รายงานพิเศษ
... กากอุตสาหกรรมที่เป็นของเสียอันตรายหายไปจากระบบคือเป็นปริมาณหลักล้านตันต่อปี
... ประชาชนในหลายพื้นที่กลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากขบวนการลักลอบทิ้งของเสียอันตรายและขยายตัวออกไปเรื่อยๆ ทั้งที่ ระยอง ชลบุรี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ราชบุรี สมุทรสาคร เพชรบุรี อยุธยา อ่างทอง สระบุรี นครราชสีมา เพชรบูรณ์
... ผู้ได้รับผลกระทบในหลายพื้นที่ เช่น ราชบุรี ระยอง เพชรบูรณ์ ต่างพึ่งพากระบวนการยุติธรรมด้วยการฟ้องร้องคดีทางแพ่งเพื่อเรียกค่าชดเชยเยียวยาความสุญเสีย ทุกพื้นที่ชนะคดี แต่กลับไม่มีพื้นที่ไหนเลยที่ประชาชนได้รับเงินชดเชยจริง
... กลุ่มโรงงานทุนจีนเข้ามาเปิดกิจการในพื้นที่เหล่านี้เป็นจำนวนมากโดยทีทั้งที่มีใบอนุญาต ขยายพื้นที่เกินกว่าใบอนุญาต และไม่มีใบอนุญาต รวมทั้งไม่มีมาตรฐานในการจัดการกากของเสียจนทำให้เกิดพื้นที่ปนเปื้อนสารพิษเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสถานการณ์ความรุนแรงจากมลพิษอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นจริงในปะเทศไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีกลุ่มโรงงานที่เรียกว่า “โรงงานรับกำจัดหรือบำบัดของเสีย” ซึ่งรับของเสียอันตรายจากกลุ่มโรงงานผู้ผลิตมาในราคาถูก จึงไม่ได้นำของเสียไปกำจัด บำบัด หรือรีไซเคิลอย่างถูกต้อง แต่ใช้วิธีลดต้นทุนการกำจัดด้วยฝังกลบหรือลักลอบทิ้งไว้ในทั้งพื้นที่โรงงานและในสิ่งแวดล้อม
“ตั้งแต่เข้ามาทำงานที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ 4 เดือน หนึ่งในเป้าหมายหลัก คือ แก้ปัญหาเรื่องลักลอบทิ้งกากของเสียอันตรายครับ ... วันแรก ลงพื้นที่โรงงานวิน โพรเสส ทันที พอไปเห็นสถานการณ์ที่ย่ำแย่ เห็นกระบวนการที่ทำให้เกิดปัญหา จึงกลับมาร่างกฎหมายใหม่ ซึ่งเพิ่งร่างเสร็จไปเมื่อวานนี้ (21 ม.ค. 2568) เรียกว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)จัดการกากของเสียอันตราย”
อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ประธานคณะที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (เอกนัฏ พร้อมพันธุ์) เล่าถึงที่มาของการเร่งจัดทำร่างกฎหมายฉบับใหม่เพื่อแก้ปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ในเวทีราชดำเนินเสวนา หัวข้อ “วิกฤตขยะพิษกับชีวิตประชาชน” ที่จัดขึ้นโดยสมาคมนักข่าวนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พร้อมระบุว่า การมาร่วมเวทีนี้ ถือเป็นหนึ่งในกระบวนการรับฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญที่มาร่วมเสวนาด้วย ก่อนจะนำร่างกฎหมายไปเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์หน้า
::: แยก “โรงงานกำจัดหรือบำบัดของเสีย” ออกมาขึ้นตรงกับกฎหมายใหม่ที่เข้มกว่า :::
สาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.จัดการกากอุตสาหกรรม คือ จะแยกโรงงานออกเป็น 2 กลุ่ม
- โรงงานทั่วไป คือโรงงานที่ทำสายการผลิตและทำให้เกิดของเสียจากการผลิต หรือ Waste Generator จะยังคงขึ้นกับ พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม (กฎหมายเดิม)
- โรงงานกลุ่มรับกำจัดหรือบำบัดของเสีย หรือ Waste Processor คือ โรงงานรับกำจัดของเสียอันตราย (ลำดับที่ 101) โรงงานคัดแยกขยะและรับฝังกลบของเสียไม่อันตราย (105) โรงงานกลุ่มรีไซเคิล (106) รวมประมาณกว่า 2,500 แห่ง จะถูกโอนมาอยู่ภายใต้กฎฆมายใหม่ คือ ร่าง พ.ร.บ.จัดการกากอุตสาหกรรม
ดังนั้นกระบวนการต่างๆ ตามกฎหมายตั้งแต่ขั้นตอนการออกใบอนุญาต การติดตามตรวจสอบมาตรฐานของโรงงาน ไปจนถึงการลงโทษก็จะแตกต่างกันภายใต้กฎหมายคนละฉบับ เพราะถือว่า กลุ่มโรงงานรับกำจัดหรือบำบัดของเสีย มีความเสี่ยงสูงที่จะก่อให้เกิดการปนเปื้อนและสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนมากกว่า
“ในปัจจุบัน โรงงานทั้ง 2 กลุ่ม อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกันครับ คือ พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งถ้ากระทรวงอุตสาหกรรมใช้มาตรฐานเดิมในการออกใบอนุญาตหรือติดตามตรวจสอบโรงงาน ก็จะถูกมองว่า “เบาเกินไป” สำหรับโรงงานกลุ่มรับกำจัดบำบัดของเสีย ที่มีปัญหามาตลอด แต่ถ้าเราใช้มาตรฐานที่ไปเข้มงวดมาก ก็จะถูกสะท้อนจากโรงงานทั่วไปอีกว่า “ยุ่งยากเกินไป” และจะไปกระทบกับการตัดสินใจลงทุน ... ดังนั้น เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากโรงงานกลุ่มที่มีความเสี่ยงจะสร้างผลกระทบมาก เราจึงต้องแยกโรงงาน 2 กลุ่มนี้ออกจากกันไปอยู่ภายใต้กฎหมายคนละฉบับ คล้ายๆกับการแบ่งเป็น Good Boy กับ Bad Boy” อรรถวิชช์ อธิบายเพิ่มเติม
ส่วนเนื้อหาสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.จัดการกากอุตสาหกรรม ประธานคณะที่ปรึกษาของ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กฎหมายใหม่จะวางขั้นตอนการกำจัดกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ
ส่วนที่ 1 กำจัดตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตจากโรงงานต้นทาง ซึ่งในนิคมอุตสาหกรรมแต่ละแห่ง มีโรงงานรับกำจัดกากอุตสาหกรรมอยู่แล้วและมีมาตรฐานดีกว่าโรงงานภายนอกเพราะถูกกำกับดูแลโดยการนิคมอุตสาหกรรม แต่ที่ผ่านมาไม่ถูกใช้บริการมากนัก เนื่องจากโรงงานรับกำจัดภายนอกเสนอราคาค่าดำเนินการที่ถูกกว่ามาก จนนำไปสู่การลักลอบทิ้ง
