโรงงานได้ว่าปฏิบัติอย่างถูกต้องหรือไม่ จากเดิมที่เข้าไปตรวจสอบไปยาก


- เพิ่มอำนาจให้กระทรวงอุตสาหกรรม สามารถเข้าไปตรวจสอบโรงงานกลุ่มนี้ที่อยู่ในพื้นที่เขตปลอดอากร (Free Zone) ได้ เพราะถือเป็นกลุ่มหนึ่งที่มีปัญหา แต่กระทรวงอุตสาหกรรมไม่มีอำนาจตามกฎหมายเดิม


- การกำหนดคำนิยาม “โรงงานรับกำจัดหรือบำบัดของเสีย” จะไม่ใช่เฉพาะโรงงานลำดับที่ 101 105 106 แต่จะดูจากลักษณะการประกอบกิจการ จึงนับรวมไปถึงกิจการขนาดเล็กอื่นๆด้วย เช่น กลุ่มธุรกิจแยกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ต้องเข้ามาอยู่ใต้กฎหมายฉบับนี้ทั้งหมด ต่างจาก พ.ร.บ.โรงงานฯ ที่ถือว่ากิจการที่มีเครื่องจักรต่ำกว่า 50 แรงม้าและมีคนงานน้อยกว่า 50 คน ไม่นับเป็นโรงงาน


ชำนัญ ศิริรักษ์ ทนายความของกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ที่ทำคดีให้ประชาชนในหลายพื้นที่รวมทั้งที่ โรงงานวิน โพรเสส จ.ระยอง ,โรงงานแว็กซ์ กาเบจ รีไซเคิล จ.ราชบุรี ,โรงงานเอกอุทัย จ.เพชรบูรณ์ พระนครศรีอยุธยาและนครราชสีมา เห็นด้วยกับหลักการการที่จะมีกฎหมายฉบับใหม่เพื่อบังคับใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้นกับกลุ่มโรงงานรับกำจัดหรือบำบัดของเสียเป็นการเฉพาะ เพราะปัญหาที่ผ่านมาถูกพิสูจน์อย่างชัดเจนแล้วว่า ข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม ไม่สามารถจัดการกับโรงงานกลุ่มนี้ได้เลย เนื่องจากมีมาตรการที่เบาเกินไปตั้งแต่ขั้นตอนการขออนุญาตจัดตั้งโรงงาน การขอประกอบกิจการ การกำกับดูแล ไปจนถึงบทลงโทษต่างๆเมื่อพบการกระทำความผิด และมีข้อเสนอเพิ่มเติมด้วยว่า แม้จะมีกฎหมายใหม่ แต่กระทรวงอุตสาหกรรมก็ต้องวางแนวทางการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นจริงให้ได้

ทนายชำนัญ ยังยืนยันจากประสบการณ์การทำคดีกากอุตสาหกรรมในหลายพื้นที่ว่า การมีกฎหมายเพิ่มจากฝั่งกระทรวงอุตสาหกรรมเพียงด้านเดียวยังไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหา จึงควรจะมีกฎหมายที่เพิ่มอำนาจให้หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาช่วยตรวจสอบถ่วงดุลด้วย เพราะหนึ่งในจุดบกพร่องใหญ่ที่ทำให้เกิดปัญหานี้ขึ้น ก็คือ การปล่อยให้ “หน่วยงานเดียว” มีอำนาจในการจัดการโรงงานตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ โดยไม่มีอำนาจจากหน่วยงานอื่นมาถ่วงดุล




“แม้ว่าข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ.โรงงาน จะค่อนข้างเบา เมื่อเทียบกับปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างและรุนแรงในหลายพื้นที่ แต่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบเกือบทุกพื้นที่ต่างสะท้อนให้เห็นถึงต้นตอสำคัญของความเสียหายว่ามีสาเหตุมาจากการละเลยหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่จากกระทรวงอุตสาหกรรมเอง ไม่ว่าจะเป็นกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรืออุตสาหกรรมจังหวัดที่ขึ้นตรงกับปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รวมไปถึงเจ้าพนักงานในท้องถิ่นด้วย”