ส่วนที่ 2 กำจัดการอุตสาหกรรมที่ออกมาจากครัวเรือน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆที่ไม่ใช้แล้ว รวมไปถึงซากรถยนต์ โดยจะไม่นับ “ค่าทิ้งของ” ไปรวมไว้ในค่าผลิตภัณฑ์ตั้งแต่แรกเพื่อไม่ให้เกิดภาระกับประชาชน แต่จะถือเป็นหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมที่เป็นผู้ออกใบอนุญาต 101 105 106 ให้กับโรงงานรับกำจัดหรือบำบัดของเสีย เมื่อมี พ.ร.บ.จัดการกากอุตสาหกรรมแล้ว ก็จะถือว่า ของที่ออกจากครัวเรือนเป็นกากอุตสาหกรรม
::: เพิ่มกระบวนการตรวจสอบโรงงานกำจัดกาก :::
ในร่าง พ.ร.บ.กากอุตสาหกรรม ยังระบุถึงกระบวนการอื่นๆ อีกด้วย เช่น
- ห้ามนำเข้ากากอุตสาหกรรม เว้นแต่เป็นวัตถุดิบ และหากฝ่าฝืนจะเพิ่มบทลงโทษจากจำคุก 5 ปี เป็นจำคุก 10 ปี พร้อมเพิ่มค่าปรับจาก 5 แสน เป็น 1 ล้านบาทกรณีเป็นของเสียไม่อันตราย และปรับ 2 ล้านบาท กรณีเป็นของเสียอันตราย
- โรงงานที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.จัดการกากอุตสากหกรรม จะต้องมาต่อใบอนุญาตทุกๆ 1 ปี ซึ่งต่างจากใน พ.ร.บ.โรงงานฯเดิม ที่ใบอนุญาตไม่มีวันหมดอายุ เพื่อเพิ่มช่องทางให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปตรวจสอบโรงงานได้ว่าปฏิบัติอย่างถูกต้องหรือไม่ จากเดิมที่เข้าไปตรวจสอบไปยาก
- เพิ่มอำนาจให้กระทรวงอุตสาหกรรม สามารถเข้าไปตรวจสอบโรงงานกลุ่มนี้ที่อยู่ในพื้นที่เขตปลอดอากร (Free Zone) ได้ เพราะถือเป็นกลุ่มหนึ่งที่มีปัญหา แต่กระทรวงอุตสาหกรรมไม่มีอำนาจตามกฎหมายเดิม
- การกำหนดคำนิยาม “โรงงานรับกำจัดหรือบำบัดของเสีย” จะไม่ใช่เฉพาะโรงงานลำดับที่ 101 105 106 แต่จะดูจากลักษณะการประกอบกิจการ จึงนับรวมไปถึงกิจการขนาดเล็กอื่นๆด้วย เช่น กลุ่มธุรกิจแยกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ต้องเข้ามาอยู่ใต้กฎหมายฉบับนี้ทั้งหมด ต่างจาก พ.ร.บ.โรงงาน ที่ถือว่ากิจการที่มีเครื่องจักรต่ำกว่า 50 แรงม้าและมีคนงานน้อยกว่า 50 คน ไม่นับเป็นโรงงาน
::: ตั้งกองทุนอุตสาหกรรมยั่งยืน ... นำเงินมาเยียวยาผลกระทบ :::
ส่วนปัญหาเดิมที่เกิดขึ้นกับผู้ได้รับกระทบจากการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม คือ ประชาชนไม่ได้รับเงินค่าชดเชยเยียวยา แม้จะฟ้องร้องจนชนะคดีความในกระบวนการยุติธรรม รวมไปถึงการที่ไม่สามารถนำกากอุตสาหกรรมที่ถูกลักลอบทิ้งออกไปกำจัดอย่างถูกต้องได้ จึงไม่สามารถบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ เพราะโรงงานมักจะแจ้งล้มละลายหรือถ่ายเทเงินออกไปจนหมดบัญชีแล้ว อรรถวิชช์ กล่าวว่า ในร่าง พ.ร.บ.จัดการกากอุตสาหกรรม จะกำหนดให้มี “กองทุนอุตสาหกรรมยั่งยืน” ขึ้น เพื่อนำเงินมาจัดการลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนก่อน โดยจะแปลงมาจาก “กองทุน SME ประชารัฐ” ที่มีอยู่แล้ว ซึ่งมีเงินตั้งต้นอยู่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท และจะบังคับให้โรงงานกลุ่มนี้ต้องวางเงินประกันภัยความเสี่ยงจากการปนเปื้อนมลพิษเพื่อนำมาใส่เพิ่มในกองทุน