“ขนาดว่ากฎหมายค่อนข้างเบา ชาวบ้านเขาก็ยังสัมผัสได้ถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้นยิ่งจะมีกฎหมายใหม่ที่เข้มข้นขึ้น ทางกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ต้องมีมาตรการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่เข้มข้นขึ้นตามไปด้วย เพื่อไม่ให้เป็นช่องทางการแสวงหาผลประโยชน์ช่องทางใหม่ ซึ่งแนวทางการแก้ไขที่ควรจะเกิดขึ้นควบคู่ไปด้วยคือการเพิ่มอำนาจให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาช่วยตรวจสอบอีกทาง ซึ่งจะเป็นช่องทางที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้นด้วย” ทนายชำนัญ กล่าว

“ขอเสนอเพิ่มเติมว่า ควรนำเนื้อหาในประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ 1 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งระบุว่า หากพบเจอของเสียอันตรายอยู่ในสิ่งแวดล้อม โรงงานต้นทางผู้ก่อกำเนิดของเสียจะต้องมีภาระรับผิดร่วมตลอดไปโดยไม่จำกัดระยะเวลา ไปใส่ไว้ใน พ.ร.บ.จัดการกากอุตสาหกรรม ด้วย เพราะประกาศฉบับนี้มีเจตนาแก้ปัญหาที่ต้นทาง ซึ่งเกิดจากการที่โรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสีย (Waste Generator) มักจะเลือกส่งของเสียไปกำจัดกับโรงงานที่เสนอราคากำจัดถูกกว่าความเป็นจริง ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถกำจัดได้จริง ... เมื่อแยกโรงงานกลุ่มรับกำจัดของเสียออกมาอยู่ใต้กฎหมายใหม่แล้ว ก็ต้องไม่ปล่อยให้โรงงานต้นทางที่เป็นผู้ก่อกำเนิดของเสียลอยตัวจากปัญหาได้ด้วย”




ประเด็นต่อมาที่ทนายชำนัญ ให้ข้อเสนอต่อตัวร่าง พ.ร.บ.จัดการกากอุตสาหกรรม คือ ต้องหาคำนิยามของกลุ่มโรงงานรับกำจัดหรือบำบัดของเสียให้รัดกุม เพราะในปัจจุบัน มีโรงงานที่ทำกิจการรีไซเคิลจำนวนมาก ไม่ได้ขอใบอนุญาตประกอบกิจการรีไซเคิล แต่ไปใช้ใบอนุญาตประเภท “หล่อหลอม” แทน เพราะสามารถรับของเสียอันตรายมาดำเนินการได้เหมือนกัน และยังมีของเสียอันตรายเหลือจากการหลอมอีกด้วย ซึ่งรวมไปถึง โรงงานกลุ่มทุนจีน ที่เห็นได้เกือบทุกโรงงาน

“ปัญหาใหม่ที่เรามักจะพบในช่วงที่ผ่านมาก็คือ โรงงานกลุ่มทุนจีนเข้ามาในประเทศไทยมาก โดยเน้นไปที่การลักลอบประกอบกิจการรีไซเคิลจากซากอิเล็กทรอนิกส์ โดยโรงงานกลุ่มนี้มักจะใช้ใบอนุญาตในประเภทอื่น เช่น ขออนุญาตประกอบกิจการหลอมพลาสติกหรือหลอมโลหะ เช่น โรงงานทุนจีน 3 บริษัทที่เราพบที่ ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ใช้ใบอนุญาตขอประกอบกิจการลำดับที่ 53 ซึ่งก็คือการหล่อหลอมพลาสติก แต่ทำเกินจากใบอนุญาตไปมาก เพราะมีเครื่องจักรสำหรับการหลอม จึงพบซากอิเล็กทรอนิกส์ไม่ปรากฏที่มาซุกซ่อนอยู่ในโรงงานเป็นจำนวนมาก และยังกลายเป็นแหล่งที่รับกากแคดเมียมต่อมาจากโรงงานที่ จ.สมุทรสาครโดยไม่มีข้อมูลใดๆ อยู่ในระบบเลยอีกด้วย”