“เราต้องยอมรับว่าที่ผ่านมารัฐไม่มีเงินไปเยียวยาผลกระทบให้กับประชาชนที่เดือดร้อนจากพื้นที่ปนเปื้อนกากอุตสาหกรรม เช่น หากจะไปใช้งบการจัดการภัยพิบัติของจังหวัด ก็มีแค่จังหวัดละ 10 ล้านบาทเท่านั้น แต่เราไปดูสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากไฟไหม้โรงงาน วิน โพรเสส ที่ระยอง ก็จะพบว่า แค่ใช้เงินมาทำคันดินเพื่อไม่ให้น้ำเสียในโรงงานล้นออกมาในช่วงหน้าฝน ก็ใช้ไป 9 ล้านบาทแล้ว โดยไม่ยังไม่ได้ทำอะไรกับกากของเสียอันตรายที่มีอยู่เต็มโรงงานเลย”
“ดังนั้น ในกฎหมายใหม่ เราจึงจะกำหนดให้มี กองทุนอุตสาหกรรมยั่งยืน เพื่อเป็นเงินสำรองสำหรับการนำมาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบรวมทั้งการขนย้ายของเสียอันตรายที่ปนเปื้อนออกไปกำจัดอย่างถูกต้อง ซึ่งเราจะไปนำ “กองทุน SME ประชารัฐ” ที่มีอยู่แล้วและมีเงินอยู่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาทมาใช้ในส่วนนี้ รวมทั้งจะกำหนดให้โรงงานกลุ่มรับกำจัดและบำบัดของเสียที่จะต้องต่อใบอนุญาตทุกปีตามกฎหมายใหม่ จะต้องวางเงินประกันภัยไว้ด้วย และจะนำทั้งเงินประกันและเงินค่าปรับจากโรงงานที่กระทำความผิดมาใส่ไว้เป็นเงินกองกลางในกองทุน เพื่อให้สามารถนำไปใช้จัดการผลกระทบได้ก่อนในระหว่างการบังคับคดีกับโรงงาน”
“หลังจากมารับฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในเวทีวันนี้แล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมจะนำร่าง พ.ร.บ.จัดการกากอุตสาหกรรม ไปเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์หน้า คาดว่าจะประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ทันภายในปลายปี 2568 นี้ครับ” อรรถวิชช์ อธิบายเพิ่มเติม
::: เยียวยาระยะสั้น “วิน โพรเสส” ของบกลางไปแล้ว รอ ครม.อนุมัติ :::
แต่ในระหว่างที่ยังคงต้องจับตามองว่า ร่าง พ.ร.บ.จัดการกากอุตสาหกรรม จะผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาและประกาศเป็นกฎหมายได้หรือไม่ ยังคงมีคำถามว่าจะทำอย่างไรกับกากอุตสาหกรรมที่ปนเปื้อนและส่งผลกระทบรุนแรงต่อประชาชนอยู่ทุกวันในหลายพื้นที่ รวมทั้งที่ โรงงานวิน โพรเสส บ้านหนองพะวา ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ซึ่งสร้างผลกระทบมายาวนานกว่า 13 ปี และรุนแรงขึ้นไปอีกจากเหตุไฟไหม้โรงงานที่เต็มไปด้วยถังสารเคมีหลายหมื่นถังเมื่อ 17 เม.ย. 2567
ประธานคณะที่ปรึกษาของ รมว.อุตสาหกรรม ยืนยันว่า นอกจากการใช้เงิน 4.9 ล้านบาท เพื่อนำอลูมิเนียมดอสจำนวนมากไปกำจัดที่โรงงานปูนทีพีไอ (TPI) ซึ่งได้ขนย้ายไปเมื่อช่วงเดือน ธ.ค. 2567 แล้ว ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ส่งเรื่องของบกลางไปที่คณะรัฐมนตรีมาซักระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งมั่นใจว่า คณะรัฐมนตรีจะอนุมัติงบประมาณก่อนนี้ในอีกไม่นาน