“คำว่า หลอม ก็จะมีทั้งในส่วนที่ไม่นำมารีไซเคิลและมีกลุ่มที่รีไซเคิลได้ด้วย ดังนั้น หากกฎหมายใหม่อย่าง ร่าง พ.ร.บ.จัดการกากอุตสาหกรรม จะแยกกลุ่มโรงงานที่รับกำจัดและบำบัดของเสียออกมาจากโรงงานทั่วไป อาจจะต้องดูให้ครอบคลุมไปถึงกลุ่มโรงงานประเภทหลอมซึ่งสามารถประกอบกิจการรีไซเคิลได้รวมอยู่ด้วย เพื่อไม่ให้ถูกใช้เป็นช่องทางในการเลี่ยงกฎหมาย จนทำให้โรงงานกลุ่มนี้ไม่ไปอยู่ภายใต้กฎหมายใหม่”




ในระหว่างการนำเสนอ ร่าง พ.ร.บ.จัดการกากอุตสาหกรรม เป็นครั้งแรก ที่เวทีราชดำเนินเสวนา หัวข้อ “วิกฤตขยะพิษกับชีวิตประชาชน” ที่จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อ 22 มกราคม 2568 ยังมีความเห็นเพิ่มเติมจาก เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่ติดตามปัญหามลพิษอุตสาหกรรมมาโดยตลอด ซึ่งเสนอว่า แม้กระทรวงอุตสาหกรรมจะยกร่างกฎหมายจัดการกากอุตสาหกรรมขึ้นมาแล้ว แต่ก็ควรที่จะมีบทบาทร่วมในการผลักดันร่างกฎหมายอีกหนึ่งฉบับให้ผ่านการพิจารณาของสภาด้วย คือ ร่าง พ.ร.บ.การรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ หรือ “กฎหมาย PRTR” (Pollutant Release and Transfer Register) เพราะจะทำให้ประเทศมี “ฐานข้อมูลเปิด” การปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษทั้งจากของแข็ง ของเหลว และในอากาศ ที่ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงได้ ร่วมตรวจสอบ ร่วมเตือนภัย และแก้ปัญหาได้ก่อนที่ลุกลามบานปลาย ซึ่งในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วล้วนแต่มีกฎหมายในลักษณะเดียวกันนี้ทั้งสิ้น และนี่ยังเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญหากประเทศไทยจะเข้าเป็นสมาชิกของ OECD ด้วย แต่ที่ผ่านมา กรมโรงงานอุตสาหกรรม ยังไม่มีส่วนร่วมในการผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ มีเพียงแค่การรับปากว่าจะไปจัดทำระบบการเปิดเผยข้อมูลมลพิษของกรมโรงงานฯ เอง

ทนายชำนัญ เห็นด้วยกับข้อเสนอของผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศว่าประเทศไทยควรเร่งผ่านกฎหมาย PRTR ให้สำเร็จโดยเร็ว เพราะเป็นกฎหมายที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลมลพิษได้จริง ช่วยให้หน่วยงานรัฐมีข้อมูลในการแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น นำมาใช้แก้ปัญหา PM2.5 ได้ และยังจะลดปัญหาการคอร์รัปชันภายในหน่วยงานได้มาก ซึ่งหากกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานหลักที่ช่วยผลักดันกฎหมาย PRTR ก็จะทำให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่ร่างกฎหมายจะผ่านสภาฯ และยังจะแสดงให้เห็นถึงความจริงใจของกระทรวงอุตสาหกรรมในการแก้ปัญหากากอุตสาหกรรมด้วย

“เมื่อกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการแก้ปัญหาด้วยการจะออกกฎหมายเพื่อ “แยกกลุ่มโรงงานกำจัดหรือบำบัดของเสีย” ให้ออกมารับมาตรการที่เข้มข้นขึ้นแล้ว ก็ควรผลักดันร่างกฎหมาย PRTR ไปด้วยเลย เพราะมันจะช่วยให้กระทรวงอุตฯเอง สามารถมองเห็นข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายมลพิษทั้งระบบอย่างเป็นรูปธรรม แถมยังจะทำให้ประชาชนได้เห็นข้อมูลเดียวกัน กลายเป็นเครื่องในการช่วยตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใสได้ด้วย” ทนายชำนัญ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น